อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ปัญหาการขายอาหารให้คนพุทธนำไปใส่บาตร


ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ ...

หลังจากผมนำคำตอบเรื่อง "การขายอาหารให้คนพุทธนำไปใส่บาตร" ลงในเฟส ก็มีผู้หวังดีหลายท่านส่งข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการใส่บาตรหรือการตักบาตรของชาวพุทธมาให้ผมพิจารณา ซึ่งผมก็ขอขอบคุณในความหวังดีของทุกท่านอย่างจริงใจมา ณ ที่นี้ครับ ...

ก่อนอื่น ขอเรียนว่า คำตอบของผมที่ว่า อนุญาตให้มุสลิม "ขาย" อาหารแก่คนพุทธเพื่อนำไปใส่บาตรได้นั้น ไม่ได้มีความหมายว่า อนุญาตให้มุสลิม "ใส่บาตร" ให้พระภิกษุได้ด้วย .. ดังที่บางคนนำไปพูดกันแพร่หลายขณะนี้ ซึ่งผมถือว่าผู้พูดมีเจตนาบิดเบือนข้อเขียนของผม ..
คงไม่ต้องถึงขั้นให้ผมท้าสาบานอีกนะว่า ผมไม่มีความคิดอย่างนั้นแม้เพียงกะผีกริ้นอยู่ในหัวใจ ...
เพราะกรณีการใส่บาตรให้พระภิกษุนี้ อย่าว่าแต่จะฟัตวาลงในเฟสว่าทำได้เลย แค่คิดผมก็ไม่เคยคิดจะอนุญาตให้มุสลิมคนใดกระทำด้วยซ้ำ ...

ยอมรับว่า คำตอบที่ผมตอบไปแล้วนั้น อาจหละหลวมหรือไม่ครอบคลุมไปนิดเพราะตั้งอยู่บนความเข้าใจ - ซึ่งก็คงเหมือนกับมุสลิมจำนวนมากที่เข้าใจ - ว่า เจตนารมณ์ของชาวพุทธในการใส่บาตรก็คือ การบริจาคอาหารให้พระภิกษุที่มาขอบริจาคอาหาร เพื่อนำไปรับประทานดำรงชีวิตเท่านั้น ไม่มีพิธีกรรมหรือความเชื่ออื่นใดนอกเหนือไปกว่านั้นเข้ามาร่วมด้วย ...
ผมจึงตอบไปว่า การขายอาหารให้ชาวพุทธในกรณีดังกล่าว ไม่ถือว่าขัดต่อหลักอะกีดะฮ์ของเราแต่ประการใด ...

คำตอบนี้ แม้จะไม่ผิด แต่ก็ไม่ครอบคลุมอย่างที่บอกแล้ว ..
ที่ผมไม่เน้นกับคำว่า "ใส่บาตร" อันเป็น "ภาษา" ของคนไทยพุทธโดยเฉพาะดังการท้วงติงของบางคน ก็เพราะผมอธิบายไปแล้วว่า การใส่บาตรหรือตักบาตรก็คือ การที่ชาวพุทธ - ไม่ว่าอาศัยอยู่ในประเทศใดในโลก - นำอาหารมามอบให้แก่พระสงฆ์ ด้วยการใส่ให้ในภาชนะ (บาตร)ที่พระสงฆ์นำมา ขณะที่ชาวพุทธประเทศอื่นจะไม่เรียกการให้อาหารพระสงฆ์ในลักษณะนี้ว่า "การใส่บาตร" เหมือนที่คนไทยพุทธเรียกแน่นอน ...

คำว่า "ตักบาตร" หรือ "ใส่บาตร" จึงเป็นเพียงวิวัฒนาการด้านภาษาของคนไทยเราเท่านั้น ไม่ใช่เป็นภาษาสากลของชาวพุทธทั้งโลก ...
ผมจึงให้ความสำคัญกับ "วิธี" การให้อาหารพระ มากกว่าให้ความสำคัญกับ "ภาษาศาสนา" ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามภาษาพูดของชาวพุทธแต่ละประเทศดังที่อธิบายมาแล้ว ...
อีกอย่างหนึ่ง เรื่อง"วิธีการให้" นี้ แม้กระทั่งตามหลักการศาสนาอิสลามของเราเอง ก็ไม่ได้จำกัดไว้เลยว่า "ให้" วิธีไหนใช้ได้ และ "ให้" วิธีไหนใช้ไม่ได้ ..
.
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าผู้ให้จะยื่นให้, จะโยนให้, จะวางไว้ให้ผู้รับมาหยิบเอาไปเอง หรือเอาไปใส่ในภาชนะที่ผู้ขอนำมา ก็ไม่ถือว่าผิดหลัก "การให้" ตามบัญญัติอิสลามข้อไหน ...
ขอเล่านิทานจริงสั้นๆเรื่องหนึ่งให้ฟัง ...

