อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559

บรรทัดฐานระหว่างบิดอะฮ์กับมะศอลิห์ มุรฺสะละฮ์ (ตอนที่ 3)




โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย ...

หลังจากนำบทความเรื่องนี้ตอนที่ 2 ลงในเฟสเรียบร้อยแล้ว ก็บังเอิญไปอ่านเจอข้อเขียนของพี่น้องมุสลิมที่นิยมแนวอะชาอิเราะฮ์ท่านหนึ่งในเฟส ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องคำกล่าวของท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ. ที่ว่า...
نِعْمَتِ الْبِدْعَةُ هَذِهِ
.. ที่ผมเพิ่งอธิบายผ่านมา ...
ข้อเขียนในเฟสของพี่น้องมุสลิมแนวอะชาอิเราะฮ์ท่านนั้น มีดังนี้ ..
ท่านอิบนุ อะษีรฺได้กล่าวยืนยันไว้ว่า ..
والبدعة الحسنة فى الحقيقة سنة، وعلى هذاالتأويل يحمل الحديث .. كل محدثة بدعة .. على ما خالف اصول الشريعة، وما لم يخالف السنة

"และบิดอะฮ์หะสะนะฮ์ในความเป็นจริงแล้วคือซุนนะฮ์ และบนการอธิบายตามนัยนี้ ก็ถูกตีความหะดิษที่ว่า "ทุกๆสิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้นเป็นบิดอะฮ์" นั้น บนสิ่งที่ขัดกับหลักพื้นฐานของศาสนา และสิ่งที่ขัดกับซุนนะฮ์" ดูหนังสือ อันนิฮายะฮ์ เล่ม 1 หน้า 80 (ถ่ายทอดจากหนังสือ "อัลบะยาน" หน้า 206 ฟัตวาที่ 50
แล้วพี่น้องมุสลิมแนวอะชาอิเราะฮ์ท่านนั้นก็กล่าวตบท้ายว่า ...
"ช่วยหักล้างหลักฐานคำกล่าวของท่านอิบนุอะษีรฺตรงนี้ก่อนครับ .. อย่าเพิ่งหนีไปประเด็นอื่น " ...
จะเห็นได้ว่า ข้อเขียนข้างต้นนี้ เจ้าของเฟสอ้างแหล่งข้อมูลมาจากหนังสือ "อัลบะยาน" หน้า 206 ฟัตวาที่ 50 ...
ขอเรียนว่า ...
ผมไม่มีความประสงค์จะเข้าไปก้าวก่ายและร่วมวงเสวนากับข้อเขียนของพี่น้องอะชาอิเราะฮ์ท่านนั้น และผมก็ไม่ทราบว่าเจ้าของหนังสือ "อัลบะยาน" คือใคร? ...
แต่ผมพูดได้เต็มปากว่า ข้อมูลที่เจ้าของหนังสืออัลบะยานอ้างถึงท่านอิบนุ้ลอะษีรฺในหนังสือ "อัน-นิฮายะฮ์ ฟีเฆาะรีบิ้ลหะดีษ" ดังข้างต้นนั้น เป็นข้อมูลที่ "ถูกบิดเบือน" - บิดเบือนทั้งถ้อยคำและเจตนารมณ์ของท่านอิบนุ้ลอะษีรฺ - เพื่อลากเข้าสู่เป้าหมายตัวเองอย่างน่าเกลียดที่สุด ..
ก่อนอื่นก็อยากจะให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบข้อเขียนของท่านอิบนุ้ลอะษีรฺในหนังสือ "อัน-นิฮายะฮ์ ฟีเฆาะรีบิ้ลหะดีษ" เล่มที่ 1 (ที่อ้างมาเป็นหน้า 80 แต่ฉบับในมือของผมเป็นหน้าที่ 107) ก่อนหน้าข้อความที่เจ้าของหนังสือ "อัลบะยาน" อ้างมา - ซึ่งผมขอแปลเป็นภาษาไทยเพื่อประหยัดเวลา - ดังนี้ ...
(หมายเหตุ สิ่งที่อยู่ในวงเล็บ เป็นคำอธิบายเพิ่มเติมของผม) ...
"และหนึ่งจากประเภทนี้ (คือหนึ่งจากความหมายบิดอะฮ์ที่ท่านอิบนุ้ลอะษีรฺอธิบายไปแล้ว) ก็คือคำพูดท่านอุมัรฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮุ ที่ว่า نِعْمَتِ الْبِدْعَةُ هَذِهِ (บิดอะฮ์ที่ดี คือสิ่งนี้) .. ในเมื่อมัน (คือ การละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ในลักษณะญะมาอะฮ์) เป็นส่วนหนึ่งจากการทำสิ่งดีและจัดเข้าอยู่ในกรอบแห่งการยกย่อง ท่านอุมัรฺจึงเรียกมันว่าบิดอะฮ์และยกย่องมัน .. เนื่องจากท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มิได้นำแบบอย่างละหมาดนี้(ในลักษณะญะมาอะฮ์)แก่พวกเขา(อย่างสม่ำเสมอ) .. ท่านเพียงละหมาดมันบางคืนเท่านั้น หลังจากนั้น ท่านก็ละทิ้งมัน โดยมิได้ทำมันเป็นประจำ และประชาชน(หลังจากท่าน)ก็มิได้รวมตัวกระทำมัน และก็มิได้มีการกระทำกัน(อย่างนี้)ในสมัยท่านอบูบักรฺ ร.ฎ. .. ท่านอุมัรฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮุ เพียงแต่(รื้อฟื้นมันด้วยการ)รวมและสนับสนุนประชาชนให้ทำละหมาดนี้ .. ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงเรียกมันว่า บิดอะฮ์"
และ .. ต่อไปนี้ คือคำพูด - จริงๆ - ของท่านอิบนุ้ลอะษีรฺ ..
وَهِىَ عَلَى الْحَقِيْقَةِ سُنَّةٌ ! لِقَوْلِهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : عَلَيْكُمْ بِسُنَّتِىْ وَسُنَّةِ الْخُلَفَاءِ الرَّاشِدِيْنَ مِنْ بَعْدِىْ، .. وَقَوْلِهِ : إِقْتَدُوْا بِاللَّذَيْنِ مِنْ بَعْدِىْ، أَبِىْ بَكْرٍ وَعُمَرَ.. وَعَلَى هَذَاالتَّأْوِيْلِ يُحْمَلُ الْحَدِيْثُ اْلآخَرُ : كُلُّ مُحْدَثَةٍ بِدْعَةٌ .. إِنَّمَا يُرِيْدُ مَاخَالَفَ اُصُوْلَ الشَّرِيْعَةِ وَلَمْ يُوَافِقِ السُّنَّةَ .....

"และมัน (คือ ละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ในลักษณะญะมาอะฮ์) ที่จริงแล้วคือซุนนะฮ !(หมายถึงซุนนะฮ์ของคอลีฟะฮ์) .. ทั้งนี้ เนื่องจากคำกล่าวของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมที่ว่า .. "จำเป็นสำหรับพวกท่านจะต้องตามซุนนะฮ์ของฉัน และ "ซุนนะฮ์ของคอลีฟะฮ์" ผู้ปราดเปรื่องหลังจากฉัน" .. และคำกล่าวของท่านที่ว่า .. "พวกท่านจงปฏิบัติตาม 2 ท่านหลังจากฉัน คือ "อบูบักรฺ และอุมัรฺ" ... ซึ่ง(คำว่าบิดอะฮ์จาก)หะดีษอีกบทหนึ่งที่ว่า "ทุกๆสิ่งที่ถูกริเริ่มขึ้นมาใหม่ เป็นบิดอะฮ์" .. ก็ให้ถือตามความหมายจากตามคำอธิบายนี้ .. (นั่นคือ) ท่านศาสดามิได้ประสงค์อื่นใด(จากคำว่าบิดอะฮ์ในหะดีษบทนี้) นอกจาก (หมายถึง) .. "สิ่งที่ขัดแย้งกับพื้นฐานของบทบัญญัติ และไม่สอดคล้องกับซุนนะฮ์ ....."
จะเห็นได้ว่า "ข้อมูลเท็จ" ในหนังสือ "อัลบะยาน" ข้างต้น กับ "ข้อมูลจริง" ของท่านอิบนุ้ลอะษีรฺ มีความแตกต่างกันดังนี้ ...
(1). บิดเบือนถ้อยคำ .. ท่านอิบนุ้ลอะษีรฺ กล่าวว่า وَهِىَ عَلَى الْحَقِيْقَةِ سُنَّةٌ ! (โดยใช้สรรพนามว่า هِىَ ) ซึ่งมีความหมายว่า "ละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ในลักษณะญะมาอะฮ์นั้น - ตามความเป็นจริงแล้ว - คือซุนนะฮ์ ! "...
แต่เจ้าของหนังสืออัลบะยานมาแก้ใหม่เป็น وَالْبِدْعَةُ الْحَسَنَةُ فِى الْحَقِيْقَةِ سُنَّةٌ (และบิดอะฮ์หะสะนะฮ์ในความเป็นจริงแล้วคือซุนนะฮ์) ดังที่เห็น เพื่อหลอกลวงให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ท่านอิบนุ้ลอะษีรฺกล่าวว่า บิดอะฮ์หะสะนะฮ์นั้นคือซุนนะฮ์ . . ซึ่งทั้งสองประโยคนี้มีความหมายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ...
พฤติการณ์ข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นถึงเจตนาไม่บริสุทธิ์และไม่มีอมานะฮ์ในเรื่องวิชาการของเจ้าของหนังสืออัลบะยานนั้น ...
(2). ตัดทอนถ้อยคำและบิดเบือนเจตนารมณ์ .. ผู้เขียนหนังสืออัลบะยาน มีเจตนา "ตัด" หะดีษ 2 บทที่ท่านอิบนุ้ลอะษีรฺนำมาเป็นหลักฐานเรื่องให้ปฏิบัติตามซุนนะฮ์ของคอลีฟะฮ์ เพื่อยืนยันมุมมองของท่านว่า การรื้อฟื้นละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ในลักษณะญะมาอะฮ์ขึ้นมาใหม่ของท่านอุมัรฺ - ตามความเป็นจริงแล้ว - เป็น "ซุนนะฮ์ของคอลีฟะฮ์" .. มิใช่เป็น "บิดอะฮ์" ตามนัยคำกล่าวของท่านศาสดา แม้ท่านอุมัรฺจะใช้สำนวนกล่าวว่า เป็น "บิดอะฮ์ดี" ก็ตาม ..
แต่เจ้าของหนังสืออัลบะยานได้บิดเบือนเจตนารมณ์ข้อนี้ของท่านอิบนุ้ลอะษีรฺ ทั้งด้วยการตัดข้อความสำคัญออกและเปลี่ยนแปลงคำพูดบางคำ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจผิดว่า .. ท่านอิบนุ้ลอะษีรฺถือว่า ละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ในลักษณะญะมาอะฮ์ที่ท่านอุมัรฺรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่นั้น เป็นบิดอะฮ์หะสะนะฮ์หรือบิดอะฮ์ดีในศาสนา ....
พฤติการณ์อย่างนี้ นักวิชาการจริงๆจะไม่มีใครทำกัน ...
ก็อยากจะขอแนะนำท่านเจ้าของโพสน์ว่า ต่อไปก่อนที่จะพูดจาในทำนองท้าทายใครอีก ก็ขอให้ท่านตรวจสอบข้อมูลที่ท่านคัดลอกมาอ้างอิงให้ดีเสียก่อน เพราะมิฉะนั้น ท่านจะหน้าแตก ..



วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2559

อัลมะศอลิฮฺ อัลมุรสะละฮฺ สิ่งดีที่ถูกละไว้






ตอบโดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ถาม

ผมมีสิ่งที่อยากให้อ.ชี้แจง ผลและพี่น้องจะได้ความรู้ไปด้วย อินชาอัลลอฮ ในประเด็นของمصالح مرسلة อัลมะศอลิฮฺ อัลมุรสะละฮฺ ตามที่ อ.ได้นำเสนอ คือ สิ่งดีที่ถูกละไว้ สาเหตุของสิ่งนั้นเคยมีมาแล้วในสมัยของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แต่มีการปล่อยวาง .. คือไม่มีกระทำสิ่งนั้นเลยในสมัยของท่านศาสดา, .. หรืออาจเคยมีการกระทำอยู่ระยะหนึ่งแล้วถูกปล่อยวาง.. คือถูกระงับหรือยุติจากการกระทำในตอนหลัง (ถูกต้องนะคับ)ซึ่งดูแล้วมันแคบไปหรือไม่ เพราะกล่าวถึงเฉพาะสิ่งดีที่เคยเกิดขึ้นในสมัยนบีแต่มีการปล่อยวางในภายหลัง ตามที่ผมเคยศึกษามาจะมีการอธิบายความหมายตรงนี้ไปยัง ผลประโยชน์ต่างๆที่ถูกละไว้ ไม่มีตัวบทกล่าวถึงแต่อย่างใด หรือ เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวบทกล่าวถึงหรือปฏิเสธมัน ซึ่งหลักการตัวนี้มันรักษาผลประโยชน์ของมนุษย์ทั้งหลาย ไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยนบีเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงปัญหาใหมๆที่เกิดขึ้นภายหลังจากการเสียชีวิตของท่านนบีไปแล้ว ด้วยกับกาลเวลาสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด ปัญหาใหม่จะเกิดขึ้นตลอดเวลา จึงจำเป็นจะต้องยึดหลัการ มะศอลิฮ มุรสละฮฺ ในประเด็นนั้นๆเพื่อผลประโยชน์ของมนุษย์และขจัดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นซึ่งจะต้องไม่ขัดต่อตัวบทหลักฐาน และอาศัยมันในการกำหนดกฏหมายอิสลาม ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติหรือฮุ่กุ่ม เช่น ในเรื่องการสร้างถนนหนทาง การจัดตั้งองค์กรต่างๆเพื่อส่วนรวม และเรื่องอื่นๆ โดยจะต้องไม่ใช่เรื่อง อิบาดะฮฺ วัลลอฮุอะลัมครับ หากผิดพลาดประการใด อยากให้อ.นำเสนอและชี้แจงครับ ขออัลลอฮตะอาลาตอบแทนท่านครับ
برك الله فيك
หลานครูชุอิบ

ตอบ

สิ่งที่คุณยกตัวอย่างมาทั้งหมด หากจะเรียกว่าเป็นมะศอลิห์ ก็คงถูกต้องครับ เพราะมะศอลิห์ แปลว่าสิ่งดีๆทั้งหลาย ซึ่งไม่จำกัดว่าจะเกิดขึ้น "ในสมัยท่านนบีย์" หรือ "หลังจากท่านนบีย์แล้ว" ...
แต่ถ้าต่อท้ายด้วยคำว่า "มุรสะละฮ์" ก็ต้องหมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยท่านนบีย์แล้วเท่านั้น ..
ตัวอย่างที่คุณกล่าวมา เป็นตัวอย่าง "สิ่งดีๆทางโลกหรือทางสังคม" ที่เกิดขึ้นหลังจากสมัยท่านนบีย์แล้ว จึงเรียกว่า "มะศอลิห์" ได้ ..
และการริเริ่มกระทำสิ่งดีๆที่มีประโยชน์ต่อสังคมมนุษย์ - ไม่ว่าผู้ริเริ่มจะเป็นมุสลิมหรือมิใช่มุสลิมก็ตาม - ดังตัวอย่างที่คุณอ้างมานี้แหละครับที่ผมกล่าวในตอนต้นว่า เป็น "บิดอะฮ์ หะสะนะฮ์" ..
แต่จะใช้คำว่า "มุรฺสะละฮ์" ด้วย กับ "สิ่งดี" ที่เกิดขึ้นในยุคหลังเหล่านี้ก็คงไม่ถูกต้อง
เพราะคำว่า "มุรฺสะละฮ์" เป็นนามกรรม แปลว่า .. "สิ่งที่ถูกละไว้, สิ่งที่ถูกปล่อยวางไว้ ..
คำว่า "ถูกละหรือถูกปล่อยวาง" แสดงว่า จะต้องมี "ผู้ละ, ผู้ปล่อยวาง" สิ่งนั้น ...
เช่นเราพูดว่า "งูถูกตีตาย" ก็หมายถึงว่า ต้องมี "ผู้ตี" งูนั้นตาย ไม่ได้หมายถึงงูตายเอง .. ..
หรือเราพูดว่า "มนุษย์ถูกสร้าง" ก็แสดงว่า มนุษย์ต้อง "มีผู้สร้าง" แต่เรามิได้กล่าวถึงเช่นเดียวกัน ..
ในเรื่องของมะศอลิห์มุรฺสะละฮ์ .. ผู้ที่ละหรือปล่อยวางสิ่งดีๆเหล่านั้น หมายถึงท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ดังที่ผมอธิบายไปแล้ว ..
คำว่า "มะศอลิห์มุรฺสะละฮ์" จึงมิได้หมายถึง "สิ่งดีที่เกิดขึ้นเองตามวาระ, ตามจังหวะ หรือตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม" ยุคหลัง .. ดังตัวอย่างที่คุณยกมานั้น ...

ทีนี้ สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสมัยของท่านนบีย์ อันเป็นสิ่งดีๆทางสังคมที่เกิดขึ้นมาในยุคหลัง ท่านจะ "ละ" หรือ "ปล่อยวาง" มันได้อย่างไร ...
เพราะฉะนั้น คำว่า "บิดอะฮ์หะสะนะฮ์" กับ "มะศอลิห์มุรฺสะละฮ์" จึงมีความหมายคนละอย่างครับ วัลลอฮุ อะอฺลัมครับ ...
(สิ่งที่ผมเขียนไปในไทม์ไลน์ โปรดอ่านช้าๆและวิเคราะห์ไปด้วยครับ เพราะมันค่อนข้างละเอียดอ่อนสักหน่อย) ..



บรรทัดฐานระหว่างบิดอะฮ์กับมะศอลิห์ มุรฺสะละฮ์ (ตอนที่ 1)


โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย ...

การเข้าใจความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ถูกเรียกว่า บิดอะฮ์ (อุตริกรรมในศาสนา) กับมะศอลิห์ มุรฺสะละฮ์ (สิ่งดีของศาสนาที่ถูกปล่อยวางไว้) เป็นเรื่องสำคัญมาก ...
เพราะอย่างแรก เป็นสิ่งห้ามทำในศาสนา ...
ส่วนอย่างหลัง เป็นสิ่งที่ศาสนาอนุญาตหรือส่งเสริมให้ทำ ...
เป้าหมายของทั้งสองอย่างนี้จึงเป็นเส้นขนานกัน ไม่อาจมาบรรจบกันได้ ..
แต่ .. ที่สำคัญ ทั้ง 2 อย่างนี้ มีที่มาจากแหล่งเดียวกัน .. มีความหมายคล้ายกันหรือแทบจะเหมือนกัน - เหมือนฝาแฝด - จนบางคนแยกแยะไม่ออก ...
ไม่รู้ว่า สิ่งไหนเป็นบิดอะฮ์, สิ่งไหนเป็นมะศอลิห์ มุรฺสะละฮ์ ...
เรื่องของเรื่อง จึงทำให้เกิดความเข้าใจสับสนจนทุกวันนี้ ...
ก่อนอื่นขอเรียนว่า ผมเขียนเรื่องนี้ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ไม่มีเป้าหมายเพื่อกระแนะกระแหนใคร และไม่มีเป้าหมายเพื่อกล่าวหาใครว่าทำบิดอะฮ์ ...
แต่ต้องการจะอธิบายให้เห็นมุมมองของนักวิชาการว่า .. ที่เขากล่าวหาสิ่งใดว่าเป็นบิดอะฮ์, ทำไม่ได้ .. เขามีมุมมองอย่างไร..
และที่เขากล่าวว่าสิ่งใดเป็นมะศอลิห์ มุรฺสะละฮ์, เป็นสิ่งที่ทำได้ เขามีมุมมองอย่างไร ...
ทุกอย่างที่เขียนนี้ จึงเป็นเรื่องของวิชาการทั้งสิ้น ...
ก็ขออธิบายเรื่องแรก .. คือเรื่องบิดอะฮ์ก่อน ..
ความจริง เรื่องบิดอะฮ์นี้ผมเคยเขียนอธิบายมาอย่างละเอียดนานแล้ว และสำนักพิมพ์อัซซาบิกูน ของ อ.ชารีฟ วงศ์เสงี่ยม และ อ.อามีน ลอนา ก็ได้นำไปพิมพ์แล้วภายใต้ชื่อเรื่อง "คำนะศีฮัตแก่ผู้ที่เชื่อในบิดอะฮ์หะสะนะฮ์" ...
ในบทความนี้ ผมจึงขออธิบายเรื่องบิดอะฮ์นี้พอสังเขปเท่านั้น เพราะเป้าหมายใหญ่คือ ต้องการให้ท่านเข้าใจข้อจำแนกระหว่างบิดอะฮ์กับมะศอลิห์มุรฺสะละฮ์ มากกว่า ...
คำว่าบิดอะฮ์ - ตามหลักภาษา - หมายถึง.. "การกระทำสิ่งใหม่ที่ไม่มีแบบอย่างมาก่อน"
ถ้าการกระทำสิ่งใหม่ที่ไม่มีแบบอย่างมาก่อนเป็นเรื่องทางโลก เขาจะแปล "บิดอะฮ์" ในเรื่องนี้ว่า การประดิษฐ์สิ่งใหม่, การผลิตสิ่งใหม่, การริเริ่มทำสิ่งใหม่ ..
และ .. สิ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ในเรื่องทางโลกนี้ จะมี 2 ลักษณะ คือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ดี และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ชั่วหรือเลว ...
ถ้าสิ่งประดิษฐ์ใหม่เป็นสิ่งดีมีคุณประโยชน์แก่ชาวโลกและไม่ขัดต่อหลักการศาสนา .. เช่นประดิษฐ์รถยนตร์, ประดิษฐ์รถไฟ, ประดิษฐ์เครื่องบิน, ประดิษฐ์คอมพิวเตอร์, ประดิษฐ์ยารักษาโรคต่างต่างๆ, ประดิษฐ์เครื่องใช้เครื่องมือทางการแพทย์, ผลิตไฟฟ้า, ผลิตระบบประปา, ประดิษฐ์เครื่องมือที่มีประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ ฯลฯ ก็จะเรียกสิ่งประดิษฐ์นี้ว่าเป็น บิดอะฮ์หะสะนะฮ์ (بِدْعَةٌ حَسَنَةٌ) หรือบิดอะฮ์ดี ...
แต่ถ้าสิ่งที่ถูกประดิษฐ์หรือผลิตขึ้นมาใหม่ทางโลก เป็นสิ่งที่เป็นพิษภัยต่อชาวโลกและขัดต่อบทบัญญัติศาสนา เช่น ผลิตยาบ้า, ผลิตเฮโรอิน, ผลิตน้ำกระท่อม, ผลิตอุปกรณ์เล่นการพนันชนิดต่างๆ ฯลฯ ก็จะเรียกสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ว่า บิดอะฮ์ ซัยยิอะฮ์ (بِدْعَةٌ سَيِّئَةٌ) หรือบิดอะฮ์เลว ...
เพราะฉะนั้น คำว่าบิดอะฮ์ หะสะนะฮ์หรือบิดอะฮ์ดี จึงมีเฉพาะในเรื่องทางโลก ..
หรือถ้าหากจะมองว่า อิสลามคือ "ระบอบในการดำเนินชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างที่แวดล้อมตัวเราล้วนเป็นเรื่องของอิสลามทั้งสิ้น" .. เราก็กล่าวได้ว่า .. "บิดอะฮ์หะสะนะฮ์ - ถ้าจะมีในอิสลาม - ก็จะมีเฉพาะใน "ส่วนที่เกี่ยวกับทางโลก" ของอิสลามเท่านั้น ..
อนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องอิบาดะฮ์, เรื่องบาปเรื่องบุญ ..
ในส่วนนี้จะไม่มีคำว่าบิดอะฮ์หะสะนะฮ์หรือบิดอะฮ์ดี ทว่า .. สิ่งที่ถูกอุตริขึ้นมาใหม่ทั้งหมดในเรื่องอิบาดะฮ์และเรื่องบาปเรื่องบุญ ล้วนเป็นบิดอะฮ์ที่หลงผิดทั้งสิ้น .. ตามคำกล่าวของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะอละยฮิวะซัลลัม ...
คำอธิบายดังกล่าว ผมมิได้อธิบายเอง แต่เป็นคำอธิบายของนักวิชาการชั้นแนวหน้าของมัษฮับชาฟิอีย์ คือท่านอิบนุหะญัรฺ อัลอัสเกาะลานีย์ และท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-ฮัยตะมีย์ และนักวิชาการอื่นๆอีกมาก ...
ท่านอิบนุ หะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “ฟัตหุ้ล บารีย์” เล่มที่ 13 หน้า 253 เอาไว้ว่า ......
فَالْبِدْعَـةُ فِيْ عُرْفِ الشَّرْعِ مَذْمُوْمَةٌ، بِخِلاَفِ اللُّـغَةِ فَإِنَّ كُلَّ شَىْءٍ اُحْدِثَ عَلَى غَيْرِ مِثَالٍ سَابِقٍ يُسَمَّى بِدْعَـةً، سَوَاءٌ كَانَ مَحْمُوْدًا اَوْمَذْمُوْمًا ........

