อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ศีลอด 6 วันเดือนเชาวาลควบชดใช้รอมะฎอน



โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ตอบคำถามคุณ Mareeyah Si ......

ถาม ...
อัสลามูอาลัยกุม อาจารย์ ค่ะ พอมีเวลา วิเคราะห์ พร้อมยกหลักฐาน กรณีที่มีการถือศิลอด วันหนึ่ง มีการเนียตถือศิลอด 2 ศิลอดพร้อมกัน คือศิลอดหกวันเดือนเชาวาล และศิลอดชดใช้ในเดือนรอมาฎอนพร้อมกัน ว่ามีน้ำหนักเพียงใด นักวิชาการที่ให้น้ำหนักในเรื่องนี้ว่าไงบ้าง เนื่องจากมุสลิมส่วนใหญ่เขาเลือกที่จะถือศิลอดรวมกันเช่นนี้ ดิฉันอยากทราบความชัดเจนในเรื่องนี้มากค่ะ

ตอบ ...
หลักฐานเรื่องการถือศีลอด 6 วันเดือนเชาวาล ก็คือหะดีษซึ่งรายงานโดยท่านอบูอัยยูบ ร.ฎ. .. ซึ่งรายงานจากท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมที่กล่าวว่า ...
مَنْ صَامَ رَمَضَانَ، ثُمَّ أَتْبَعَهُ سِتًّا مِنْ شَوَّالٍ كَانَ كَصِيَامِ الدَّهْرِ
"ผู้ใดถือศีลอดรอมะฏอนแล้ว หลังจากนั้น เขาติดตาม (คือถือศีลอดต่อจาก)มันอีก 6 วัน ก็ประหนึ่งเขาถือศีลอดทั้งปี" ...
(บันทึกโดยท่านมุสลิม, ท่านอบูดาวูด, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์, ท่านอิบนุมาญะฮ์ และท่านอื่นๆ) ...
จากข้อความของหะดีษข้างต้นนี้ ทำให้คนจำนวนมากเข้าใจผิดว่า การถือศีลอด 6 วันเดือนเชาวาล มีความยิ่งใหญ่และมีผลบุญมากกว่าศีลอดเดือนรอมะฎอน ถึงกับเรียกศีลอด 6 วันเดือนเชาวาลนี้ว่า "ถือบวชใหญ่" .. ขณะที่ศีลอดเดือนรอมะฎอนกลายเป็น "บวชเล็ก" ไป ..
ทั้งนี้เพราะพวกเขามองว่า ท่านรอซู้ลฯ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มิได้กล่าวถึง "ปริมาณผลบุญ" ของการถือศีลอดเดือนรอมะฎอนว่าจะได้รับกี่มากน้อย ..
.
แต่ท่านกล่าวว่า พอถือศีลอดเดือนรอมะฎอนแล้ว และถือศีลอดเดือนเชาวาลเพิ่มแค่ 6 วัน ผลบุญที่ได้รับ ก็จะเท่ากับถือศีลอดตลอดทั้งปี .
..
ผลบุญศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาลในมุมมองของบางคน จึงมากมายมหาศาลกว่าผลบุญศีลอดรอมะฎอนด้วยประการฉะนี้ ..
.
ผมสันนิษฐานว่า จากความเข้าใจดังกล่าวนี้ จึงทำให้บางท้องที่ใน 3 จังหวัดภาคใต้ มีการเฉลิมฉลองวัน "ออกอีดใหญ่" (???) - ซึ่งเรียกเป็นภาษามลายูพื้นบ้านว่า รายอแน - หลังจากศีลอด 6 วันเดือนเชาวาลแล้ว ยิ่งใหญ่กว่าการออกอีดเดือนรอมะฎอนเสียอีก ...
ความเข้าใจดังกล่าวนี้ ผิดต่อเจตนารมณ์ของการถือศีลอด 6 วันเดือนเชาวาลอย่างชัดแจ้ง
เพราะหะดีษบทเดียวกันนี้จากการรายงานของท่านเษาบาน ร.ฎ. มีข้อความเพิ่มเติมอีกว่า
مَنْ جَاءَ بِالْحَسَنَةِ فَلَهُ عَشْرُ أَمْثَالِهَا