ขณะที่ผมเรียนอยู่ชั้น ป. 3 ป. 4 คุณพ่อและคุณแม่ของผมขายอาหารในเรือโดยสารขนาดกลางที่วิ่งระหว่างสงขลาและหัวไทรประจำทุกวัน ...

วันเสาร์และวันอาทิตย์ ผมจะติดตามท่านไปช่วยเสิร์ฟอาหารให้แก่ลูกค้าในเรือ รวมทั้งเก็บถ้วยจานมาล้างด้วย ..

เช้าวันหนึ่ง พระภิกษุรูปหนึ่งให้คนมาสั่งอาหารและให้ผมนำไปให้ท่าน ..
พอนำอาหารไปถึง ผมก็วางอาหารนั้นไว้ข้างหน้าของท่าน แต่ท่านไม่ยอมรับ ...

คนไทยพุทธที่เป็นคนมาสั่งอาหารบอกว่า "ประเคนให้ท่านซิ หนู"
ผมงงเพราะไม่เข้าใจคำว่าประเคน คนไทยพุทธคนนั้นจึงอธิบายว่า "ก็ส่งมันให้ถึงมือท่านซิ" ...

ผมจึงประเคน .. คือยื่นจานข้าวให้จนถึงมือพระภิกษุรูปนั้น ...

สรุปว่า "ประเคน" กับ"ใส่บาตร" ก็มีความหมายคล้ายๆกันในทางศาสนาพุทธ คำแรกหมายถึงส่งอาหารให้ถึงมือพระภิกษุ คำที่สองหมายถึงเอาอาหารใส่ในบาตรให้พระภิกษุ ...

ดังนั้น ถ้าจะเอาเป็นเอาตายกับภาษา การที่ผมยื่นอาหารให้ถึงมือพระในวันนั้น คงต้องมีปัญหาแน่นอน ...
ถ้าเราเรียกการกระทำของผมวันนั้นว่า "ยื่นอาหารให้พระ" ก็คงทำได้ เพราะการซื้อขายตามปกติไม่ว่าผู้ซื้อเป็นใคร เราก็ส่งให้ด้วยวิธีนี้อยู่แล้ว ...

แต่ถ้าเราเรียกการยื่นอาหารให้ถึงมือพระภิกษุวันนั้นว่า "ประเคนให้" ก็คงทำไม่ได้ เพราะ "ประเคน" เป็นภาษาศาสนาพุทธเหมือนกับคำว่า ใส่บาตร ...

ตกลง ทุกอย่างจึงมาติดชะงักอยู่ที่ "ภาษา" แทนที่จะคำนึงถึงข้อเท็จจริงของการกระทำว่าเป็นการกระทำอย่างเดียวกันที่ตามปกติก็ไม่ได้ขัดหลักการศาสนาอิสลามแต่ประการใด ...

ขอวกกลับมาพูดเรื่องข้อมูลที่มีผู้ส่งมาให้ผมอีกครั้ง ...

จากข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับเรื่องการใส่บาตรที่ผู้หวังดีส่งมา ทำให้ได้รับรู้ว่า บางครั้งการตักบาตรหรือใส่บาตร มีอะไรหลายอย่างมากกว่าที่ผมเคยเข้าใจ ซึ่งทำให้ผมต้องพิจารณาคำตอบของผมในเรื่องนี้ใหม่ ...

ก่อนอื่น โปรดอ่านข้อมูลหนึ่งที่มาจากชาวพุทธเอง ดังนี้ ...