“ดังนั้น คำว่าบิดอะฮ์ ในความหมายตามนัยของบทบัญญัติ(ทั้งหมด) จึงเป็นสิ่งที่ถูกประณาม, ซึ่งแตกต่างกับ(ความหมายของมัน)ในด้านภาษา เพราะทุกๆสิ่งที่ถูกสร้างให้มีขึ้นมาโดยไม่มีแบบอย่างมาก่อน เรียกว่าบิดอะฮ์(ตามหลักภาษา)ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งดีหรือสิ่งเลว” ...
และท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-ฮัยตะมีย์ นักวิชาการฟิกฮ์แห่งมัษฮับชาฟิอีย์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 974) ได้เขียนไว้ในหนังสือ “อัล-ฟะตาวีย์” ของท่านว่า ...
فَإنَّ الْبِدْعَـةَ الشَّرْعِـيَّةَ ضَلاَلَـةٌ كَمَا قَالَ رَسُوْلُ اللَّـهِ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلّمَ وَمَنْ قَسَّمَهَا مِنَ الْعُلَمَاءِ إلَى حَسَنٍ وَغَيْرِ حَسَنٍ فَإنَّمَا قَسَّمَ الْبِدْعَـةَ اللُّغَوِيَّـةَ، وَمَنْ قَالَ كُلُّ بِدْعَـةٍ ضَلاَلَـةٌ فَمَعْنَاهُ الْبِدْعَـةُ الشَّرْعِيَّةُ .....
“แน่นอน (ทุกๆ)บิดอะฮ์ ชัรฺอียะฮ์ (บิดอะฮ์ตามบทบัญญัติ) นั้น เป็นความหลงผิด! .. ดังคำกล่าวของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม, .. และนักวิชาการท่านใดที่แบ่งมันออกเป็นบิดอะฮ์ดีหรือบิดอะฮ์ไม่ดี ก็มิใช่อื่นใดนอกจากเป็นการแบ่งมันตามนัยของภาษาเท่านั้น, และผู้ใดที่กล่าวว่า "ทุกๆบิดอะฮ์คือความหลงผิด" .. ความหมายของมันก็คือ บิดอะฮ์ตามบทบัญญัติ(بِدْعَةٌ شَرْعِيَّةٌ) ” ....
ถ้าอย่างนั้น بِدْعَةٌ شَرْعِيَّةٌ มีความหมายอย่างไร ? ...
นักวิชาการได้ให้คำนิยามของคำว่า بِدْعَةٌ شَرْعِيَّةٌ ไว้หลากหลายสำนวน แต่คำนิยามที่ผมเห็นว่า ที่มีน้ำหนักที่สุดก็คือ คำนิยามของนักวิชาการอุศู้ลฯ ที่ว่า ...
اَلْبِدْعَةُ هِىَ فِعْلُ مَا تَرَكَهُ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهِ عَلَيْهِ وَسّلَّمَ مَعَ قِيَامِ الْمُقْتَضِىْ وَانْتِفَاءِ الْمَانِعِ

"บิดอะฮ์ (ชัรฺอียะฮ์) ก็คือ การกระทำใดสิ่งที่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมละทิ้ง (คือไม่ทำ) มัน ทั้งๆที่มีประเด็นส่งเสริม (หมายถึงเป็นสิ่งดีตามมุมมองผู้ที่ทำ) .. และไม่มีอุปสรรคใดๆมาขัดขวางท่าน(จากการกระทำสิ่งนั้น)" ...
จากคำนิยามที่ว่า "ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมละทิ้งมัน" บ่งบอกความหมายว่า สิ่งนั้น .. "เคยมีเหตุการณ์หรือมีสาเหตุเกิดขึ้นแล้วในสมัยของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม" ...
เพราะสิ่งใดที่ไม่เคยมีเหตุการณ์หรือสาเหตุเกิดขึ้นในสมัยของท่าน จะมากล่าวว่า ท่าน "ละทิ้งมัน" ย่อมไม่ได้ ....
อีกนัยหนึ่ง ความหมายบิดอะฮ์ชัรฺอียะฮ์ ก็คือ .. "การทำสิ่งใดที่ประเด็นส่งเสริมให้ทำสิ่งนั้น(หมายถึง เป็นสิ่งดีในมุมมองของผู้ทำ) เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แต่ท่านไม่กระทำสิ่งนั้น ทั้งๆที่ไม่มีอุปสรรคใดๆขัดขวาง" ...
ตัวอย่างของบิดอะฮ์ชัรฺอียะฮ์ - ตามกฎเกณฑ์ข้อนี้ - ผมจะกล่าวในตอนหลัง ...
ต่อไปก็เป็นเรื่องของมะศอลิห์ มุรฺสะละฮ์ (اَلْمَصَالِحُ الْمُرْسَلَةُ) บ้าง ...
คำว่า "มะศอลิห์ มุรฺสะละฮ์ (اَلْمَصَالِحُ الْمُرْسَلَةُ)" ที่หลายคนไม่เคยได้ยินมาก่อน มีความหมายว่า .. "สิ่งดีๆที่ถูกละไว้, สิ่งดีๆที่ถูกปล่อยวางไว้" ...
คำว่า "สิ่งดีๆ" ในที่นี้ หมายถึงสิ่งดีๆตามหลักการอิสลาม และตามมุมมองของมุสลิมทั่วไปด้วย ...
คำว่า "ถูกละไว้, ถูกปล่อยวางไว้" .. หมายความว่า สาเหตุของสิ่งนั้นเคยมีมาแล้วในสมัยของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แต่มีการปล่อยวาง .. คือไม่มีกระทำสิ่งนั้นเลยในสมัยของท่านศาสดา, .. หรืออาจเคยมีการกระทำอยู่ระยะหนึ่งแล้วถูกปล่อยวาง.. คือถูกระงับหรือยุติจากการกระทำในตอนหลัง ...
แล้วผู้ที่ "ปล่อยวาง" สิ่งนั้นคือใคร ? ...
คำตอบก็คือ ผู้ที่ปล่อยวางสิ่งนั้นได้แก่ .. ท่านนบีย์มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม !...
หากมีคำถามต่อไปว่า .. ทำไม ท่านนบีย์มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงปล่อยวางหรือไม่กระทำสิ่งนั้นในสมัยของท่าน ? ...
คำตอบก็คือ .. ที่ท่านต้องปล่อยวางหรือไม่ทำ ก็เพราะท่านมีอุปสรรคจนไม่สามารถทำสิ่งนั้นได้ ..
สรุปแล้ว มะศอลิห์มุรฺสะละฮ์ ก็คือ "สิ่งดี (ตามหลักการอิสลาม) ที่ประเด็นส่งเสริมให้ทำสิ่งนั้นเคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แต่ท่านไม่ทำสิ่งดีนั้น เพราะมีอุปสรรค" ...
เมื่อนำสิ่งที่เรียกว่าบิดอะฮ์ชัรฺอียะฮ์ที่ผ่านมาแล้ว คือ .. "การทำสิ่งดี (ตามมุมมองของผู้ทำ) ที่ประเด็นส่งเสริมให้ทำ มีมาตั้งแต่สมัยของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมแล้ว แต่ท่านไม่ทำสิ่ง(ดี) นั้น ทั้งๆที่ไม่มีอุปสรรคใดๆ" ... มาเทียบ ท่านผู้อ่านก็จะเห็นได้ว่า ...
ทั้งสองอย่างคล้ายกันจนเกือบจะเป็นเรื่องเดียวกัน ..
คือ เป็นสิ่งดีเหมือนกัน, ประเด็นส่งเสริมให้ทำสิ่งดีนั้นเคยเกิดขึ้นแล้วในสมัยท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเหมือนกัน, และท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ "ไม่ทำ" สิ่งดีทั้งสองอย่างนั้นเหมือนกัน ..
นี่คือ "จุดเหมือน" ..
ส่วนจุดต่างของมะศอลิห์มุรฺสะละฮ์ กับบิดอะฮ์ชัรฺอียะฮ์ ก็คือ ...
สิ่งที่เป็นมะศอลิห์มุรฺสะละฮ์ .. ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมไม่ทำ "เพราะมีอุปสรรค" ...
ส่วนสิ่งที่เป็นบิดอะฮ์ชัรฺอียะฮ์ .. ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมไม่ทำ "ทั้งๆที่ไม่มีอุปสรรค" ...
ก็จุดนี้แหละที่ผมบอกว่า ความต่างของสองสิ่งนี้ เป็นเรื่อง "เส้นผมบังภูเขา" ...






บรรทัดฐานระหว่างบิดอะฮ์กับมะศอลิห์ มุรฺสะละฮ์ (ตอนที่ 2)


โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย ...

เมื่อมะศอลิห์มุรฺสะละฮ์ คือสิ่งดีที่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมไม่ทำเพราะมีอุปสรรค ...
การที่คนยุคถัดมาเช่น - เศาะหาบะฮ์ - ได้ทำ .. หรือรื้อฟื้นสิ่งนั้นขึ้นมาทำหลังจากอุปสรรคหายไปแล้ว จึงเป็นที่อนุญาต .. ดังตัวอย่างที่จะถึงต่อไป ..
ข้อนี้ต่างกับเรื่องบิดอะฮ์ชัรฺอียะฮ์ - ที่ท่านรอซู้ลฯไม่ทำทั้งๆที่ไม่มีอุปสรรค - การมาทำสิ่งนี้ทีหลังถือว่าเป็นความหลงผิดและเป็นเรื่องต้องห้าม, ...
เพราะการที่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม "เจตนา" ไม่ทำสิ่งใดที่เคยมีสาเหตุประเด็นส่งเสริมเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยของท่านทั้งๆที่ไม่มีอุปสรรค ย่อมบ่งบอกความหมายชัดเจนอยู่แล้วว่า สิ่งนั้น "มิใช่เป็นเรื่องของศาสนา และมิใช่เป็นบทบัญญัติของศาสนา " !!! ...
มิฉะนั้น ก็เท่ากับว่าท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ละเลย, เพิกเฉย และบกพร่องต่อการทำหน้าที่รอซู้ลของท่าน ฐานเจตนาละทิ้งสิ่งดีที่มีประโยชน์ต่ออุมมะฮ์ของท่าน ซึ่งความบกพร้องดังกล่าวถือเป็นคุณลักษณะต้องห้ามสำหรับรอซู้ลทุกท่าน ....
ท่านอิหม่ามมาลิก บินอนัส เคยกล่าวเอาไว้ว่า ...
مَنِ ابْتَدَعَ فِى اْلإِسْلاَمِ بِدْعَةً يَرَآهَا حَسَنَةً فَقَدْ زَعَمَ أَنَّ مُحَمَّدًا خَانَ الرِّسَالَةَ ! .. فَقَدْ قَالَ اللهُ تَعَالَى : اَلْيَوْمَ أَكْمَلْتُ لَكُمْ دِيْنَكُمْ .. فَمَالَمْ يَكُنْ يَوْمَئِذٍ دِيْنًا لَمْ يَكُنِ الْيَوْمَ دِيْنًا