"ผู้ใดนำมาหนึ่งความดี สำหรับเขาก็คือ สิบเท่าของความดีนั้น"
...
(บันทึกโดย ท่านอิบนุมาญะฮ์, ท่านอัด-ดาริมีย์, ท่านอัล-บัยฮะกีย์, ท่านอะห์มัด และท่านอื่นๆ) ..
พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวต่อไปว่า ผู้ใดทำความดีอย่างหนึ่ง เขาก็จะได้รับผลบุญเป็น "10 เท่า" ของความดีนั้น หรือเอาสิบคูณนั่นเอง ...
ขอย้ำว่า ผู้อ่านทุกท่านโปรดจำจุดนี้ให้ดี เพราะสาระสำคัญของหะดีษข้างต้น ผูกพันกับตัวเลข "สิบเท่า" ตัวนี้ ...
และข้อความข้างต้นนี้ นอกจากจะเป็นข้อความของหะดีษแล้ว ก็ยังเป็นอายะฮ์ที่ 160 ของซูเราะฮ์อัล-อันอาม  "مَنْ جَاءَ بِالْحَسَنَةِ فَلَهُ عَشْرُ أَمْثَالِهَا" (ผู้ใดที่นำความดีมา เขาก็จะได้รับสิบเท่าของความดีนั้น)   ที่มุสลิมผู้มีศรัทธาคนใดจะบิดเบือนความหมายเป็นอย่างอื่นตามอำเภอใจไม่ได้
ดังนั้น จากข้อความที่มีเพิ่มเติมมาในตอนท้ายของหะดีษข้างต้นจึงให้ความกระจ่างว่า คำกล่าวของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า .. "ผู้ใดถือศีลอดรอมะฏอนแล้ว หลังจากนั้น เขาติดตาม (คือถือศีลอดต่อจาก)มันอีก 6 วัน ก็ประหนึ่งเขาถือศีลอดทั้งปี" ... จึงเป็นเรื่องของคณิตศาสตร์พื้นฐานดีๆนี่เอง ...
ข้อเท็จจริงของความหมายของหะดีษบทนี้ จึงเป็นดังนี้ ...
ถือศีลอดเดือนรอมะฎอน 1 เดือน จะได้รับผลบุญ 10 เท่า หรือเท่ากับถือศีลอด 10 เดือน ...
ถือศีลอดเดือนเชาวาลอีก 6 วัน จะได้รับผลบุญ 10 เท่า หรือเท่ากับถือศีลอด 60 วัน .. หรือ 2 เดือน
เพราะฉะนั้น รวม "ผลบุญ" ของศีลอดรอมะฎอน 1 เดือน กับศีลอดเชาวาลอีก 6 วัน จึงมีค่าเท่ากับ 10 เดือนบวก 2 เดือน .. หรือเท่ากับ 12 เดือนหรือหนึ่งปีดังที่มีกล่าวไว้ในหะดีษ
นี่คือเป้าหมายของหะดีษในการกำหนดให้ถือศีลอดเดือนเชาวาล 6 วัน ..
.
ดังนั้น คำกล่าวของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า "ผู้ใดถือศีลอดเดือนรอมะฎอน ....." จึงหมายถึง "ถือศีลอดเดือนรอมะฎอนครบสมบูรณ์" ทั้งเดือน รวมกับการถือศีลอด 6 วันเดือนเชาวาลจึงจะมีผลเท่ากับถือศีลอดทั้งปีได้ ...
การ "ควบรวม" ระหว่างชดใช้ศีลอดรอมะฎอนที่ขาดกับศีลอดเดือนเชาวาล 6 วันเข้าด้วยกันตามนัยของหะดีษบทนี้จึงกระทำมิได้ เพราะเท่ากับเป็นการบิดเบือนความหมาย "สิบเท่า" ของหะดีษและอัล-กุรฺอานข้างต้นให้เปลี่ยนแปลงไปเป็น "ยี่สิบเท่า" ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามที่ใครๆก็ปฏิเสธไม่ได้ ...
ตัวอย่าง ...
สตรีผู้หนึ่ง ถือศีลอดเดือนรอมะฎอนเพียง 24 วัน นางก็จะได้รับผลบุญเท่ากับถือศีลอด 240 วัน หรือ 8 เดือน ..
.
อีก 6 วันที่ขาดไป หากนางเจตนาว่า จะชดใช้ศีลอดชดใช้เดือนรอมะฎอนควบรวมกับถือศีลอดสุนัต 6 วันเดือนเชาวาลด้วย...
การก็จะกลายเป็นว่า การถือศีลอด 6 วันในลักษณะ ทูอินวันตามการเนียตของนางนั้น นางจะต้องได้รับผลตอบแทนถึงวันละ "20 เท่า" เพื่อให้ได้รับผลบุญเท่ากับ 120 วันหรือ 4 เดือน แล้วนำไปรวมกับผลบุญรอมะฎอนอีก 8 เดือนที่นางถือไปแล้ว จึงจะได้รับผลบุญเท่ากับ 1 ปี ตามข้อคามในหะดีษบทข้างต้น ...
นี่คือการบิดเบือนความหมาย "สิบเท่า" ของหะดีษและอัล-กุรฺอานให้เป็น "ยี่สิบเท่า" ดังที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งไม่อนุญาตให้มุสลิมที่มีอีหม่านคนใดกระทำ ...
สรุปแล้ว หากผู้ใดประสงค์จะให้ได้รับผลบุญการถือศีลอดเท่ากับ 1 ปีดังคำกล่าวของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เขาก็ต้องถือศีลอดเดือนรอมะฎอน - หรือชดใช้ศีลอดเดือนรอมะฎอน - ให้ครบถ้วนเสียก่อน แล้วจึงจะถือศีลอด 6 วันเดือนเชาวาลทีหลัง ...
จะมาเนียต "ควบรวม" ทั้งชดใช้ศีลอดรอมะฎอนและศีลอดสุนัต 6 วันเดือนเชาวาลเข้าด้วยกันไม่ได้ ...
ผู้ที่กระทำดังนี้ หรือแนะนำให้ผู้อื่นกระทำดังนี้ ไม่กลัวข้อหา "บิดเบือนความหมายอัล-กุรฺอาน" และ "เอาเปรียบ" พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ชนิด "ได้คืบแล้วจะเอาศอก" บ้างหรือครับ ?? ...

วัลลอฮุ อะอฺลัม ...


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น