อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

นมาซอีดที่มุศ็อลลาดีหรือที่มัสยิดดี ? (ตอนที่ 2)






โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

บรรดานักวิชาการต่างเห็นพ้องกันว่า หะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์จำนวนมากที่รายงานมาเกี่ยวกับการนมาซอีดในมุศ็อลลาของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นหลักฐานที่แสดงว่า การนมาซอีดในมุศ็อลลา เป็นสิ่งที่ชอบหรือเป็นซุนนะฮ์ ...

ตัวอย่างต่อไปนี้ ผมจะนำเสนอเฉพาะคำแปลและที่มาของข้อมูลอ้างอิงเท่านั้น แต่จะไม่เขียนตัวบทภาษาอาหรับลงไปด้วย เพื่อความกระชับเนื้อที่ของเฟสไม่ให้ยืดยาวเกินไป ดังนี้ ...

(1). ท่านอิบนุซิยาด ได้รายงานจากท่านอิหม่ามมาลิก บินอนัสซึ่งกล่าวว่า ...
"ซุนนะฮ์ (ในการนมาซอีด)ก็คือ การออกไปยังทุ่งโล่ง ยกเว้นชาวมักกะฮ์ที่นมาซอีดกันในมัสยิด (คือมัสยิดหะรอม)" ...
(จากชัรฺหุ้ลบุคอรีย์ ของท่านอัล-อัยนีย์ เล่มที่ 2 หน้า 281) ..
ยังมีรายงานมาอีกว่า ...
"การนมาซอีดทั้งสองในมัสยิด ตามมัษฮับอิหม่ามมาลิก ถือเป็นบิดอะฮ์, .. ยกเว้นถ้าฉุกเฉิน (เช่นฝนตก) ก็ไม่ถือว่าเป็นบิดอะฮ์" ...
(จากหนังสืออัล-มัดค็อล ของท่านอิบนุลหาจญ์ เล่มที่ 2 หน้า 283) ...

(2) ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ กล่าวว่า ...
"มีรายงานถึงมายังเราว่า แท้จริงท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะออกไปนมาซอีดที่มุศ็อลลาแห่งนครมะดีนะฮ์ และเช่นเดียวกัน ประชาชนหลังจากท่าน .. ยกเว้นมีอุปสรรคเช่นฝนตกและอื่นๆ, และในทำนองเดียวกัน ประชาชนแห่งเมืองทั้งหลายทั่วไปยกเว้นชาวมักกะฮ์ (ก็จะออกไปนมาซอีดกันที่ทุ่งโล่งหรือมุศ็อลลาของพวกเขาทั้งนั้น) ... "
(จากหนังสืออัล-อุมม์ ของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ เล่มที่ 1 หน้า 207) ...

(3) ท่านอัล-บัฆวีย์ กล่าวว่า ...
"ซุนนะฮ์ (ในนมาซอีด) ก็คือให้อิหม่ามออกไปนมาซอีดทั้งสอง(ที่มุศ็อลลาหรือที่โล่ง) ยกเว้นมีอุปสรรค (เช่นฝนตก) ...."
(จากหนังสือ ชัรฺหุซซุนนะฮ์ ของท่านอัล-บัฆวีย์ เล่มที่ 2 หน้า 599) ...

(4). ท่านอิบนุกุดามะฮ์ กล่าวว่า ...
"ตามซุนนะฮ์ก็คือ ให้นมาซอีดในมุศ็อลลา ........... และไม่มีรายงานมาเลยว่า ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจะเคยนมาซอีดในมัสยิดยกเว้นเมื่อมีอุปสรรคเท่านั้น" ...
(จากหนังสือ อัล-มุฆนีย์ของท่านอิบนุกุดามะฮ์ เล่มที่ 2 หน้า 229 - 230)

(5). ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ กล่าวว่า ...
"นี่ (หมายถึงหะดีษที่สองจากบทความเรื่องนี้ตอนแรกของผม) คือหลักฐานของผู้ที่กล่าวว่า ชอบให้ออกไปนมาซอีดที่มุศ็อลลา และการนมาซอีดที่มุศ็อลลาก็อัฟฎ็อล (คือประเสริฐ) กว่าการกระทำมันในมัสยิด และตามทัศนะนี้แหละ คือการปฏิบัติของประชาชนในส่วนใหญ่ของเมืองต่างๆ ......"
(จากหนังสือ ชัรฺหุมุสลิม ของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ เล่มที่ 3 ส่วนที่ 6 หน้า 177) ...

