อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

คนต่างศาสนิกซื้อของไปใส่บาตรพระ


ตอบโดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ตอบคำถามคุณ Muqlis Usmaniyah

อาจารย์ครับ มีคำถามนิดหน่อยนะครับ
1.ถ้ากาเฟรมาซื้อข้าวร้านเราเป็นประจำ โดยบางวันบอกว่าจะไปใส่บาตรพระ แบบนี้เราขายได้ไหมครับ ? บางวันเขาก็มาซื้อเฉย ๆ ไม่บอกอะไรด้วย แบบนี้ขายได้ไหม ?
2.มีบริษัทที่มีรายได้จากการขายของฮารอม แล้วบริษัทเอางบที่มาจากกำไรการขายสินค้าน้ันมาซื้อของร้านเราไปเลี้ยงพนักงาน แบบนี้ขายให้ได้ไหมครับ ?
ญาซากัลลอฮูคอยรอนครับ อ. ^^ ขออัลลอฮตอบแทนครับ

ตอบ .. (1). เรื่องการใส่บาตรของชาวพุทธก็คือ การที่ชาวบ้านซึ่งนับถือศาสนาพุทธ นำอาหารใส่ลงไปในภาชนะที่มีรูปทรงกลมรีของพระภิกษุเพื่อให้นำไปฉัน(รับประทาน) ที่วัดกับพระลูกวัดของท่าน ซึ่งจากจุดนี้ถ้าเราไม่ไปยึดติดกับภาษาศาสนาจนเกินไป - เช่นคำว่า "ใส่บาตร" ซึ่งมีความหมายดังที่กล่าวมาแล้วก็ดี, หรือคำว่า "ฉัน" ซึ่งแปลว่า กิน, ก็ดี - จะเห็นได้ว่า การใส่บาตรก็เป็นแค่วิถีชีวิตประจำวันในเรื่องการให้อาหารแก่พระสงฆ์ของชาวพุทธเท่านั้น ไม่ใช่เป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเชื่อหรืออะกีดะฮ์แต่ประการใด เพียงแต่รูปแบบการให้อาจจะแตกต่างจากการให้ตามปกติไปบ้าง ผมจึงเห็นว่า ไม่มีปัญหาประการใดที่เราจะขายข้าวสารหรืออาหารสำเร็จรูปใดๆให้แก่คนพุทธเพื่อนำไปใส่บาตรให้แก่พระสงฆ์ครับ ...

ข้อนี้ต่างกับการที่เราเชือดเป็ดหรือไก่ แล้วนำไปขายให้แก่คนต่างศาสนิก ที่เรารู้ชัดเจนแล้วว่าเขาจะนำเป็ดหรือไก่นั้นไปเส้นไหว้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษหรือบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของเขา อันนี้ผมก็เห็นด้วยกับทัศนะที่ว่ามุสลิมขายให้ไม่ได้ เพราะเท่ากับไปสนับสนุนความเชื่อที่ขัดกับหลักอะกีดะฮ์ของอิสลามครับ ... วัลลอฮุ อะอฺลัม ...