"ผู้ใดได้อุตริสิ่งใดขึ้นมาใหม่ในอิสลามและมองว่ามัน(การอุตรินั้นของเขา)เป็นเรื่องดี แน่นอน เขาเข้าใจว่าท่านรอซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทุจริต(หรือบกพร่อง) ในการทำหน้าที่รอซู้ลของท่านแล้ว เพราะพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงดำรัสว่า .. "วันนี้ เราได้ทำให้ศาสนาของเจ้าสมบูรณ์แล้ว" .. เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่ในวันนั้นมิใช่ (เป็นเรื่องของ) ศาสนา ในวันนี้ มันก็มิใช่เป็น(เรื่องของ) ศาสนา" ...
ตัวอย่างของมะศอลิห์มุรฺสะละฮ์ และคำอธิบายเทียบกฎเกณฑ์ข้างต้น ...
(1) การที่ท่านอบูบักรฺ ร.ฎ. สั่งให้มีการรวบรวมอัล-กุรฺอานทั้งหมดเข้าด้วยกันดังที่ปรากฏในปัจจุบัน หลังจากที่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมสิ้นชีพ และท่านอบูบักรฺ ร.ฎ. ได้รับตำแหน่งเป็นคอลีฟะฮ์..
อธิบาย
ที่กล่าวว่าการรวบรวมอัล-กุรฺอานเข้าด้วยกัน เป็นมะศอลิห์มุรฺสะละฮ์ ก็เพราะ ....
ก. สาเหตุที่ต้องรวบรวมอัลกุรฺอานเข้าด้วยกันมีมาแล้วตั้งแต่สมัยท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมยังมีชีวิตอยู่ นั่นคือ เพื่อป้องกันการสูญหายของอัล-กุรอานทั้งหมดหรือบางส่วน .. เพราะข้อเท็จจริงในขณะนั้น อัล-กุรฺอานยังกระจัดกระจายอยู่ในบันทึกและการท่องจำของเศาะหาบะฮ์จำนวนมาก จึงเสี่ยงต่อการสูญหายหรือเลือนหาย - ทั้งหมดหรือบางส่วน - ได้ การรวบรวมอัล-กุรฺอานเข้าไว้ทั้งหมดจึงเป็นการป้องกันความสูญเสียเหล่านั้น ......
ข. การรวบรวมอัล-กุรฺอานทั้งหมดเข้าด้วยกัน เป็น "สิ่งดี" ของอิสลาม เพราะจะทำให้อัล-กุรฺอานยังมีอยู่ครบถ้วนไม่สูญหาย และอุมมะฮ์ของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมในยุคถัดๆมาจนถึงวันกิยามะฮ์จะได้รับ, ได้อ่าน และได้เข้าใจอัล-กุรฺอานทั้งหมดอย่างถูกต้อง, ครบถ้วน .. ตรงตามที่ถูกประทานลงมา ...
ค. แต่การที่ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไม่อาจรวบรวมอัล-กุรฺทั้งหมดเข้าด้วยกันได้ในสมัยของท่าน ก็เพราะ "มีอุปสรรค" .. นั่นคือ ตราบใดที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ วะห์ยุเรื่องอัล-กุรฺอานย่อมมีสิทธิ์ถูกประทานลงมาเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา การรวมเป็นเล่มเข้าด้วยกันทั้งหมดในขณะนั้นจึงไม่อาจทำได้ ...
แต่หลังจากท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สิ้นชีพไปแล้ว "อุปสรรค" เรื่องความหวั่นเกรงว่าจะมีวะห์ยุเรื่องอัล-กุรฺอานลงมาเพิ่มเติมอีก - จึงหมดสิ้นไปด้วย ..
ดังนั้น การรวบรวมอัล-กุรฺอานทั้งหมดเข้าด้วยกันจึงเป็น "มะศอลิห์มุรฺสะละฮ์" .. คือ "สิ่งดีที่ท่านศาสดาปล่อยวางไว้" .. ให้เศาะหาบะฮ์ของท่านกระทำแทนในภายหลัง ...
(2). การที่ท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฎฎอบ ร.ฎ. มีคำสั่งให้ท่านอุบัยย์ อิบนุกะอฺบ์ ร.ฎ. และท่านตะมีม อัด-ดารีย์ ร.ฎ. นำประชาชน "ละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ในลักษณะญะมาอะฮ์" อีก .. หลังจากที่เรื่องนี้ ถูกว่างเว้นมานานตั้งแต่ตอนปลายสมัยท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม, และตลอด 3 ปีแห่งการเป็นคอลีฟะฮ์ของท่านอบูบักรฺ ร.ฎ. ...
อธิบาย
ก. สาเหตุของกรณีนี้ - คือการละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ในเดือนรอมะฎอน - มีมาแล้วตั้งแต่สมัยท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม .. ตัวท่านรอซู้ลุลลอฮ์เองก็เคยนำเศาะหาบะฮ์ของท่านปฏิบัติละหมาดนี้มาก่อนแล้ว .. ดังหลักฐานถูกต้องมากมายซึ่งรายงานมาในเรื่องนี้ ...
ข. ประเด็นส่งเสริมให้มีการทำญะมาอะฮ์ในละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ก็คือ เป็นสิ่งดี, ทำให้การละหมาดดูเป็นระเบียบเรียบร้อย, ผู้ละหมาดก็จะได้รับผลบุญมากกว่า, มีความมุ่งมั่นและมีสมาธิมากกว่าการละหมาดตามลำพัง ..
ค. แต่การละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ในลักษณะญะมาอะฮ์ ต้องถูกระงับเพราะมี "อุปสรรค" คือ ท่านศาสดาเกรงว่า มันจะกลายเป็นฟัรฎู !! .. แล้วจะเป็นภาระหนักแก่อุมมะฮ์ของท่านเกินไป .. ดังมีรายงานจากหะดีษที่ถูกต้องซึ่งเป็นที่ทราบกันดี ..
เมื่อท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สิ้นชีพ ท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฎฎอบ ร.ฎ. จึงได้ "รื้อฟื้น" เรื่องนี้ขึ้นมาใหม่ เพราะอุปสรรคเรื่อง "หวั่นเกรงว่ามันจะกลายเป็นฟัรฺฎู" ได้หมดสิ้นไปพร้อมกับการสิ้นชีพของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ...
ดังนั้น การละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ในลักษณะญะมาอะฮ์ จึงเป็น "มะศอลิห์มุรฺสะละฮ์" .. คือ "สิ่งดีที่ท่านศาสดาปล่อยวางไว้" .. ให้เศาะหาบะฮ์ของท่านดำเนินการต่อไปแทนท่าน ดังที่ปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน ...
มิใช่เป็น "บิดอะฮ์หะสะนะฮ์" ในเรื่องอิบาดะฮ์ ดังความเข้าใจของบางคน ...
ส่วนการที่ท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ. สั่งให้ท่านอุบัยย์ บินกะอฺบ์ ร.ฎ. และท่านตะมีม อัด-ดารีย์ ร.ฎ. นำประชาชนละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ญะมาอะฮ์ แล้วท่านก็กล่าวว่า ...
نِعْمَتِ الْبِدْعَةُ هَذِهِ

... ซึ่งแปลว่า "บิดอะฮ์ที่ดี คือสิ่งนี้" ..
แล้วมีบางคนนำคำพูดนี้มาอ้างเป็นหลักฐานว่า "มีบิดอะฮ์หะสะนะฮ์ในเรื่องอิบาดะฮ์" .. น่าจะเป็นความเข้าใจผิด ...
ประเด็นคำว่า "หะสะนะฮ์" (เป็นสิ่งดี) ไม่มีใครติดใจ ...
ที่ติดใจก็คือความเข้าใจว่า .. การที่ท่านอุมัรฺสั่งให้ท่านอุบัยย์กับท่านตะมีม นำประชาชนละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ในลักษณะญะมาอะฮ์ เป็น "บิดอะฮ์" .. นี่แหละ ...
ทั้งนี้ เพราะความหมาย "บิดอะฮ์" ซึ่งเป็นที่รับรู้กันก็คือ "กระทำสิ่งใหม่(อิบาดะฮ์) ซึ่งไม่เคยมีแบบอย่างมาก่อน" ..
แต่การละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ในลักษณะญะมาอะฮ์ เป็นสิ่งที่มีแบบอย่างมาก่อนแล้ว, ทั้งจากการกระทำและจากคำสั่งของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ...
แล้วจะเรียกการละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ในลักษณะญะมาอะฮ์ ว่าเป็น "บิดอะฮ์" .. ตามความหมายที่เข้าใจกันได้อย่างไร ? ..
ถ้าอย่างนั้น เราจะเข้าใจคำพูดของท่านอุมัรฺ ที่ว่า نِعْمَتِ الْبِدْعَةُ هَذِهِ (บิดอะฮ์ที่ดี คือสิ่งนี้) ว่าอย่างไร ? ..
คำตอบก็คือ .. เจตนาจากคำพูดของท่านอุมัรฺเกี่ยวกับคำว่า "บิดอะฮ์ดี" ข้างต้นน่าจะหมายถึง "การรื้อฟื้นสิ่งซึ่งเคยมีแบบอย่างมาแล้ว (แต่ถูกสั่งระงับไปเพราะมีอุปสรรค) ขึ้นมาทำใหม่ เป็นสิ่งดี" ..
ไม่ใช่หมายถึง "การริเริ่มทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีแบบอย่างในศาสนามาก่อน เป็นสิ่งดี - " .. เพราะมันขัดแย้งกับข้อเท็จจริงและขัดแย้งกับความหมายของคำว่า "บิดอะฮ์" ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว ...
วัลลอฮุ อะอฺลัม ...
หรือผู้อ่านท่านใดเห็นว่า น่าจะมีคำอธิบายคำว่า "บิดอะฮ์" จากคำพูดท่านอุมัรฺ ได้กลมกลืนกว่านี้โดยไม่ขัดกับความหมาย "บิดอะฮ์" อย่างที่เข้าใจกัน ผมก็พร้อมที่จะรับฟังครับ ..




วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ชี้แจง คำถามเรื่องมุสลิมขายอาหารให้แก่ชาวไทยพุทธเพื่อนำไปใส่บาตรให้พระ


ท่านผู้อ่านที่รักครับ ..
ผมตอบคำถามเรื่องมุสลิมขายอาหารให้แก่ชาวไทยพุทธเพื่อนำไปใส่บาตรให้พระไปนานพอสมควรแล้ว และผมก็ปล่อยเรื่องนี้ให้เป็นดุลยพินิจของท่านผู้อ่านและนักวิชาการจะวินิจฉัยกัน เพราะผมก็ไม่ได้ฟันธงเลยว่าคำตอบของผมคือข้อชี้ขาด ห้ามใครเห็นต่างเป็นอันขาด
แต่ก็ยังมีบางคนที่มีความเชื่อส่วนตัวว่า "พื้นฐาน" การใส่บาตรของชาวพุทธเป็นชิริก ..ได้นำเอาคำตอบอันเป็น "ข้อวินิจฉัย" (มิใช่หลักฐาน) ของอาจารย์บางท่าน (ขออภัยที่ต้องเอ่ยชื่อท่าน คือ ท่าน อ. อามีน ลอนา) ที่ "มองต่างมุม" กับผมในเรื่องนี้ มา ตัดสินในลักษณะว่า คำตอบของ อ.อามีนเท่านั้นคือข้อชี้ขาดของปัญหานี้
...
เขาทราบหรือเปล่าว่า การทำธุรกิจหรือการปฏิบัติบางประการหรือหลายประการกับคนต่างศาสนาในสิ่งที่มุสลิมถือว่าหะรอม แต่คนต่างศาสนาถือว่า ฮาล้าล(สำหรับเขา) - อย่างเช่นกรณีการให้อาหารกาเฟรฺนำไปรับประทานในเดือนรอมะฎอน - นักวิชาการยังขัดแย้งกันว่า จะทำได้หรือทำไม่ได้
เรื่องการขายอาหารให้ชาวพุทธนำไปใส่บาตรพระก็คล้ายๆกันนี่แหละ ...
เมื่อเป็นปัญหาขัดแย้งและไม่มีหลักฐานชัดเจนใดๆ (نَصٌّ صَرِيْحٌ) จะมาชี้ขาด แล้วเราจะเอาอะไรมา "ฟันธง" ว่า ทัศนะนั้นทัศนะนี้เท่านั้นที่ถูกต้อง ...
นอกจากเป็นการกล่าวไปตามอารมณ์หรือความเชื่อส่วนตัวเองเท่านั้น ..
สิ่งนี้ นักวิชาการจริงๆ - โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักวิชาการในสมัยอดีต - จะไม่กระทำกัน
ยิ่งไปกว่านั้น บางอย่างที่เขานำมาตั้งเป็นคำถาม - อันเป็นเรื่องชิริกที่ "ชัดเจน" อยู่แล้ว - ก็เป็นเรื่องไม่น่าจะนำมาถาม ถ้าเพียงแต่เขาจะอ่านข้อเขียนของผมทั้งหมดอย่างละเอียด, ใคร่ครวญ และเข้าใจ ไม่ใช่อ่านเพียงผิวเผิน ...
เพราะสิ่งที่เขาถาม ก็เป็นสิ่งที่คล้ายคลึงกับสิ่งที่ผมเขียนตอบไปก่อนแล้วว่า ทำไม่ได้ ...
อย่างเช่น เขาเขียนถามเรื่องถ้ามีคนไทยพุทธมาซื้อแกงหรือซื้อต้นกล้วยเพื่อนำไปไหว้เจ้าที่เจ้าทางอันเป็นชิริก จะขายให้ได้กระนั้นหรือ ? ... ...
กรณีที่คล้ายคลึงกันนี้ ผมก็เขียนตอบมาก่อนแล้วมิใช่หรือว่า ...
"ข้อนี้ (เรื่องชาวบ้านที่เป็นคนพุทธใส่บาตรเพื่อให้พระนำไปรับประทาน) ต่างกับการที่เราเชือดเป็ดหรือไก่ แล้วนำไปขายให้แก่คนต่างศาสนิก ที่เรา "รู้ชัดเจนแล้ว" ว่าเขาจะนำเป็ดหรือไก่นั้นไปเส้นไหว้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษหรือบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของเขา อันนี้ผมก็เห็นด้วยกับทัศนะที่ว่ามุสลิมขายให้ไม่ได้ ........"
ปัญหาในกรณีคำตอบของผมที่ว่าขายอาหารให้ชาวพุทธนำไปใส่บาตรได้ (ภายใต้เงื่อนไขที่ผมอธิบายไว้ชัดเจนแล้วและจะขออนุญาตนำมากล่าวซ้ำอีกตอนหลัง) จึงอยู่ภายใต้ปัญหาหรือคำถามที่ว่า ...
พื้นฐานการใส่บาตรของชาวพุทธ เป็น "ชิริก" ในตัวของมันเองหรือไม่ ? ...
ถ้าใช่ เราก็ร่วมมือไม่ได้โดยไม่มีเงื่อนไข ...
แต่ถ้าไม่ใช่ เราก็สามารถร่วมมือได้ภายใต้เงื่อนไข ...
ประเด็นนี้สำคัญที่สุด จึงควรทำความเข้าใจให้ช้ดเจนก่อนจะนำไปหุก่มหรือวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ...
ก่อนจะให้คำตอบในเรื่องนี้ ผมขออธิบายเกี่ยวกับเรื่อง "หุก่ม" ของอิสลามก่อน เพื่อให้นำไปเปรียบเทียบกับเรื่องนี้ ดังนี้ ...
หุก่มในเรื่องคำห้าม- คำใช้ของอิสลาม จะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ หุก่มตะอับบุดียะฮ์ (حُكْمٌ تَعَبُّدِىٌّ) และหุก่มตะอักกุลียะฮ์ (حُكْمٌ تَعَقُّلِىٌّ) ...
1. حُكْمٌ تَعَبُّدِىٌّ คือหุก่มที่เราไม่สามารถจะใช้สติปัญญาของ
เราหาเหตุผลได้ว่า ที่ใช้หรือห้ามอย่างนั้น เพราะอะไร ? ... หน้าที่
ของเราจึงมีเพียงปฏิบัติตามคำสั่งใช้หรือห้ามนั้นโดยดุษฎีเท่านั้น ...
ตัวอย่างเช่น การที่ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ห้ามอ่านอัล-กุรฺอานในรุกั๊วะอฺและในสุญูด ...
ทั้งๆที่การอ่านอัล-กุรฺอานก็เป็นซิกรุลลอฮ์ที่ดีเลิศที่สุด และการรุกั๊วะอฺและสุญูดก็เป็นอริยาบถที่นอบน้อมที่สุดเท่าที่บ่าวพึงปฏิบัติต่อผู้เป็นนาย ...
แล้วทำไม ท่านศาสดาจึงห้ามอ่านอัล-กุรฺอานซึ่งเป็นสิ่งดีในขณะรุกั๊วะอฺและสุญูดซึ่งเป็นอริยาบถที่ดี ? ..
สิ่งนี้เราไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้เลยว่าเพราะอะไรถึงห้าม นอกจากปฏิบัติตามเพียงอย่างเดียว ...
2. حُكْمٌ تَعَقُّلِىٌّ คือหุก่มที่เราสามารถเข้าใจหรือชี้แจงเหตุผล
ได้ว่า ที่ใช้หรือห้ามนั้น เพราะเหตุผลอะไร ...
ตัวอย่างเช่น การที่ท่านศาสดาห้ามบุคคลในท้องถิ่นที่กำลังมีโรคระบาดเดินทางออกภายนอก และห้ามบุคคลภายนอกเดินทางเข้าไปในท้องถิ่นที่กำลังมีโรคระบาด ...
การห้ามในกรณีนี้ เป็นสิ่งที่เราสามารถเข้าใจเหตุผลได้ นั่นคือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคนั้นไม่ให้ลุกลามหรือขยายตัวสู่ภายนอก ..
สำหรับเรื่องการใส่บาตรของชาวพุทธ ก็จัดเข้าอยู่ในหลักการดังที่กล่าวมานี้