(6). ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์กล่าวว่า ...
"หะดีษบทนี้ (บทที่หนึ่งจากข้อเขียนตอนแรกของผม) ถูกอ้างเป็นหลักฐานว่า ชอบที่จะให้ออกไปนมาซอีดยังทะเลทราย (หมายถึงที่โล่ง) และแน่นอน การกระทำอย่างนี้จะประเสริฐกว่าการกระทำมันในมัสยิด เนื่องจากท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะปฏิบัติอย่างนี้ "เป็นประจำ" ทั้งๆที่มัสยิดของท่านก็(เป็นสถานที่)ประเสริฐอยู่แล้ว (แต่ท่านไม่เคยนมาซอีดในมัสยิดอันประเสริฐของท่านเลย)" ...
(จากหนังสือฟัตหุ้ลบารีย์ เล่มที่ 2 หน้า 450) ..
ฯลฯ ..

เหตุผล (มิใช่หลักฐาน) ของผู้ที่ส่งเสริมให้นมาซอีดที่มัสยิด
(1). ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ กล่าวว่า ...
"ไม่เคยมีรายงานมายังเราเลยว่า จะมีชาวสลัฟคนใด(แห่งนครมักกะฮ์)จะนมาซอีดนอกจากในมัสยิดของพวกเขา (คือมัสยิดหะรอม) เท่านั้น ฉันเข้าใจว่า - วัลลอฮุ อะอฺลัม - ที่เป็นดังนี้ก็เพราะ - (เหตุผลที่หนึ่ง) - มัสยิดหะรอมนั้น เป็นสถานที่ที่ประเสริฐที่สุดในดุนยานี้ พวกเขาจึงไม่ชอบที่จะทำนมาซใดๆยกเว้นในสถานที่แห่งนี้เท่าที่พวกเขาสามารถ ที่ฉัน(อิหม่ามชาฟิอีย์)กล่าวอย่างนี้มิใช่เพราะอื่นใดนอกจากเพราะ(ข้อเท็จจริง) มันเป็นอยู่อย่างนี้ .. และ - (เหตุผลที่สองก็คือ) - พวกเขา(ชาวมักกะฮ์) ก็ไม่มีที่โล่งใดๆกว้างขวางมากมายระหว่างตัวอาคารในนครมักกะฮ์ (นอกจากที่มัสยิดหะรอมแห่งเดียวเท่านั้น) ฉันจึงไม่เคยรับรู้ว่าพวกเขาจะทำนมาซอีดและนมาซขอฝนเลย นอกจากในมัสยิดหะรอมเท่านั้น " ....
(จากหนังสือ "อัล-อุมม์" เล่มที่ 1 หน้า 207) ....
ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์กล่าวต่อไปอีกว่า ...
"สมมุติถ้ามีการสร้างเมืองใด แล้วมัสยิดของชาวเมืองนั้น จุ (คือรองรับ) พวกเขาในวันอีดต่างๆ(ได้ทั้งหมด) ฉันก็เห็นว่า พวกเขาไม่(จำเป็น)ต้องออกไปจากมัสยิดนั้น(เพื่อไปนมาซอีดยังลานโล่ง) .. แต่หากมัน (มัสยิดของชาวเมืองนั้น) ไม่กว้างพอที่จะจุพวกเขา (ทั้งหมด) ฉันก็รังเกียจที่จะมีการทำนมาซ(อีด) กันในมัสยิดนั้น ......."
(จากหนังสือ "อัล-อุมม์" เล่มและหน้าเดียวกัน)

(2). ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ กล่าวว่า ...
"ทัศนะที่สอง ซึ่งเป็นทัศนะที่ถูกต้องที่สุดสำหรับพวกเขา (สานุศิษย์ของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์) ก็คือ (นมาซอีดใน)มัสยิดประเสริฐกว่า (นมาซอีดในที่โล่ง) ยกเว้นถ้ามัสยิดคับแคบ .. พวกเขากล่าวว่า สาเหตุที่ชาวมักกะฮ์นมาซอีดกันในมัสยิดหะรอม มิใช่อื่นใดนอกจากเพราะมันกว้าง .. และสาเหตุที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ออกไป(นมาซอีด)ที่มุศ็อลลา ก็มิใช่อื่นใดนอกจากเพราะมัสยิดของท่านคับแคบ ดังนั้น สิ่งนี้ย่อมแสดงว่า (การนมาซอีดใน)มัสยิด ย่อมประเสริฐกว่า(นมาซในที่โล่ง) ถ้ามัน(มัสยิด) กว้างขวางพอ" ...
(จากหนัง "ชัรฺหุมุสลิม" ของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ เล่มที่ 3 ส่วนที่ 6 หน้า 177)