(2). ส่วนเรื่องการที่บุคคลหรือบริษัทห้างร้านนำเงินที่ได้มาจากธุรกิจที่หะรอมตามหลักการอิสลาม เช่นรายได้จากจากการขายเหล้าขายเบียร์, รายได้จากการเล่นการพนัน, รายได้จากดอกเบี้ย เป็นต้น มาซื้อของที่ร้านของเรา นั้น ...
ขอเรียนว่า แม้ธุรกิจเหล่านั้นจะขัดต่อหลักการศาสนาอิสลามของเรา แต่ก็ไม่ได้ขัดต่อหลักการตามความเชื่อของเขา จึงถือว่า รายได้นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของเขาโดยชอบธรรม "ตามความเชื่อของเขา" ...
อีกประการหนึ่ง เรื่องผิด - ถูก เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "การกระทำ" ของคนซึ่งเป็นมุกัลลัฟ ไม่ใช่อยู่ที่ "เม็ดเงิน" ซึ่งเป็นวัตถุ เพราะเงินเป็นเพียงสิ่งที่ถูกสมมุติให้มีค่าขึ้นมาเพื่อใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเท่านั้น ..
ถ้าหาก "ความผิด" จากการกระทำของคนมันติดอยู่ที่ตัว "เม็ดเงิน" ด้วย ผมเชื่อว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ในกระเป๋าของเราทุกวันนี้ก็คงเป็นเงินที่ไม่ฮาล้าล เพราะตามข้อเท็จจริง มันจะต้องผ่านมาจากธุรกิจที่ไม่ฮาล้าล เช่น การขายหมู, ขายเหล้า, ขายเบียร์, การพนัน, ดอกเบี้ย, ฯลฯ มาไม่รู้กี่ทอดต่อกี่ทอดแล้ว ...
เวลาเราไปเบิกเงินที่ฝากไว้ที่ธนาคารก็เหมือนกัน ธนาคารไม่ได้เอางินที่เรานำไปฝากครั้งแรกมาให้แก่เราหรอก แต่จะเอาเงินที่ได้มาจากธุรกิจของธนาคารที่ไม่ฮาล้าลสำหรับเรา คือ "ดอกเบี้ย" นั่นแหละ มาทดแทนให้แก่เรา ..
และ .. สมมุติว่า เราไปซื้อของบางอย่างที่ร้านคนต่างศาสนิก .. ระหว่างที่เรายืนรอเงินทอนอยู่ ก็เห็นกับตาว่า มีคนมาซื้อเหล้า แล้วเจ้าของร้านก็เอาเงินที่คนจ่ายค่าเหล้านั่นแหละมาทอนให้เรา ..
ถามว่า เราจะปฏิเสธ ไม่รับเงินทอนดังกล่าวโดยอ้างว่า เพราะ "ตัวเงิน" นั้นไม่ฮาล้าลหรือครับ ? ...
สรุปแล้ว ในทัศนะผม การขายสินค้าใดๆให้แก่บริษัทห้างร้านดังที่คุณถามมา จึงเป็นที่อนุมัติครับ ...
หมายเหตุ .. ยกเว้นในกรณีที่เรา "รู้แน่ชัด" ว่า เงินที่มีผู้นำมาซื้อสินค้าที่ร้านของเราเป็นเงินที่เขาปล้นหรือโจรกรรมมา อย่างนี้เราคงขายสินค้าใดให้เขาไม่ได้ เพราะเงินที่เขานำมาซื้อนั้นไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของเขา แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของคนอื่น เขาจึงไม่มีสิทธิ์นำเงินนั้นไปใช้จ่ายใดๆได้ เพราะขาดเงื่อนไขการซื้อขายที่ว่า ราคาและสินค้า จะต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อและผู้ขาย ...
หรือมุสลิมเรา นำเงินที่ได้จากธุรกิจหะรอมมาเป็นค่าใช้จ่ายในการทำหัจญ์ .. แม้ว่าเขาจะนำเงินนั้นไปจ่ายค่าเครื่องบินหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆได้ก็ตาม หรือแม้ว่าเขาจะทำหัจญ์ถูกต้องตามรุก่นและเงื่อนไขการทำหัจญ์ทุกประการก็ตาม แต่หัจญ์ของเขาคงจะไม่ถูกตอบรับจากพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ทั้งนี้มิใช่เพราะ "เม็ดเงิน" ที่ใช้จ่ายนั้นไม่บริสุทธิ์ แต่เป็นเพราะธุรกิจที่เขาได้เงินมาทำหัจญ์เป็น "ธุรกิจที่ไม่บริสุทธิ์" ...
ท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะละยฮิวะซัลลัมกล่าวไว้มีความหมายว่า "แท้จริง พระองค์อัลลอฮ์ทรงเป็นผู้บริสุทธิ์ และพระองค์จะไม่ทรงรับนอกจากสิ่งบริสุทธิ์เท่านั้น" .. วัลลอฮุ อะอฺลัม .


ถาม

อาชีพค้าขาย (เป็ด-ไก่) ส่วนใหญ่ขายให้ต่างศาสนิก พวกเขาจะซื้อไปทำอะไรเป็นสิทธิ์ของเขาไม่ใช่หรือครับ ถึงแม้เราจะรู้ก็ตาม เพราะเรามองเป็นเรื่องมุอามาลาต แต่ถ้าเรามีเจตนาขายเป็นการเฉพาะเจาะจงซึ่งเราไม่ได้ขายเป็นอาชีพ เช่นขายในวันสาทจีน ตรุษจีน ฯลฯ การขายแบบนี้ห้าม อ.ช่วยแนะนำด้วยครับ