คือมีทั้งที่เป็น حُكْمٌ تَعَبُّدِىٌّ และที่เป็น حُكْمٌ تَعَقُّلِىٌّ ...
การที่พระพุทธเจ้าวางกฎห้ามพระสงฆ์หุงอาหารเอง และห้ามพระสงฆ์เก็บอาหารไว้ค้างคืนเพื่อรับประทานในวันรุ่งขึ้น ถือเป็น حُكْمٌ تَعَبُّدِىٌّ คือเป็นอิบาดะฮ์สำหรับชาวพุทธ เพราะเราไม่สามารถทราบเหตุผลได้ว่า เพราะอะไร พระพุทธเจ้าจึงได้วางกฎไว้อย่างนี้ ...
ส่วนการที่พระพุทธเจ้าสั่งให้ชาวบ้านนำอาหารมาใส่บาตรให้พระสงฆ์ "ทุกเช้า - ทุกเช้า" นั้น ถือเป็น حُكْمٌ تَعَقُّلِىٌّ คือ เราสามารถทราบเหตุผลได้ว่า ที่ให้นำอาหารมาใส่บาตรให้พระก็เพื่อพระจะได้นำไปรับประทานเพื่อสามารถดำรงชีพอยู่ต่อไปได้ มิฉะนั้นพระสงฆ์ก็จะอดอาหารตาย ...
ดังนั้น "พื้นฐาน" ของการใส่บาตรให้พระของชาวพุทธ จึง มิใช่เป็น حُكْمٌ تَعَبُّدِىٌّ .. คือมิใช่เป็นอิบาดะฮ์หรือพิธีกรรมที่ "ไม่สามารถรู้เหตุผลได้"
และมิได้เป็นชิริก (สำหรับมุสลิม เรา) ในตัวของมันเอง อย่างความเข้าใจของพวกเราบางคน ...
แต่เป็น عَادَةٌ คือประเพณีหรือวิถี ชีวิตประจำวันของชาวพุทธ
แต่มันจะกลายเป็นอิบาดะฮ์(สำหรับชาวพุทธ) และชิริก (สำหรับมุสลิมเรา) ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อหรือการกระทำอย่างอื่นเข้ามาประกอบขณะใส่บาตรด้วย ...
เช่นมีความเชื่อว่าขณะใส่บาตรว่า อาหารที่ใส่บาตรไปนั้นจะถึงไปยังวิญญาณญาติพี่น้องที่ตายด้วย, หรือก่อนจะใส่บาตร เขาจะเอาอาหารนั้นวางจบบนศีรษะแล้วอธิษฐาน, หรือขณะพระภิกษุให้พร ผู้ใส่บาตรจะกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ...
เมื่อนั้น การใส่บาตรจึงจะกลายเป็นอิบาดะฮ์สำหรับชาวพุทธ และเป็นชิริกสำหรับมุสลิมทันที ...
ผมจึงไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า การใส่บาตรเป็นอิบาดะฮ์ของชาวพุทธมาตั้งแต่ต้น, เป็นชิริก, และห้ามมุสลิมขายอาหารให้ชาวพุทธนำไปใส่บาตรโดยไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขใดๆ
และ .. คำตอบเรื่องการขายอาหารให้ชาวพุทธนำไปใส่บาตรนี้ ผมก็มิได้ตอบเลยว่า ขายให้ได้โดยปราศจากเงื่อนไข แต่ผมตอบว่าขายได้ ภายใต้เงื่อนที่ผมกล่าวไว้แล้วคือ .. "ถ้าชาวพุทธที่ซื้ออาหารไป นำอาหารนั้นไปให้แก่พระภิกษุด้วยการใส่บาตร เพื่อให้นำไปรับประทาน(ฉัน)เป็นการประทังชีพอย่างเดียว โดยไม่มีความเชื่อและภาคปฏิบัติที่ค้านต่อหลักการอิสลามเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในขณะใส่บาตร" ...
อ่านคำตอบของผมช้าๆและใคร่ครวญซิครับ อย่าอ่านเผินๆหรือลวกๆ ...
โดยเฉพาะตอนท้ายที่ผมเขียนว่า "เพื่อให้นำไปรับประทานเป็นการประทังชีพอย่างเดียวโดยไม่มีความเชื่อและภาคปฏิบัติที่ค้านต่อหลักการอิสลามเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในขณะใส่บาตร"
ถ้าชาวพุทธคนใดที่ซื้ออาหารไปใส่บาตรปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขที่กล่าวมานี้ แล้วมีนักวิชาการท่านใดยังยืนยันว่า ขายให้ไม่ได้ ผมก็ขอหลักฐาน ? ...
หลักฐานที่ผมขอ อาจจะเป็นหลักฐานจากหะดีษก็ได้, หรือหลักฐานจากคำตอบของนักวิชาการระดับโลกท่านใดก็ได้ที่ตอบคำถามดังที่มีคนถามผมมาในกรณีนี้ แล้วนักวิชาการระดับโลกท่านนั้นตอบว่า ขายให้ไม่ได้โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น ...
ถ้าท่านหามาได้ ผมก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงคำตอบของผม ...
แต่ไม่ใช่หลักฐานจาก "ความคิด, ความเข้าใจ หรือมุมมองของตัวเอง" มาฟันธง เพราะคำตอบของผมในเรื่องนี้มิใช่เป็นการนั่งเทียนตอบ แต่ผมอาศัย "หลักวิชาการ" เช่นเดียวกัน ...
นอกจากนั้น การทำธุรกิจหรือการปฏิบัติบางประการกับคนต่างศาสนาในสิ่งที่มุสลิมถือว่าหะรอม แต่คนต่างศาสนาถือว่า ฮาล้าล(สำหรับเขา) .. นักวิชาการยังขัดแย้งกันว่า จะทำได้หรือทำไม่ได้ .. ดังได้กล่าวมาแล้ว ...
ท่านมีสิทธิ์มั่นใจในมุมมองของท่านและผมก็มีสิทธิ์มั่นใจในมุมมองของผม ตราบใดที่เราทั้งสองฝ่ายไม่สามารถหา نَصٌّ صَرِيْحٌ (หลักฐานที่ชัดเจน) มาตัดสินได้ ...
ส่วนมุมมองใครจะผิดจะถูก .. พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงทราบ ...
หมายเหตุ ..
ผมยังเขียนต่อไปอีกมิใช่หรือครับว่า ...
ส่วนในกรณีที่ผู้ขายอาหาร "มั่นใจหรือรู้แน่ชัด" ว่า ชาวพุทธที่ซื้ออาหารไปเพื่อใส่บาตรให้พระภิกษุนั้น มีการปฏิบัติหรือมีความเชื่อดังข้างต้น เช่นเชื่อว่า อาหารที่ใส่บาตรไปนั้นจะถึงไปยังวิญญาณญาติพี่น้องที่ตายด้วย, หรือก่อนจะใส่บาตร เขาจะเอาอาหารนั้นวางจบบนศีรษะแล้วอธิษฐาน หรือขณะพระภิกษุให้พร ผู้ใส่บาตรจะกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับ ...
อย่างนี้ ผมเห็นว่า เราจะขายอาหารให้ไม่ได้ .....

และ .. ผมยังกล่าวต่อไปอีกว่า ...
หรือถ้าเรา(ผู้ขายอาหาร) "ค่อนข้างมั่นใจ, สงสัย หรือเกรง" ว่า ผู้ซื้อจะมีการปฏิบัติข้อใดข้อหนึ่งจาก 3 ประการนั้น ทางที่ดีเราก็ควร "ระงับ" จากการขายให้ เพื่อหลีกเลี่ยงจากการกระทำสิ่งชุบฮาต (คือสงสัยหรือคลุมเคลือว่าทำได้หรือไม่) .. ดังคำสั่งของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ..
คำตอบนี้ของผม ท่านอ่านละเอียดและทำความเข้าใจแล้วยัง ?.. หรือยังไม่ได้อ่านเลย ? ...
สรุปแล้ว เงื่อนไขของผมที่ว่าขายให้ได้ สำหรับชาวพุทธคงเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติของพวกเขา ซึ่งหากเขาปฏิบัติไม่ได้ เราก็ขายอาหารให้ไม่ได้ ดังที่อธิบายมาแล้ว ..
.
ข้อเปรียบเทียบในเรื่องนี้ก็คล้ายๆกับที่นักวิชาการหะดีษอนุโลมให้นำหะดีษเฎาะอีฟน้อยมาปฏิบัติในเรื่องฟะฎออิลุ้ลอะอฺมาลได้นั่นแหละ เพราะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขสำคัญ 4 ประการ ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว การปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้ง 4 ประการนี้เป็นเรื่องยากหรือแทบจะทำไม่ได้เลย ...
เพราะฉะนั้น ข้ออนุโลมให้ขายอาหารให้ชาวพุทธนำไปใส่บาตรได้ภายใต้เงื่อนไขที่ผมกล่าวไว้ และกรณีการนำหะดีษเฎาะอีฟน้อยมาปฏิบัติได้ภายใต้เงื่อนไขที่นักวิชาการกำหนดไว้นี้ ถ้าพิจารณาด้วยใจเป็นธรรม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหมือนกับเป็นการ "ตีกัน" ทางอ้อมนั่นเอง ...
และสุดท้าย ผมก็ขอเรียนให้ท่านผู้อ่านทุกท่านทราบว่า ...
ท่าน อ. อามีน ลอนากับผม สนิทสนมกันมาก .. หรืออีกนัยหนึ่ง ท่านเปรียบเสมือนลูกชายของผม, น้องชายของผม หรือศิษย์ของผมคนหนึ่ง มีอะไรท่านก็ไลน์หรือโทรฯมาปรึกษาผมอยู่เสมอ ...
การเห็นต่างกันในเรื่องใดๆระหว่างพ่อกับลูก, พี่กับน้อง หรือศิษย์กับอาจารย์ มิใช่เรื่องใหม่และมิใช่เรื่องแปลก แต่มันมีมาแล้วตั้งแต่อดีต ...
เช่น ความเห็นต่างในหลายๆเรื่องระหว่างท่านอิหม่ามชาฟิอีย์กับท่านอิหม่ามมาลิก ซึ่งทั้งสองท่านเป็นศิษย์กับอาจารย์กัน ..
หรือความเห็นต่างระหว่างท่านอิหม่ามอะห์มัดกับท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ ซึ่งเป็นศิษย์กับอาจารย์กัน ก็เช่นเดียวกัน ...
มิใช่เพียงเรื่องนี้เท่านั้นที่ผมกับ อ. อามีนเห็นต่างๆกัน แต่อาจจะมีเรื่องอื่นๆอีกก็ได้
ความเห็นต่างเรื่องวิชาการ เป็นเรื่องปกติที่มีมาทุกยุคทุกสมัยแล้ว ...
ทว่า .. ในด้านส่วนตัว ผมเชื่อว่าไม่มีอะไรจะมาทำลายความสัมพันธ์, ความรักใคร่ห่วงใยและความเคารพนับถือที่เรามีต่อกันได้ อินชาอัลลอฮ์ ...



การกำหนดให้ชุมชนมุสลิม งดนำศพผู้ติดยาเสพติดทำพิธีในมัสยิด


ตอบโดย อ.ปราโมทย์  ศรีอุทัย

ถาม

อาจารย์ ค่ะ การที่การกำหนดให้ชุมชนมุสลิม งดนำศพผู้ติดยาเสพติดทำพิธีในมัสยิด เป็นที่ถูกต้องไหมค่ะ อาจารย์เห็นด้วยไหมค่ะ

ตอบ

การงดนำศพคนตายเพราะติดยาเสพติดหรือตายเพราะอะไรก็ตาม มาละหมาดที่มัสยิด ความจริงคงไม่ใช่ปัญหาเท่าไร เพราะการละหมาดผู้ตายในสมัยท่านศาสดาและสมัยเสาะหาบะฮ์หลังจากนั้นก็ไม่ได้ทำกันในมัสยิด แต่จะมาทำกันที่มุศ็อลลา ซึ่งเป็นสถานที่เฉพาะสำหรับละหมาดมัยยิต, ละหมาดอีด, ละหมาดสุริยคราสและจันทรคราส เป็นต้น .. สำหรับในกรณีที่คุณถามมา สมมุติในหมู่บ้านใดหรือมุเก่มใดถ้าหากปกติมีการนำมัยยิตมาละหมาดที่มัสยิดทุกครั้ง แล้วมีการห้ามเฉพาะมัยยิตที่ตายเพราะยาเสพติด ผู้ออกคำสั่งห้ามก็คงมีเหตุผลส่วนตัวของเขาซึ่งผมก็ไม่ทราบครับ ...