สรุปแล้ว สาเหตุที่ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์อนุญาตให้นมาซอีดในมัสยิดได้ และท่านอิหม่ามนะวะวีย์มองว่า นมาซอีดในมัสยิด ดีกว่านมาซอีดในมุศ็อลลาหรือทุ่งโล่ง จึงขึ้นอยู่เหตุผล 2 ประการคือ ..

1. เพราะมัสยิด(หะรอม) เป็นสถานที่ที่ประเสริฐที่สุดในโลกนี้ ชาวมักกะฮ์จึงเลือกนมาซอีดกันในมัสยิดหะรอมเท่านั้น ...

2. เพราะความแคบของตัวมัสยิดท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ...

ข้อโต้แย้ง
1. ถ้าเหตุผลที่ชาวมักกะฮ์ เลือกนมาซอีดที่มัสยิดหะรอม เป็นเพราะมัสยิดหะรอมเป็นสถานที่ที่ประเสริฐที่สุดในโลก ก็เป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นเฉพาะชาวมักกะฮ์เท่านั้น ...
อนึ่ง มัสยิดแห่งอื่นทั้งโลก ย่อมไม่มีมัสยิดใดประเสริฐเท่ามัสยิดหะรอมอีก จึงนำมัสยิดเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกับมัสยิดหะรอมเพื่อจะทำนมาซอีดแทนมุศ็อลลาหรือลานโล่งไม่ได้ ...

2. เหตุผลเรื่องความกว้างหรือความแคบของมัสยิดคือตัวกำหนดสถานที่นมาซอีด .. ก็มีนักวิชาการหลายท่านกล่าวโต้แย้งไว้ดังนี้ ...

2/1. ท่านอัช-เชากานีย์ กล่าวว่า ...
"เหตุผลที่ว่า .. ความกว้างหรือความแคบของมัสยิดคือตัวกำหนดสถานที่นมาซอีด .. ถือเป็นมโนล้วนๆ ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะอ้างเป็นข้อผ่อนผันจากการปฏิบัติตามแบบอย่างท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมในการออกไปนมาซอีดยังทุ่งโล่งได้หลังจากที่ยอมรับความจริงกันแล้วว่า ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ปฏิบัติสิ่งนี้เป็นประจำ .. อนึ่งการอ้างหลักฐานเรื่องความกว้าง-ความแคบของมัสยิดมาเป็นเหตุผลการนมาซอีดในมัสยิด(หะรอมของชาวมักกะฮ์) ก็สามารถตอบได้ว่า .. อาจจะเป็นไปได้ว่า ที่(ชาวมักกะฮ์)ละทิ้งการออกไป(นมาซอีด)ยังทุ่งโล่ง ก็เพราะ "ความคับแคบ" ของที่ว่างในนครมักกะฮ์ (คือในนครมักกะฮ์ไม่มีทุ่งโล่งใดกว้างขวางพอสำหรับการนมาซอีดพวกเขา) มิใช่เพราะ "ความกว้าง" ของมัสยิด(หะรอม)ของพวกเขา" ...
(จากหนังสือ "นัยลุ้ลเอาฏอรฺ" ของท่านอัช-เชากานีย์ เล่มที่ 3 หน้า 248)