การตักบาตร คือประเพณีอย่างหนึ่งที่ชาวพุทธปฏิบัติกันมาแต่สมัยพุทธกาล พระภิกษุจะถือบาตรออกบิณฑบาตเพื่อรับอาหารหรือทานอื่นๆ ตามหมู่บ้านในเวลาเช้า ผู้คนที่ออกมาตักบาตรจะนำของทำทานต่างๆ เช่น ข้าว อาหารแห้ง มาถวายพระ
ประเพณีนี้ชาวพุทธถือกันว่าเป็นการสร้างกุศล และถือว่าเป็นการแผ่ส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย โดยเชื่อกันว่าอาหารที่ถวายไปนั้นจะส่งถึงญาติผู้ล่วงลับด้วยเช่นกัน
วิธีการตักบาตร
การตักบาตรโดยทั่วไป
ผู้คนที่นำของที่เอามาตักบาตรจะยืนรออยู่ตรงทางที่พระภิกษุเดินผ่าน ส่วนมากของที่ผู้คนใช้นิยมตักบาตรเป็นหลักคือข้าว โดยก่อนที่พระภิกษุเดินทางมาถึงจะมีการนำถ้วยข้าวจบที่ศีรษะแล้วอธิษฐาน เมื่อพระภิกษุเดินทางมาถึงพระภิกษุจะหยุดยืนอยู่ตรงหน้าคนที่จะตักบาตรแล้วเปิดฝาบาตร ก่อนที่จะตักบาตรคนที่ตักบาตรจะต้องถอดรองเท้าก่อน จากนั้นคนที่ตักบาตรจะนำทานที่ตนมีถวายพระ เมื่อให้เสร็จแล้วพระจะให้พร คนที่ตักบาตรประนมมือรับพร (โดยปกติแล้วจะนิยมคุกเข่าหรือนั่งยองๆ ประนมมือ ซึ่งผิดตามพระธรรมวินัย เพราะจะทำให้พระอาบัติ) ขณะที่ให้พรคนที่ตักบาตรอาจจะมีการกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับ (การกรวดน้ำนั้นอาจจะทำขณะที่พระให้พรหรือหลังจากการตักบาตรเสร็จสิ้นก็ได้) หลังจากที่พระภิกษุให้พรแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี ...

หมายเหตุ
จากคำอธิบายข้างต้นทำให้พอจะมองเห็นได้ว่า ตามข้อเท็จจริงแล้ว การตักบาตรในสมัยพุทธกาล มีเป้าหมายเพียงการให้อาหารแก่พระภิกษุเพื่อประทังชีวิตเท่านั้น เพราะพระภิกษุไม่สามารถเก็บอาหารไว้รับประทานข้ามคืนได้ และไม่สามารถหุงหาอาหารเองได้ ...
ส่วนภาคปฏิบัติหรือความเชื่ออื่นๆ เช่นเชื่อว่า อาหารที่ใส่บาตรไปจะถึงไปยังวิญญาณผู้ตายก็ดี, การจบอาหารบนศีรษะก่อนจะใส่บาตรก็ดี, การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลขณะพระสงฆ์กำลังให้พรหรือหลังจากให้พรก็ดี มิใช่เป็นบทบัญญัติหรือคำสอนทางศาสนาพุทธ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความเชื่อและประเพณีปฏิบัติของชาวพุทธยุคหลังๆทั้งสิ้น ...

สรุปจากข้อมูลข้างต้น ...
1. การตักบาตร เป็น "ประเพณี" อย่างหนึ่งของชาวพุทธ
2. การตักบาตร ชาวพุทธถือว่าเป็นการแผ่ส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว
3. ชาวพุทธเชื่อกันว่า อาหารที่ถวายไปนั้นจะส่งถึงญาติผู้ล่วงลับด้วย
4. ผู้ใส่บาตรจะนำถ้วยข้าวจบที่ศีรษะแล้วอธิษฐาน
5. พระภิกษุจะให้พรคนที่ใส่บาตรให้
6. ขณะที่พระภิกษุให้พรหรือหลังจากให้พร คนที่ตักบาตรอาจจะมีการกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับ .
..
จากผลสรุป 6 ประการข้างต้น ประการแรกก็เป็นที่รับรู้กันโดยปราศจากข้อขัดแย้งว่า การใส่บาตรนั้น เป็นประเพณีปฏิบัติของชาวพุทธ ซึ่งคงไม่มีมุสลิมที่เข้าใจศาสนาคนใดลอกเลียนแบบไปปฏิบัติแน่นอน เพราะการลอกเลียนแบบพิธีกรรมเฉพาะของศาสนาอื่น เป็นสิ่งที่ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวห้าม ...

ข้อสอง - คือการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย - ก็ไม่ใช่ปัญหาเท่าไร เพราะมุสลิมเราเองก็ยังมีเยอะแยะที่เลี้ยงอาหารเพื่ออุทิศผลบุญให้แก่ผู้ตาย ...