การให้สังเกตสัญญาณแรกบ่งบอกว่าอีก100วันจะตาย มีหรือในหลักการของอิสลาม


ตอบโดย อ.ปราโมทย์  ศรีอุทัย

ถาม

อัสลามมูอาลัยกุม อาจารย์ ดิฉันได้เห็นบทความหลายครั้งหลายครา เกี่ยวกับการให้สังเกตสัญญาณแรกบ่งบอกว่าอีก100วันจะตาย คือสัญญาณจะเกิดหลังเวลาอัศรี โดยที่ทุกส่วนของร่างกายจากปลายเส้นผมจรดเท้าจะมีความรู้สึกสั่นทั่วร่างกาย เหมือนกับเนื้อวัวที่พึ่งถูกเชือดใหม่ บทความนี้เป็นความจริงหรือไม่ค่ะ

ตอบ

วะอลัยกุมุสสลาม ..
ผมไม่เคยเจอสัญญาณอย่างที่เล่ามานี้ในหลักการของอิสลามเลยครับ เพิ่งมาได้ยินครั้งแรกจากคำถามของคุณนี่แหละ คุณเอาความเข้าใจดังกล่าวนี้มาจากบทความไหนหรือครับ ? .

จาก เว็บ http://beritamuslimmag.com  

วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ใครกันแน่ที่เป็นผู้ที่เปรียบอัลลอฮ์ว่าเหมือนมนุษย์



แปลก !!!!!!!
เพราะจะเห็นเกือบทุกครั้งที่เปิดดูเฟส .. กับข้อความที่ว่า ...
"อะกีดะฮ์พระเจ้ามีรูปร่างจากยิวสู่ความเชื่อกลุ่มบิดอะฮ์”

ที่ว่าแปลกก็เพราะ .. เท่าที่คนโง่ๆอย่างเรารู้ ก็คือ ...

พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงกล่าวไว้เองในอัล-กุรฺอานว่า ...

الرحمن على العرش استوى

มีความหมายว่า "พระองค์ผู้กรุณาปรานี ทรงประทับบนบัลลังก์" ..

เราก็เชื่อตามที่พระองค์ทรงบอก .. คือเชื่อว่า พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงประทับบนบัลลังก์ ...
พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงกล่าวอีกว่า ...

ليس كمثله شئ

มีความหมายว่า ... "ไม่มีสรรพสิ่งใดที่เสมอเหมือนพระองค์" ...

เราจึงเชื่อตามความหมายที่พระองค์ทรงบอกในโองการบทนี้ต่อไปว่า .. แสดงว่า การประทับบนบัลลังก์ของพระองค์อัลลอฮ์ ไม่เหมือนการนั่งบนเก้าอี้ของพวกเรา ...

ความเชื่ออย่างนี้ ง่าย, .. ไม่เห็นมีอะไรยุ่งยากสักนิด ...

แล้วหากมีคนที่ชอบ "ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก" บางคนมาถาม (ด้วยคำถามที่ท่านอิหม่ามมาลิกตำหนิอย่างรุนแรง คือ เป็นบิดอะฮ์) ว่า .. แล้วพระองค์ทรงประทับอย่างไร ? ...

เราก็ตอบได้เพียงว่า เราไม่รู้ !!..

เมื่อพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงบอกมาแค่นั้น เราก็เชื่อเพียงแค่นั้น ไม่มีหลักฐานวายิบให้เราเชื่อเกินเลยไปกว่านั้น ...

ถ้าผู้ใดอยากรู้เกินกว่านั้น ให้ไปถามอัลลอฮ์เอาเอง ...

เพราะพระองค์อัลลอฮ์ไม่เหมือนเรา และเราก็ไม่มีสิทธิ์ไปก้าวก่ายและเจาะลึกเรื่องต่างๆของพระองค์ให้เกินเลยจากที่พระองค์ทรงบอกไว้ .....

เรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับ "ซาต" (องค์), และ "ซีฟาต" (คุณลักษณะต่างๆ)ของพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เป็นเรื่อง تَعَبُّدِىٌّ .. คือวายิบเราต้องเชื่อตามที่พระองค์บอก โดยไม่จำเป็นต้องรู้เหตุผลหรือเจาะลึกเพื่อหาข้อเท็จจริงใดๆทั้งสิ้น ...

ท่านอิหม่ามมาลิก บินอนัส (เกิด ฮ.ศ. 93 สิ้นชีวิต ฮ.ศ. 179) เคยอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน .. เป็นที่รับรู้กันทั่วไปโดยปราศจากข้อสงสัยว่า ...

الإستواء معلوم، والكيف مجهول، والإيمان به واجب، والسؤال عنه بدعة

"คำว่า الإستواء (ประทับ - ในทางภาษา) ย่อมเป็นที่รู้กัน, .. วิธีการ(ประทับของพระองค์อัลลอฮ์) ย่อมไม่สามารถรับรู้ได้, .. ความศรัทธาในเรื่องนี้(คือ เรื่องการประทับของอัลลอฮ์บนบัลลังก์) เป็นวายิบ(เพราะเป็นข้อความจากอัล-กุรฺอาน), .. การถามเรื่องนี้(เช่นถามว่า อัลลอฮ์ประทับอย่างไร ? อัลลอฮ์มีก้นกระนั้นหรือ ? ถ้ามี ก้นของอัลลอฮ์เป็นอย่างไร ?) คือบิดอะฮ์" ...

แสดงว่า ความเชื่อของเราในเรื่องนี้ดังที่กล่าวมา ไม่ใช่เรามโนเอาเอง ! ... แต่เราเชื่อตามที่พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงบอกไว้ในอัล-กุรฺอานทุกประการ, ไม่มีส่วนใดเกินเลยจากที่พระองค์ทรงบอก ..

และความเชื่อของเราก็ตรงตามคำอธิบายของท่านอิหม่ามมาลิกทุกประการด้วย ..
แต่แปลก !! ..ที่มีบางคนกล่าวหาว่า ความเชื่ออย่างนี้เป็นบิดอะฮ์ เป็นความเชื่อเหมือนความเชื่อของพวกยิว ....

ก็เพิ่งจะรู้นี่แหละว่า ความเชื่อเกี่ยวกับพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ตรงตามที่พระองค์ทรงบอกเองในอัล-กุรฺอาน และเชื่อตามคำอธิบายของสลัฟระดับแนวหน้าอย่างท่านอิหม่ามมาลิก เป็นความเชื่อที่บิดอะฮ์ .. เป็นความเชื่อเหมือนพวกยิว ...

ส่วนความเชื่อของบางคนโดยไม่มีที่มาจากอัล-กุรฺอานเลย เป็นความเชื่อที่ถูกต้อง ! ...

ก็เลยสงสัยว่า ระหว่างพวกที่เชื่อตามสิ่งที่อัลลอฮ์ บอกในอัล-กุรฺอาน, .. เชื่อตามที่อิหม่ามมาลิกอธิบาย กับพวกที่ไม่เชื่อตามที่อัลลอฮ์บอก แต่เชื่อตามความคิด ความเข้าใจของตนเองนั้น ...

ใครกันแน่ที่เป็นพวกบิดอะฮ์ ? .. และใครกันแน่ที่สมควรเตาบะฮ์ ? ...

และ.. พวกที่ถามต่อไปในลักษณะว่า .. ถ้าอัลลอฮ์ประทับบนบัลลังก์ได้ แสดงว่า อัลลอฮ์ต้องมีก้น ! ....
ถ้างั้น ก้นของอัลลอฮ์ เป็นอย่างไร ? ...

เราขอถามกลับว่า .. ที่ท่านถามอย่างนี้แสดงว่า ท่านต้องเข้าใจว่า การประทับบนบัลลังก์ของพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ต้องใช้ "ก้น" .. เหมือนกับการนั่งของมนุษย์บนเก้าอี้ใช่ไหม ? ....

เพราะถ้าท่านไม่เข้าใจอย่างนี้ ท่านจะถามถึงก้นของอัลลอฮ์ทำไม ?? ...

ตกลง ใครกันแน่ที่เป็น مُشَبِّهِيْنَ (ผู้ที่เปรียบอัลลอฮ์ว่า เหมือนมนุษย์เรา ?) ...

ท่านหรือเรา ???????????? ...

ที่เขียนมาอย่างนี้ มิใช่เพื่อตำหนิผู้ที่มีความคิดต่างกับเราหรือตำหนิใครๆทั้งสิ้น ...

ไม่ได้หุก่มความเชื่อของชาวอะชาอิเราะฮ์ว่า ผิดหรือถูก ...

แต่ต้องการเตือนสติบางคนว่า อย่าเอาความเชื่อตัวเองไปกล่าวหาหรือหุก่มพี่น้องมุสลิมที่มีความเชื่อต่างกับตัวเองว่า มีความเชื่อแบบยิวซึ่งเป็นกลุ่มชนที่อัลลอฮ์ทรงกริ้วและทรงสาปแช่ง ...

ไม่กลัวคำนี้ จะย้อนศรกลับเข้าหาตัวเองบ้างหรือครับ ?? ...


วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การแต่งงานพร้อมกันหลายคู่


ตอบโดย อ.ปราโมทย์  ศรีอุทัย

ถาม

อัสลามูอาลัยกุม อาจารย์ ดิฉันอยากทราบว่า การแต่งงาน ในอิสลาม หากทำพร้อมกันหลายคู่(นิกะฮ์+วาลีมะฮ์) ได้ไหมค่ะ

ตอบ

วะอลัยกุมุสสลาม .. ผมไม่เคยเจอข้อห้ามในเรื่องนี้เลยครับ และอีกอย่างเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องอาดะฮ์ ไม่ใช่อิบาดะฮ์ เพราะฉะนั้น การนิกาห์และการทำวะลีมะฮ์ในลักษณะนี้ - หากมีผู้ปฏิบัติจริง - ก็ไม่น่าจะมีปัญหาครับ อินชาอัลลอฮ์ .....


การออกกำลังกายของมุสลีมะฮ์ในที่สาธารณะ


ตอบโดย อ.ปราโมทย์  ศรีอุทัย

ถาม

อัสลามูอาลัยกุม อาารย์ พอดี ตอนนี้ทางรัฐบาล ให้มีการออกกำลังกาย และจะมีการออกกำลังกาย ในบริเวณกว้างร่วมกันพร้อมๆกัน รวมถึงการเต้นแอโรบิคด้วย ดิฉันอยากให้อาจารย์ช่วยแนะนำการเข้าร่วมการออกกำลังกายที่เหมาะของมุสลีมะฮ์ด้วย ค่ะ

ตอบ

วะอลัยกุมุสสลาม ...

มุสลิมะฮ์ไม่มีสิทธิ์ไป "ร่วม" ออกกำลังกายด้วยการแต่งกายอย่างนั้น, ในสถานที่กลางแจ้งอย่างนั้น, ด้วยอริยาบถหรือท่าทางอย่างนั้นได้หรอกครับ

 แต่อิสลามก็ไม่ได้ห้ามมุสลิมะฮ์จากการออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพตัวเอง

 เพราะฉะนั้น สถานที่ออกกำลังกายที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับมุสลิมะฮ์ก็คือในห้องภายในบ้านของนางเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในห้องส่วนตัวของนางเองก็จะดีที่สุดครับ

 วัลลอฮุ อะอฺลัม ...



วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ปัญหาการขายอาหารให้คนพุทธนำไปใส่บาตร


ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ ...

หลังจากผมนำคำตอบเรื่อง "การขายอาหารให้คนพุทธนำไปใส่บาตร" ลงในเฟส ก็มีผู้หวังดีหลายท่านส่งข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการใส่บาตรหรือการตักบาตรของชาวพุทธมาให้ผมพิจารณา ซึ่งผมก็ขอขอบคุณในความหวังดีของทุกท่านอย่างจริงใจมา ณ ที่นี้ครับ ...

ก่อนอื่น ขอเรียนว่า คำตอบของผมที่ว่า อนุญาตให้มุสลิม "ขาย" อาหารแก่คนพุทธเพื่อนำไปใส่บาตรได้นั้น ไม่ได้มีความหมายว่า อนุญาตให้มุสลิม "ใส่บาตร" ให้พระภิกษุได้ด้วย .. ดังที่บางคนนำไปพูดกันแพร่หลายขณะนี้ ซึ่งผมถือว่าผู้พูดมีเจตนาบิดเบือนข้อเขียนของผม ..
คงไม่ต้องถึงขั้นให้ผมท้าสาบานอีกนะว่า ผมไม่มีความคิดอย่างนั้นแม้เพียงกะผีกริ้นอยู่ในหัวใจ ...
เพราะกรณีการใส่บาตรให้พระภิกษุนี้ อย่าว่าแต่จะฟัตวาลงในเฟสว่าทำได้เลย แค่คิดผมก็ไม่เคยคิดจะอนุญาตให้มุสลิมคนใดกระทำด้วยซ้ำ ...