ตอบ

อาชีพค้าขาย (เป็ด-ไก่) ส่วนใหญ่ขายให้ต่างศาสนิก พวกเขาจะซื้อไปทำอะไรเป็นสิทธิ์ของเขาไม่ใช่หรือครับ .. ข้อความตรงนี้ถูกต้องแน่นอนครับ เพราะผู้ขายไม่มีสิทธิ์ไปกำหนดให้ผู้ซื้อปฏิบัติตามความต้องการของตัวเองได้ เมื่อผู้ขายไม่ทราบเจตนาของผู้ซื้อการซื้อขายนั้นก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าผู้ขายทราบเจตนาของผู้ซื้อแน่ชัดแล้วว่า จะซื้อสินค้าไปเพื่อนำไปทำสิ่งที่ผิดหลักการ ตัวอย่างเช่น เราเปิดร้านขายปืน แล้วผู้ซื้อบอกตรงๆว่าจะซื้อปืนสักกระบอกเพื่อเอาไปปล้นหรือไปยิงใครสักคน อย่างนี้เราควรขายปืนให้เขาเพื่อให้เขาเอาไปปล้นหรือฆ่าคนตามที่บอกได้ไหมครับ ? ...

ถาม

อมาอัฟครับ ไม่เข้าใจการเปรียบเทียบซึ่งโดยธรรมชาติของสินค้ามันต่างกัน อาวุธกับอาหารมันไม่น่าจะเอามาเปรียบเทียบวัตถุประสงค์การซื้อขายกันได้นะครับ อ.มีตัวบทห้ามขายเพราะพิธีกรรมเพื่ออ้างอิงไหมครับ

ตอบ

ผมไม่ได้เปรียบเทียบเป็ดไก่กับปืน แต่ผมเปรียบเทียบ "เจตนาที่ชัดเจน" ของผู้ซื้อในทั้งสองกรณี เอาเป็นว่า ถ้าคุณเห็นว่า เราขายปืนให้แก่ลูกค้าที่บอกเราว่าจะเอาไปปล้นหรือยิงคนได้ เราก็ขายเป็ดไก่ให้ลูกค้าที่บอกเราว่า จะเอาเซ่นไหว้บรรพบุรุษหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ แต่ถ้าคุณตอบว่า เราขายปืนให้ในกรณีนี้ไม่ได้ เราก็ขายเป็ดไก่ให้ลูกค้าในกรณีนี้ไม่ได้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ เท่ากับเราสนับสนุนสิ่งผิดหรือสิ่งต้องห้ามตามหลักการครับ .....

สรุปแล้ว ผู้ขายไม่มีสิทธิ์กำหนดให้ผู้ซื้อทำตามที่ต้องการ แต่ผู้ขายมีสิทธิ์ "ไม่ขาย" ได้ ถ้าเห็นว่าผู้ซื้อจะนำสินค้าไปทำสิ่งที่ขัดกับบทบัญญัติมิใช่หรือครับ

ถาม

 ใส่บาตร มันคนละเรื่องกับ ให้พระกินเฉยๆ ไหมครับอาจารย์
.
ตอบ

ใช่ครับ แต่เราแค่ขายอาหารอันเป็นธุรกิจของเรา เราไม่ได้ใส่บาตรให้พระเองนี่ครับ และผมก็บอกแล้วว่า ถ้าเราไม่ยึดติดกับภาษาศาสนาเสียอย่าง ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เป้าหมายจริงๆของชาวบ้านที่ใส่บาตรก็คือ บริจาคหรือให้อาหารแก่พระภิกษุนำไปรับประทานเพื่อความอยู่รอดของชีวิตตามวิถีแห่งการดำรงชีวิตของมนุษย์และสัตว์โลกทั่วไป ไม่ใช่เพื่อนำอาหารนั้นไปทำพิธีกรรมทางศาสนา เพียงแต่ว่า "วิธีการ" ให้อาหารของเขาอาจจะแตกต่างจากการให้แบบธรรมดาไปบ้างคือไม่ได้ยื่นอาหารให้โดยตรง แต่นำอาหารนั้นใส่ในบาตรของพระภิกษุไปเลย ซึ่งเราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแม้แต่น้อยในส่วนนี้ .. และเป็นธรรมดาที่ผู้ให้ก็ย่อมหวังผลบุญจากการให้นั้นเหมือนพวกเราเหมือนกัน ...

พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงกล่าวในซูเราะฮ์อัล-มาอิดะฮ์ อายะฮ์ที่ 2 ว่า ولا تعاونوا على الاثم والعدوان นี่คือหลักฐานของผมครับ ...

 หมายเหตุ .. ถ้าคุณเห็นว่าคำตอบหรือคำแนะนำของผมไม่ถูกต้อง คุณก็มีสิทธิ์ปฏิบัติไปตามสิ่งที่คุณเห็นว่าถูกต้องได้ครับ ไม่มีปัญหาอะไร เพียงแต่ผมมีมุมมองจากอายะฮ์เมื่อตะกี้อย่างไร ผมก็ตอบไปตามมุมมองของผมอย่างนั้น ...






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น