เพราะถ้าเราขายอาหารให้คนพุทธไปใส่บาตรไม่ได้ด้วยเหตุผลข้อนี้ เราก็ขายอาหารให้มุสลิมที่ซื้ออาหารไปเลี้ยงเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้คนตายไม่ได้ ด้วยเหตุผลข้อเดียวกัน ...
ส่วนข้อห้า คือภิกษุผู้รับอาหารอวยพรให้แก่ผู้ให้ อันนี้ก็ไม่แตกต่างจากมุสลิมเราที่ผู้รับเลี้ยงอาหาร ขอดุอาให้แก่ผู้เลี้ยงอาหารเราเช่นเดียวกัน .
..
แต่ที่ผมติดใจมากที่สุดก็คือ ข้อ 3, ข้อ 4 และข้อ 6
....
เพราะทั้ง 3 ข้อนี้ เป็นทั้ง "ภาคปฏิบัติ" และ "ความเชื่อ" (อะกีดะฮ์) ที่ขัดต่อหลักการอิสลามทั้งสิ้น ...
เพราะฉะนั้น ผมจึงขอเพิ่มเติมคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
...
(1). ถ้าชาวพุทธที่ซื้ออาหารไป นำอาหารนั้นไปให้แก่พระภิกษุด้วยการใส่บาตร เพื่อให้นำไปรับประทาน(ฉัน)เป็นการประทังชีพอย่างเดียว โดยไม่มีความเชื่อและภาคปฏิบัติที่ค้านต่อหลักการอิสลามเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในขณะใส่บาตร ผมก็ยังยืนยันคำตอบเดิมว่า เราขายอาหารให้เขาให้ได้ครับ เพราะถือว่า การขายให้ในลักษณะนี้และการปฏิบัติของเขาในลักษณะนี้ไม่มีข้อใดค้านต่อบทบัญญัติของเรา ..

(2). ในกรณีที่ผู้ขายอาหารมั่นใจหรือรู้แน่ชัดว่า ชาวพุทธที่ซื้ออาหารไปเพื่อใส่บาตรให้พระภิกษุนั้น มีการปฏิบัติหรือมีความเชื่อหรือดังข้างต้น เช่นเชื่อว่า อาหารที่ใส่บาตรไปนั้นจะถึงไปยังวิญญาณญาติพี่น้องที่ตายด้วย, หรือก่อนจะใส่บาตร เขาจะเอาอาหารนั้นวางจบบนศีรษะแล้วอธิษฐาน หรือขณะพระภิกษุให้พร ผู้ใส่บาตรจะกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับ ...
อย่างนี้ ผมเห็นว่า เราจะขายอาหารให้ไม่ได้ .. เหมือนที่ผมอธิบายไปแล้วว่า เราจะขายเป็ดไก่ให้แก่ผู้ที่เรารู้ชัดเจนแล้วว่าจะนำไปเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษหรือบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้ เพราะการขายให้ไปเท่ากับเราส่งเสริมหรือสนับสนุนสิ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติของอิสลาม ...

(3). ในกรณีผู้ขายอาหารรู้เพียงว่า ผู้ซื้อนำไปใส่บาตรให้พระภิกษุ แต่ไม่ทราบว่า ผู้ซื้อจะมีการปฏิบัติหรือมีความเชื่อที่ขัดต่อบทบัญญัติของอิสลามตามข้อใดข้อหนึ่งจาก 3 ข้อนั้นในตอนใส่บาตรหรือไม่ ตามหลักการแล้ว อนุญาตให้ขายให้ได้ เพราะอิสลามไม่มีบทบัญญัติให้ผู้ขายไปกำหนดเงื่อนไขหรือรับรู้ว่า สิ่งที่เราขายไปนั้น ผู้ซื้อจะนำไปทำอะไร, ลักษณะใดบ้าง
(4). แต่ถ้าเราค่อนข้างมั่นใจ, สงสัย หรือเกรงว่า ผู้ซื้อจะมีการปฏิบัติข้อใดข้อหนึ่งจาก 3 ประการนั้น ทางที่ดีเราก็ควรระงับจากการขายให้ เพื่อหลีกเลี่ยงจากการกระทำสิ่งชุบฮาต (คือสงสัยหรือคลุมเคลือว่าทำได้หรือไม่) ดังคำสั่งของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ..
ผมเองไม่ใช่คนแถ, รั้น, หรือเชื่อมั่นตัวเองสูงจนไม่รับฟังคำแนะนำของใคร ถ้าพิจารณาเห็นว่า คำแนะนำนั้นมีประโยชน์และถูกต้อง ผมก็ยินดีและพร้อมที่จะรับไปปฏิบัติทันทีครับ ...

วัลลอฮุ อะอฺลัม ...





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น