ยอมรับว่า คำตอบที่ผมตอบไปแล้วนั้น อาจหละหลวมหรือไม่ครอบคลุมไปนิดเพราะตั้งอยู่บนความเข้าใจ - ซึ่งก็คงเหมือนกับมุสลิมจำนวนมากที่เข้าใจ - ว่า เจตนารมณ์ของชาวพุทธในการใส่บาตรก็คือ การบริจาคอาหารให้พระภิกษุที่มาขอบริจาคอาหาร เพื่อนำไปรับประทานดำรงชีวิตเท่านั้น ไม่มีพิธีกรรมหรือความเชื่ออื่นใดนอกเหนือไปกว่านั้นเข้ามาร่วมด้วย ...
ผมจึงตอบไปว่า การขายอาหารให้ชาวพุทธในกรณีดังกล่าว ไม่ถือว่าขัดต่อหลักอะกีดะฮ์ของเราแต่ประการใด ...

คำตอบนี้ แม้จะไม่ผิด แต่ก็ไม่ครอบคลุมอย่างที่บอกแล้ว ..
ที่ผมไม่เน้นกับคำว่า "ใส่บาตร" อันเป็น "ภาษา" ของคนไทยพุทธโดยเฉพาะดังการท้วงติงของบางคน ก็เพราะผมอธิบายไปแล้วว่า การใส่บาตรหรือตักบาตรก็คือ การที่ชาวพุทธ - ไม่ว่าอาศัยอยู่ในประเทศใดในโลก - นำอาหารมามอบให้แก่พระสงฆ์ ด้วยการใส่ให้ในภาชนะ (บาตร)ที่พระสงฆ์นำมา ขณะที่ชาวพุทธประเทศอื่นจะไม่เรียกการให้อาหารพระสงฆ์ในลักษณะนี้ว่า "การใส่บาตร" เหมือนที่คนไทยพุทธเรียกแน่นอน ...

คำว่า "ตักบาตร" หรือ "ใส่บาตร" จึงเป็นเพียงวิวัฒนาการด้านภาษาของคนไทยเราเท่านั้น ไม่ใช่เป็นภาษาสากลของชาวพุทธทั้งโลก ...
ผมจึงให้ความสำคัญกับ "วิธี" การให้อาหารพระ มากกว่าให้ความสำคัญกับ "ภาษาศาสนา" ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามภาษาพูดของชาวพุทธแต่ละประเทศดังที่อธิบายมาแล้ว ...
อีกอย่างหนึ่ง เรื่อง"วิธีการให้" นี้ แม้กระทั่งตามหลักการศาสนาอิสลามของเราเอง ก็ไม่ได้จำกัดไว้เลยว่า "ให้" วิธีไหนใช้ได้ และ "ให้" วิธีไหนใช้ไม่ได้ ..
.
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าผู้ให้จะยื่นให้, จะโยนให้, จะวางไว้ให้ผู้รับมาหยิบเอาไปเอง หรือเอาไปใส่ในภาชนะที่ผู้ขอนำมา ก็ไม่ถือว่าผิดหลัก "การให้" ตามบัญญัติอิสลามข้อไหน ...
ขอเล่านิทานจริงสั้นๆเรื่องหนึ่งให้ฟัง ...

ขณะที่ผมเรียนอยู่ชั้น ป. 3 ป. 4 คุณพ่อและคุณแม่ของผมขายอาหารในเรือโดยสารขนาดกลางที่วิ่งระหว่างสงขลาและหัวไทรประจำทุกวัน ...

วันเสาร์และวันอาทิตย์ ผมจะติดตามท่านไปช่วยเสิร์ฟอาหารให้แก่ลูกค้าในเรือ รวมทั้งเก็บถ้วยจานมาล้างด้วย ..

เช้าวันหนึ่ง พระภิกษุรูปหนึ่งให้คนมาสั่งอาหารและให้ผมนำไปให้ท่าน ..
พอนำอาหารไปถึง ผมก็วางอาหารนั้นไว้ข้างหน้าของท่าน แต่ท่านไม่ยอมรับ ...

คนไทยพุทธที่เป็นคนมาสั่งอาหารบอกว่า "ประเคนให้ท่านซิ หนู"
ผมงงเพราะไม่เข้าใจคำว่าประเคน คนไทยพุทธคนนั้นจึงอธิบายว่า "ก็ส่งมันให้ถึงมือท่านซิ" ...

ผมจึงประเคน .. คือยื่นจานข้าวให้จนถึงมือพระภิกษุรูปนั้น ...

สรุปว่า "ประเคน" กับ"ใส่บาตร" ก็มีความหมายคล้ายๆกันในทางศาสนาพุทธ คำแรกหมายถึงส่งอาหารให้ถึงมือพระภิกษุ คำที่สองหมายถึงเอาอาหารใส่ในบาตรให้พระภิกษุ ...

ดังนั้น ถ้าจะเอาเป็นเอาตายกับภาษา การที่ผมยื่นอาหารให้ถึงมือพระในวันนั้น คงต้องมีปัญหาแน่นอน ...
ถ้าเราเรียกการกระทำของผมวันนั้นว่า "ยื่นอาหารให้พระ" ก็คงทำได้ เพราะการซื้อขายตามปกติไม่ว่าผู้ซื้อเป็นใคร เราก็ส่งให้ด้วยวิธีนี้อยู่แล้ว ...

แต่ถ้าเราเรียกการยื่นอาหารให้ถึงมือพระภิกษุวันนั้นว่า "ประเคนให้" ก็คงทำไม่ได้ เพราะ "ประเคน" เป็นภาษาศาสนาพุทธเหมือนกับคำว่า ใส่บาตร ...

ตกลง ทุกอย่างจึงมาติดชะงักอยู่ที่ "ภาษา" แทนที่จะคำนึงถึงข้อเท็จจริงของการกระทำว่าเป็นการกระทำอย่างเดียวกันที่ตามปกติก็ไม่ได้ขัดหลักการศาสนาอิสลามแต่ประการใด ...

ขอวกกลับมาพูดเรื่องข้อมูลที่มีผู้ส่งมาให้ผมอีกครั้ง ...

จากข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับเรื่องการใส่บาตรที่ผู้หวังดีส่งมา ทำให้ได้รับรู้ว่า บางครั้งการตักบาตรหรือใส่บาตร มีอะไรหลายอย่างมากกว่าที่ผมเคยเข้าใจ ซึ่งทำให้ผมต้องพิจารณาคำตอบของผมในเรื่องนี้ใหม่ ...

ก่อนอื่น โปรดอ่านข้อมูลหนึ่งที่มาจากชาวพุทธเอง ดังนี้ ...

การตักบาตร คือประเพณีอย่างหนึ่งที่ชาวพุทธปฏิบัติกันมาแต่สมัยพุทธกาล พระภิกษุจะถือบาตรออกบิณฑบาตเพื่อรับอาหารหรือทานอื่นๆ ตามหมู่บ้านในเวลาเช้า ผู้คนที่ออกมาตักบาตรจะนำของทำทานต่างๆ เช่น ข้าว อาหารแห้ง มาถวายพระ
ประเพณีนี้ชาวพุทธถือกันว่าเป็นการสร้างกุศล และถือว่าเป็นการแผ่ส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย โดยเชื่อกันว่าอาหารที่ถวายไปนั้นจะส่งถึงญาติผู้ล่วงลับด้วยเช่นกัน
วิธีการตักบาตร
การตักบาตรโดยทั่วไป
ผู้คนที่นำของที่เอามาตักบาตรจะยืนรออยู่ตรงทางที่พระภิกษุเดินผ่าน ส่วนมากของที่ผู้คนใช้นิยมตักบาตรเป็นหลักคือข้าว โดยก่อนที่พระภิกษุเดินทางมาถึงจะมีการนำถ้วยข้าวจบที่ศีรษะแล้วอธิษฐาน เมื่อพระภิกษุเดินทางมาถึงพระภิกษุจะหยุดยืนอยู่ตรงหน้าคนที่จะตักบาตรแล้วเปิดฝาบาตร ก่อนที่จะตักบาตรคนที่ตักบาตรจะต้องถอดรองเท้าก่อน จากนั้นคนที่ตักบาตรจะนำทานที่ตนมีถวายพระ เมื่อให้เสร็จแล้วพระจะให้พร คนที่ตักบาตรประนมมือรับพร (โดยปกติแล้วจะนิยมคุกเข่าหรือนั่งยองๆ ประนมมือ ซึ่งผิดตามพระธรรมวินัย เพราะจะทำให้พระอาบัติ) ขณะที่ให้พรคนที่ตักบาตรอาจจะมีการกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับ (การกรวดน้ำนั้นอาจจะทำขณะที่พระให้พรหรือหลังจากการตักบาตรเสร็จสิ้นก็ได้) หลังจากที่พระภิกษุให้พรแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี ...

หมายเหตุ
จากคำอธิบายข้างต้นทำให้พอจะมองเห็นได้ว่า ตามข้อเท็จจริงแล้ว การตักบาตรในสมัยพุทธกาล มีเป้าหมายเพียงการให้อาหารแก่พระภิกษุเพื่อประทังชีวิตเท่านั้น เพราะพระภิกษุไม่สามารถเก็บอาหารไว้รับประทานข้ามคืนได้ และไม่สามารถหุงหาอาหารเองได้ ...
ส่วนภาคปฏิบัติหรือความเชื่ออื่นๆ เช่นเชื่อว่า อาหารที่ใส่บาตรไปจะถึงไปยังวิญญาณผู้ตายก็ดี, การจบอาหารบนศีรษะก่อนจะใส่บาตรก็ดี, การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลขณะพระสงฆ์กำลังให้พรหรือหลังจากให้พรก็ดี มิใช่เป็นบทบัญญัติหรือคำสอนทางศาสนาพุทธ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความเชื่อและประเพณีปฏิบัติของชาวพุทธยุคหลังๆทั้งสิ้น ...

สรุปจากข้อมูลข้างต้น ...
1. การตักบาตร เป็น "ประเพณี" อย่างหนึ่งของชาวพุทธ
2. การตักบาตร ชาวพุทธถือว่าเป็นการแผ่ส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว
3. ชาวพุทธเชื่อกันว่า อาหารที่ถวายไปนั้นจะส่งถึงญาติผู้ล่วงลับด้วย
4. ผู้ใส่บาตรจะนำถ้วยข้าวจบที่ศีรษะแล้วอธิษฐาน
5. พระภิกษุจะให้พรคนที่ใส่บาตรให้
6. ขณะที่พระภิกษุให้พรหรือหลังจากให้พร คนที่ตักบาตรอาจจะมีการกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับ .
..
จากผลสรุป 6 ประการข้างต้น ประการแรกก็เป็นที่รับรู้กันโดยปราศจากข้อขัดแย้งว่า การใส่บาตรนั้น เป็นประเพณีปฏิบัติของชาวพุทธ ซึ่งคงไม่มีมุสลิมที่เข้าใจศาสนาคนใดลอกเลียนแบบไปปฏิบัติแน่นอน เพราะการลอกเลียนแบบพิธีกรรมเฉพาะของศาสนาอื่น เป็นสิ่งที่ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวห้าม ...

ข้อสอง - คือการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย - ก็ไม่ใช่ปัญหาเท่าไร เพราะมุสลิมเราเองก็ยังมีเยอะแยะที่เลี้ยงอาหารเพื่ออุทิศผลบุญให้แก่ผู้ตาย ...

เพราะถ้าเราขายอาหารให้คนพุทธไปใส่บาตรไม่ได้ด้วยเหตุผลข้อนี้ เราก็ขายอาหารให้มุสลิมที่ซื้ออาหารไปเลี้ยงเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้คนตายไม่ได้ ด้วยเหตุผลข้อเดียวกัน ...
ส่วนข้อห้า คือภิกษุผู้รับอาหารอวยพรให้แก่ผู้ให้ อันนี้ก็ไม่แตกต่างจากมุสลิมเราที่ผู้รับเลี้ยงอาหาร ขอดุอาให้แก่ผู้เลี้ยงอาหารเราเช่นเดียวกัน .
..
แต่ที่ผมติดใจมากที่สุดก็คือ ข้อ 3, ข้อ 4 และข้อ 6
....
เพราะทั้ง 3 ข้อนี้ เป็นทั้ง "ภาคปฏิบัติ" และ "ความเชื่อ" (อะกีดะฮ์) ที่ขัดต่อหลักการอิสลามทั้งสิ้น ...
เพราะฉะนั้น ผมจึงขอเพิ่มเติมคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
...
(1). ถ้าชาวพุทธที่ซื้ออาหารไป นำอาหารนั้นไปให้แก่พระภิกษุด้วยการใส่บาตร เพื่อให้นำไปรับประทาน(ฉัน)เป็นการประทังชีพอย่างเดียว โดยไม่มีความเชื่อและภาคปฏิบัติที่ค้านต่อหลักการอิสลามเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในขณะใส่บาตร ผมก็ยังยืนยันคำตอบเดิมว่า เราขายอาหารให้เขาให้ได้ครับ เพราะถือว่า การขายให้ในลักษณะนี้และการปฏิบัติของเขาในลักษณะนี้ไม่มีข้อใดค้านต่อบทบัญญัติของเรา ..