2/2. ท่านอิบนุนุกุดามะฮ์ กล่าวว่า ...
"(หลักฐานเรื่องซุนนะฮ์ให้นมาซอีดในมุศ็อลลา มิใช่ในมัสยิด ก็เพราะ) ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ออกไปนมาซอีดที่มุศ็อลลาโดยละทิ้งมัสยิดของท่าน และเช่นเดียวกัน บรรดาคอลีฟะฮ์ผู้ทรงคุณธรรมหลังจากท่าน (ก็ปฏิบัติอย่างนี้) .. ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะไม่ละทิ้งสิ่งที่ดีเลิศที่สุดที่อยู่ใกล้ตัว(หมายถึง "ถ้า" นมาซอีดในมัสยิดเป็นสิ่งดีเลิศ) ไปกระทำสิ่งที่ด้อยกว่าที่อยู่ไกลตัว (หมายถึงการออกไปนมาซอีดที่มุศ็อลลา) .. และท่านนบีย์ก็ไม่เคยกำหนดบทบัญญัติให้อุมมะฮ์ของท่านละทิ้งสิ่งที่ดีๆเลย .. และเนื่องจากพวกเราถูกสั่งให้ปฏิบัติตามท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และให้เลียนแบบฉบับของท่าน จึงเป็นไปไม่ได้ที่พวกเราจะถูกสั่งให้กระทำในสิ่งที่บกพร่อง (คือการนมาซอีดในมุศ็อลลา) ..........."

2/3. จากคำพูดของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ที่ว่า ...
"สมมุติถ้ามีการสร้างเมืองใด แล้วมัสยิดของชาวเมืองนั้น จุพวกเขาในวันอีดต่างๆ(ได้ทั้งหมด) ฉันก็เห็นว่า พวกเขาไม่(จำเป็น)ต้องออกไปจากมัสยิดนั้น(เพื่อไปนมาซอีดยังลานโล่ง) แต่หากมัน (มัสยิดของชาวเมืองนั้น) ไม่กว้างพอที่จะจุพวกเขา (ทั้งหมด) ฉันก็รังเกียจที่จะทำการนมาซ(อีด) กันในมัสยิดนั้น ......."
ท่านอะห์มัด มุหัมมัดชากิรฺ นักวิชาการหะดีษชาวอียิปต์ท่านหนึ่งจึงกล่าวว่า ...
"แท้จริง ท่าน(อิหม่ามชาฟิอีย์) ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า ท่านรังเกียจการนมาซอีดทั้งสองในมัสยิด หากมันไม่สามารถรองรับชาวเมือง(ทั้งหมด)ได้, บรรดาหะดีษที่ถูกต้องทั้งหมดเหล่านี้ และอื่นจากหะดีษเหล่านี้ และการกระทำอย่างต่อเนื่องมาในยุคแรก, ต่อมา ก็เป็นคำพูดของนักวิชาการต่างๆ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้แสดงว่า การนมาซอีดทั้งสองในปัจจุบันในมัสยิดต่างๆ เป็นบิดอะฮ์ !!! .. แม้กระทั่ง ตามคำพูดของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์เอง (ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้) เพราะแน่นอน ย่อมไม่มีมัสยิดใดในเมืองของพวกเรา ที่จะรองรับชาวเมืองทั้งหมดได้อยู่แล้ว " ...
(จากหนังสือ "อัศ - เศาะเหี๊ยะฮ์ อัล - ญาเมี๊ยะอฺ" ของท่านอะห์มัด มุหัมมัดชากิร เล่มที่ 2 หน้า 423) ...

2/4. ข้อนี้เป็นทัศนะส่วนตัวของผม คือ ..
ดังเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า บทบัญญัติเรื่องนมาซอีด มีขึ้นในปีที่ 2 แห่งฮิจญเราะฮ์ศักราช .. และอีดแรกที่ถูกบัญญัติก็คือ อีดิ้ลฟิฏรี่ ...
(จากหนังสือ "อิอานะฮ์ อัฏ-ฏอลิบีน" เล่มที่ 1 หน้า 261) ...
แสดงว่า ตั้งแต่เริ่มต้นมีบทบัญญัติเรื่องนี้จนสิ้นอายุขัยของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่านได้นมาซอีดทั้งหมด 9 ปีรวม 17 ครั้ง (ยกเว้นครั้งสุดท้ายที่ท่านไม่ได้นมาซอีด เพราะเดินทางไปทำหัจญ์) ...
และจากการสมมุติฐานตามความเข้าใจและการปฏิบัติในสมัยปัจจุบันที่ว่า นมาซอีดในมัสยิด - ไม่ว่ามัสยิดใด - ย่อมดีกว่าการนมาซอีดในมุศ็อลลาหรือลานโล่ง ...
ผมก็อยากจะขอถามว่า ...
มันจะกินกับปัญญาได้อย่างไรที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นำเศาะหาบะฮ์ของท่านกระทำสิ่งที่ "บกพร่องกว่า" อยู่ตั้ง 9 ปี ! .. ทั้งๆที่ท่านมีโอกาสจะแก้ไขความบกพร่องนี้ เพื่อไปกระทำสิ่งที่อัฟฎ็อลกว่าหรือประเสริฐกว่า ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งจาก 2 วิธีคือ ...

