ตอบโดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย
ถาม
อัสลามูอาลัยกุม อาจารย์ ดิฉันอยากทราบว่า ผู้ที่ทำการปรุงอาหาร โดยผู้นั้นมีหะดัษใหญ่ อาหารของเขาถือวาหาลาลไหมค่ะ
และกรณีสัตว์ที่นำมาทำอาหารถูกต้องตามบัญญัติศาสนา เครื่องปรุงก็หาลาล ภาชนะทำอาหารก็ของมุสลิม แต่ผู้ทำการปรุงเป็นคนต่างศาสนิก อาหารนั้นรับประทานได้ไหมค่ะ
ตอบ
วะอลัยกุมุสสลาม ... ทั้ง 2 กรณีที่คุณถามมานั้น ผมไม่เคยเจอหลักฐานห้ามผู้ที่มีหะดัษใหญ่ปรุงอาหาร หรือห้ามคนต่างศาสนิกปรุงอาหารที่องค์ประกอบทุกอย่างของมันฮาล้าลให้มุสลิมเราทานเลยครับ
ในอดีตผมเองก็เคยมีเด็กรับใช้ที่บ้านที่ไม่ใช่มุสลิม และภรรยาผมก็สอนเธอเรื่องวิธีล้างอาหาร, วิธีปรุงอาหารตามหลักการอิสลามให้เธอรับรู้ หลังจากนั้นเธอก็รับหน้าที่เป็นแม่ครัวที่บ้านผมมาตลอดร่วม 20 ปีแม้กระทั่งเดือนรอมะฎอน เธอก็ลุกขึ้นหุงข้าวซะฮูรฺเองครับ ...
ถาม
อาจารย์ค่ะ กรณีที่มุสลิมซื้อลิขสิทธิ์ร้านค้า หรือเป็นลูกจ้างของร้านคนต่างศาสนิก แต่สูตรของอาหาร วัตถุเครื่องปรุงต้องมาจากเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือเจ้าของร้านคนต่างศาสนิก ที่ทำสำเร็จรูปพร้อมทำให้สุกหรือใส่แป้นพิมพ์อยู่แล้ว โดยที่เราไม่ทราบว่าองค์ประกอบในเครื่องปรุงมีอะไรบ้าง หะลาลหรือไม่ เราเพียงนำมันมาทำให้สุก หรือทำให้พร้อมที่จะขาย อย่างนี้ผู้บริโภคที่เป็นมุสลิม ควรระมัดระวังอย่างไรบ้างค่ะในเรื่องนี้
ตอบ
สำหรับผม ถ้าไม่แน่ใจว่า ร้านอาหารของคนต่างศาสนิกนั้น ขายอาหารที่ฮาล้าลจริงๆสำหรับมุสลิม ผมก็จะไม่สมัครเป็นลูกจ้างในร้านนั้น หรือเข้าไปรับประทานอาหารในร้านนั้นเด็ดขาดครับ เพราะถือว่า งานที่จะทำในร้านอาหารนั้นหรือตัวอาหารในร้านนั้น เป็นสิ่งชุบฮัต (สิ่งคลุมเคลือ) ซึ่งมุสลิมควรหลีกเลี่ยงตามคำสั่งของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมครับ ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น