(2). ในกรณีที่ผู้ขายอาหารมั่นใจหรือรู้แน่ชัดว่า ชาวพุทธที่ซื้ออาหารไปเพื่อใส่บาตรให้พระภิกษุนั้น มีการปฏิบัติหรือมีความเชื่อหรือดังข้างต้น เช่นเชื่อว่า อาหารที่ใส่บาตรไปนั้นจะถึงไปยังวิญญาณญาติพี่น้องที่ตายด้วย, หรือก่อนจะใส่บาตร เขาจะเอาอาหารนั้นวางจบบนศีรษะแล้วอธิษฐาน หรือขณะพระภิกษุให้พร ผู้ใส่บาตรจะกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับ ...
อย่างนี้ ผมเห็นว่า เราจะขายอาหารให้ไม่ได้ .. เหมือนที่ผมอธิบายไปแล้วว่า เราจะขายเป็ดไก่ให้แก่ผู้ที่เรารู้ชัดเจนแล้วว่าจะนำไปเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษหรือบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้ เพราะการขายให้ไปเท่ากับเราส่งเสริมหรือสนับสนุนสิ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติของอิสลาม ...

(3). ในกรณีผู้ขายอาหารรู้เพียงว่า ผู้ซื้อนำไปใส่บาตรให้พระภิกษุ แต่ไม่ทราบว่า ผู้ซื้อจะมีการปฏิบัติหรือมีความเชื่อที่ขัดต่อบทบัญญัติของอิสลามตามข้อใดข้อหนึ่งจาก 3 ข้อนั้นในตอนใส่บาตรหรือไม่ ตามหลักการแล้ว อนุญาตให้ขายให้ได้ เพราะอิสลามไม่มีบทบัญญัติให้ผู้ขายไปกำหนดเงื่อนไขหรือรับรู้ว่า สิ่งที่เราขายไปนั้น ผู้ซื้อจะนำไปทำอะไร, ลักษณะใดบ้าง
(4). แต่ถ้าเราค่อนข้างมั่นใจ, สงสัย หรือเกรงว่า ผู้ซื้อจะมีการปฏิบัติข้อใดข้อหนึ่งจาก 3 ประการนั้น ทางที่ดีเราก็ควรระงับจากการขายให้ เพื่อหลีกเลี่ยงจากการกระทำสิ่งชุบฮาต (คือสงสัยหรือคลุมเคลือว่าทำได้หรือไม่) ดังคำสั่งของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ..
ผมเองไม่ใช่คนแถ, รั้น, หรือเชื่อมั่นตัวเองสูงจนไม่รับฟังคำแนะนำของใคร ถ้าพิจารณาเห็นว่า คำแนะนำนั้นมีประโยชน์และถูกต้อง ผมก็ยินดีและพร้อมที่จะรับไปปฏิบัติทันทีครับ ...

วัลลอฮุ อะอฺลัม ...





มุสลิมนำอาหารใส่บาตรให้พระ ขณะพระกำลังออกบิณฑบาต



ตอบโดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ถาม

อัสลามูอาลัยกุม อาจารย์ ค่ะ
มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเกี่ยวกับกรณีมุสลิมกับคนต่างศาสนิก ที่เขาทำกัน ไม่ทราบว่าทำได้หรือเปล่า จึงอยากถามอาจารย์ให้แน่ใจค่ะ คือ
1. กรณีที่พระกำลังออกบิณฑบาต มีมุสลิมนำอาหารใส่ลงบาตรให้พระ, กรณีขึ้นรถทัวร์ โดยนั่งใกล้กับพระ เลยให้น้ำอาหารพระ และกรณีแม่เคยนับถือศาสนาอิสลาม แต่เมื่อเลิกกับสามีที่เป็นมุสลิม เลยกลับมานับถือศาสนาพุทธเหมือนเดิม แต่ลูกยังนับถือศาสนาอิสลาม ขณะที่แม่กำลังบวชชีอยู่ที่วัด ลูกได้นำอาหารเครื่องดื่มไปให้แม่
2. ผู้อำนวยการ แห่งหนึ่งเป็นมุสลิม ทางมหาลัยมีการทำพีธีสักการะรูปปั้นในมหาลัย ผู้อำนวยการร่วมไหว้รูปปั้นนั้นด้วย แต่ไม่ได้มีใจศรัทธารูปปั้นนั้นแต่อย่างใด แต่ในฐานะผู้อำนวยการ เพื่อให้เห็นว่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ ไม่แบ่งแยก
3. ทางสถานที่แห่งหนึ่งมีการทำพิธีประดิษฐานและบวงสรวง รูปปั้น โดยทำพิธีพราหมณ์ และเต็นท์หนึ่งก็มีพระทำพิธีทางพุทธ และอีกเต็นท์หนึ่งมีพิธีอิสลามโต๊ะลาแบได้ขอพรดุอาอ์ อ่านยาซีน รับประทานอาหารพร้อมซอง
4.มีการทำพิธีทำบุญกุโบร์ (อีซีกุโบร์) ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมของทุกปี และตรงกับชาวพุทธที่ทำพิธีอุทิศให้กับญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว เมื่อชาวมุสลิมทำบุญกูโบร์ ชาวพุทธในหมู่บ้านก็มาร่วมรับประทานอาหาร และเมื่อชาวพุทธทำบุญ มุสลิมก็ไปร่วมรับประทานอาหารด้วยเช่นกัน มีความรักสมัคคีกันช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างชาวพุทธและมุสลิมในหมู่บ้านนั้น


ตอบ

วะอลัยกุมุสสลาม ..
ปัญหาของคุณที่ถามมาข้างต้น ผมขอตอบในภาพรวมว่า ที่อิสลามไม่ห้ามและสามารถปฏิบัติได้ก็คืิอ การนั่งในรถทัวร์, รถไฟ หรือเครื่องบินใกล้พระสงฆ์แล้วสนทนากัน, การให้น้ำดื่มแก่พระสงฆ์, ลูกนำอาหารไปให้แม่ที่บวชชีอยู่ ..
อื่นจากสามประการนี้ เป็นพิธีกรรม "เฉพาะ" ของศาสนิกอื่นเขา ไม่มีปรากฏใน
แบบอย่างของอิสลามอันบริสุทธิ์ จึงไม่ใช่กิจการที่มุสลิมผู้ศรัทธาที่แท้จริง จะเข้าไปร่วมแจมกับพวกเขาด้วยประการทั้งปวงครับ ..
วัลลอฮุ อะอฺลัม ..




เปลี่ยนแปลง "วิธีการ" ในการเผยแพร่ หรือเปลี่ยนแปลง "หลักการ" และอุดมการณ์


ตอบโดย อ.ปราโมทย์  ศรีอุทัย

ถาม

อาจารย์ ค่ะ อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรกับคำพูดของอาจารย์มุรีด เป็นคำพูดที่ถูกต้องหรือไม่ อาจารย์เห็นด้วยไหม
จากเว็บ http://mtoday.co.th/?modules=article&id=4538 

คำพูดอาจารย์มุรีดมีดังนี้ค่ะ
 "ผมเองก็ยอมรับ (พูดสร้างความขัดแย้ง) ด้วยความเป็นคนหนุ่ม มีความรู้สึกว่า มีวิชาการ รู้ว่า ฮาดิษซอเหี้ยะไม่ซอเหี้ย ถ้าไม่ตามก็หลงทาง ก็อยากจะใช้วิชาการบอกผู้คน ก็ดำเนินมาคตลอด แต่มาเข้าใจว่า ไม่ประสบความสำเร็จ พูดเลยว่า ไม่ประสบความสำเร็จ" มูริด กล่าว พร้อมขยายความว่า เดินทางไปพูดที่ภาคใต้มานับ 10 ปี พูดเรื่องบิดอะห์ ซุนนะห์ มาตลอด ไม่มีจังหวัดที่ไม่ได้เดินทางไป ในป่าในเขาไปหมด

"ไปพูดที่ไหนมัสยิดแยกกัน สามีภรรยาหย่ากัน พูดที่ไหนมัสยิดแตกที่นั่น คนมาฟัง เป็นพันเป็นหมื่น พูดเอามัน ตอนเช้าคนก็เอาไปพูดในร้านน้ำชาให้คนฟังว่า ต้องซุนนะห์ แต่สุดท้าย คนคนที่พูดเรื่องซุนนะห์ ลูกสาวท้องก่อนแต่ง ปรากฎว่า นอกจากเรื่องบิดอะห์ เรื่องอื่นเละเทะหมด เละเทะกว่ากลุ่มที่เราไปด่า เขาว่าบิดอะห์เสียอีกคนที่ไปพูดในร้านน้ำชา เรื่องซุนนะห์ ที่บ้านเมียไม่คลุมฮิญาบ ลูกสาวไม่คลุมฮิญาบ อยู่บ้านดูละคร 3,5,7,9 เขาแทบไม่ผิด ผิด เรื่อง 3 วัน 7 วัน เรื่อง เมาลิด ที่เราไปด่าเขา แต่ยามาอะห์ตับลีก เราไปด่าเขา เขาไม่ผิดเลย ผิดแต่เรื่อง 3 วัน 7 วัน เรื่องเมาลิด" มูริด กล่าว

เขา กล่าวว่า การเน้นเรื่องบิดอะห์ เรื่องอื่นคนไม่รู้ ไม่ซึมซับความอิคลาส ไม่รู้เรื่องฮาลาล-ฮารอมด้วยซ้ำ ซึ่งถ้าหวนกลับไปได้ จะไม่ทำแบบเดิมอีก จะเปลี่ยนแนวทางใหม่ อาจารย์ท่านอื่น เขาไปถึงไหนต่อไหนแล้ว คนที่สอนเยาวชนเขาก้าวไปไกลแล้ว ดร.อิสมาแอล ลุตฟี จะปะกียา เขาสอนแบบไหน เขาไปไกล แต่คนด่าบิดอะห์ไม่ไปไหน ยังย่ำอยู่กับที่ คนไม่ฟังแล้ว เพราะเขารู้แล้ว เขาไม่ทำแล้ว ที่ทำอยู่เป็นสิ่งปลีกย่อย ที่เขาไม่รู้จริงๆ จึงบอกได้ว่า แนวทางนี้ ไม่ประสบความสำเร็จ

"บริบทของคนแตกต่างกัน บางคนอยู่ป่าอยู่เขา ตัดยาง บางคนออกประมง ไม่รู้เรื่องอะไร บางคนมาฟัง เราไปด่าว่า เขาเป็นชาวนรก ทำแบบนี้ลงนรก เขาบอกเขาชั่วแล้ว อยู่ในนรกแล้ว ก็ไม่มาฟัง มาฟังครั้งแรก เราบอกเป้นชาวนรก ต่อไปไม่มาฟังแล้ว การดะวะห์ตามแนวทางรอซูลลุลเลาะฮ์ ดีอยู่แล้ว คนไม่เหมือนกัน คนกรุงเทพฯ ไม่เหมือนคนภาคใต้ คนมลายู ก็ไม่เหมือนคนที่อื่น" มูริด กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ไม่เคยเปลี่ยนจุดยืน ยังเห็นว่า การจัดเมาลิด การทำบุญ 3 วัน 7 วงัน ยังผิดหลักการเหมือนเดิม แต่วิธีการคนละวิธีการ"มูริด กล่าวในที่สุด-Mtoday


ตอบ

ถ้าการเปลี่ยนแปลงที่ อ. พูด หมายถึงการเปลี่ยนแปลง "วิธีการ" เผยแพร่จากความก้าวร้าวมาเป็นความสุภาพนิ่มนวลขึ้น ผมก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีทั้งแก่ตัวอ .เองและแก่ตัวผู้ฟัง และผมเองก็ได้ใช้วิธีการนี้มานานแล้ว ...
 คำขวัญของชมรมมุสลิมสันพันธ์ภาคใต้ที่ว่า "ادع إلى سبيل ربك بالحكمة والموعظة الحسنة" ก็มาจากผม,
 การเตือนสติน้องๆหรือลูกๆจากมหาลัยมะดีนะฮ์และมหาลัยอื่นๆที่ไปขอคำแนะนำปรึกษาด้วยคำแนะนำที่ว่า "จงเรียนมาเพื่อจะสอนคน แต่อย่าเรียนมาเพื่อจะด่าคน" ก็เป็นคำเตือนของผม,
 หรือประโยคที่ว่า "จงยืนหยัดในหลักการ แต่จงนิ่มนวลในวิธีการ" ก็เป็นสิ่งที่ผมเคยเตือนใจพวกนักเรียนเหล่านี้มาแล้วทั้งนั้น ...
 เพราะฉะนั้น ถ้าสิ่งที่ อ. เปลี่ยนแปลงคือ "วิธีการ" ในการเผยแพร่อย่าให้รุนแรงก้าวร้าวเหมือนเดิม ผมก็ขอสนับสนุนและเห็นดีด้วย ...

แต่สิ่งที่ผมกลัวว่า อ.จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย คือ "หลักการ" และ "อุดมการณ์" ครับ ซึ่งถ้าหากเป็นจริงดังที่่อดีตแฟนคลับของ อ.บางคนพูดกัน ผมก็ขอบอกตรงๆว่า เสียใจและเสียดายครับ ...