1. ขยายมัสยิดของท่านให้กว้างออกไปอีกเพื่อรองรับคนมานมาซอีดให้พอ หากมันคับแคบจริงอย่างที่อ้าง ...
เรื่องนี้ไม่เป็นเรื่องยากเลยสำหรับท่านหากจะกระทำ เพราะมัสยิดของท่าน, ในสมัยของท่าน ไม่มีการก่อสร้างที่ยุ่งยากซับซ้อนอะไรจนถึงกับเกิดความลำบากที่จะขยายออกไป ...
2. หากมัสยิดของท่านคับแคบ ไม่สามารถรองรับผู้มานมาซอีดทั้งหมดได้จริง ท่านก็สามารถกระจายพวกเขาให้ทำการนมาซอีดได้ในมัสยิดต่างๆซึ่งมีอยู่มากมายในนครมะดีนะฮ์ได้ .. ซึ่งมัสยิดต่างๆเหล่านั้น เช่นมัสยิดกุบาอ์ก็ดี, มัสยิดกิบละตัยน์ ก็ดี น่าจะมีความประเสริฐและสมควรทำนมาซอีดมากกว่ามัสยิดธรรมดาอื่นๆทั้งโลกด้วยซ้ำไป ...
การที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ปล่อยวาง ไม่เคยกระทำทั้ง 2 ประการนี้มาตลอดชีวิตของท่านทั้งๆที่ท่านสามารถทำได้ ย่อมแสดงว่า สถานที่นมาซอีดที่ดีที่สุดสำหรับมุสลิม ก็คือมุศ็อลลาหรือที่ลานโล่ง ไม่ใช่ในมัสยิดหลังใดทั้งสิ้น ...
และสุดท้ายนี้ ผมขอนำคำถามเดิมที่ผมกล่าวถามตั้งแต่ตอนต้น มาถามซ้ำอีกครั้ง คือ ...
การกระทำสิ่งที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม "ไม่เคยกระทำ" เลยตลอดชีวิต (คือนมาซอีดในมัสยิด ) จะดีกว่ากระทำเลียนแบบในสิ่งที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม "กระทำเป็นประจำ" (คือ นมาซอีดในมุศ็อลลา) ได้อย่างไร ??? ...

ใครก็ได้ กรุณาช่วยตอบคำถามข้อนี้ของผมด้วย ...
ขอบคุณครับ ..

......................

ถาม
อีหม่ามซาฟีอี ตั้งคำถามว่าทำไมนบีถึงไปละหมาดอีดที่มุสอลลา เพราะวันอีดนั้นบรรดาซอฮาบะทั้งหลายทั้งที่อยู่ต่างแดนและอยู่ตามหัวเมืองต่างๆจะกลับมาละหมาดกับนบี นบีถึงได้ออกไปที่มุศอลลา ไม่มีเหตุผลใดที่นบีละหมาดที่นั้น
อันนี้เป็นข้ออ้างตามที่นักวิชาการที่ละหมาดมัสยิดอ้างใว้ครับ. ช่วยอธิบายเพิ่มเติมด้วย

ตอบ โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย
ข้ออ้างนี้ ผมไม่เคยเจอว่าท่านอิหม่ามชาฟิอีย์เคยอ้างไว้ในหนังสืออะไรของท่าน หากผู้ใดที่อ้างข้อมูลนี้มาและไม่สามารถนำคำกล่าวของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ดังกล่าวนี้มาเสนอได้ ก็แสดงว่าเป็นการอ้างเอาเองโดยพลการของผู้ที่ชอบละหมาดอีดที่มัสยิดอันเป็นการป้ายเท็จให้ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ ส่วนเหตุผลจริงๆของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ที่อนุญาตให้นมาซอีดที่มัสยิดดังที่ท่านระบุไว้ในหนังสือ "อัล-อุมม์" ของท่าน ผมจะนำเสนอในตอนต่อไปครับ อินชาอัลลอฮ์ ...





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น