อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การเข้าห้องน้ำโดยปราศจากนุ้งผ้าขาวม้า



ตอบโดย อ.ปราโมทย์  ศรีอุทัย

ตอบคำถามคุณ Mareeyah Si‎

อัสลามมูอาลัยกุม ค่ะ อาจารย์
ดิฉันมีคำถาม พอดีไปอ่านเจอหะดิษบทหนึ่งระบุว่า "ผู้ใดศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์ เขาจงเข้าห้องน้ำโดยมีผ้านุ่ง" บันทึกโดย อันนะซาอีย์ ดิฉันอยากทราบ ตามหะดิษหมายความว่าอย่างไร สถานะหะดิษเศาะฮีห์หรือไม่ ค่ะ

ตอบ .. วะอลัยกุมุสสลามครับ ...
หะดีษเรื่อง اَلْحَمَّامُ หรือ "ห้องอาบน้ำ" เท่าที่ผมตรวจสอบดูแล้ว มีบันทึกอยู่ในตำราหะดีษหลายเล่ม, หลากหลายสำนวนและหลายเนื้อหา, โดยรายงานมาจากเศาะหาบะฮ์หลายท่าน .. มีทั้งสายรายงานที่หะซันและสายรายงานที่เฎาะอีฟ ...

ผมคงไม่วิเคราะห์สถานภาพของหะดีษเหล่านั้นทั้งหมดและความหมายของมันลงตอบในเฟส เพราะจะยืดยาวเกินไป แต่จะขอ "สรุป" เนื้อหาของมันตามที่บรรดานักวิชาการได้กล่าวไว้แล้วดังต่อไปนี้ ...

(1). หะดีษที่คุณอ้างถึง เป็นหะดีษซึ่งถูกบันทึกโดยท่านอัน-นซาอีย์ หะดีษที่ 399, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 2953. ท่านอะห์มัด เล่มที่ 3 หน้า 339, ท่านอัล-หากิม เล่มที่ 4 หน้า 288 .. โดยรายงานมาจากท่านญาบิรฺ บินอับดุลลอฮ์ ร.ฎ....
สถานภาพหะดีษบทนี้ เป็นหะดีษหะซัน ...

(2). จุดประสงค์ของคำว่า "اَلْحَمَّامُ" หรือ "ห้องอาบน้ำ" ที่ห้ามเข้าไปใช้โดยปราศจากผ้าขาวม้าในหะดีษบทนี้หรือบทอื่น มิได้หมายถึงห้องน้ำส่วนตัวที่มีแทบทุกบ้านในปัจจุบัน ...
แต่หมายถึง "ห้องอาบน้ำสาธาณะ" หรือ "ห้องอาบน้ำรวม" สมัยก่อนที่มีคนเข้าไปอาบน้ำร่วมกัน คราวเดียวกัน ทีละหลายคน ...
เพราะห้องอาบน้ำสาธารณะดังกล่าว ผู้อาบน้ำทุกคนสามารถมองเห็นเอาเราะฮ์(สิ่งควรสงวน)ของกันและกันได้ ถ้าไม่มีอะไรปกปิด เพราะฉะนั้นอิสลามจึงกำหนดว่า การเข้าห้องอาบน้ำดังกล่าวจะต้องนำผ้าขาวม้าหรือผ้าอะไรก็ได้ ติดตัวเข้าไปด้วยเพื่อปกปิดเอาเราะฮ์ ...

(3). แต่ถ้าแน่ใจว่าการอาบน้ำในห้องน้ำสาธารณะ ปลอดจากการมองเห็นเอาเราะฮ์ของกันและกัน ก็ไม่มีปัญหาที่จะเข้าไปอาบน้ำในห้องน้ำนั้นโดยปราศจากผ้าปกปิด ...

ท่านซัยยิดซาบิกได้กล่าวในหนังสือ "ฟิกฮุซซุนนะฮ์" เล่มที่ 1 หน้า 65 ว่า ..

لاَ بَأْسَ بِدُخُوْلِ الْحَمَّامِ إِنْ سَلِمَ الدَّاخِلُ مِنْ النَّظَرِ إلَى الْعَوْرَاتِ، وَسَلِمَ مِنَ نَظَرِ النَّاسِ عَوْرَتَهُ

"ไม่เป็นไรในการเข้าห้องน้ำนั้น ถ้าผู้ที่เข้าไป(ใช้บริการในห้องน้ำ) ปลอดจากการมองดูเอาเราะฮ์ใดๆ(ของผู้อื่น) และปลอดจากการที่ผู้อื่นมองเห็นเอาเราะฮ์ของเขา" ..
.
ท่านซัยยิดซาบิก ยังกล่าวในหน้า 66 ของหนังสือเล่มเดียวกันว่า ...

أَمَّا لَوِ اغْتَسَلَ عُرْيَانًا بَعِيْدًا عَنْ أَعْيُنِ النَّاسِ فَلاَ مَانِعَ عَنْهُ

"อนึ่ง สมมุติถ้าเขาเปลือยกายอาบน้ำโดยห่างไกลจากสายตาของผู้อื่น ก็ไม่มีข้อห้ามแต่ประการใดสำหรับเขา" ...
.
โดยนัยนี้ การเปลือยกายอาบน้ำในห้องน้ำส่วนตัวที่บ้าน จึงเป็นที่อนุญาต ...

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เป็นเรื่องของผู้ชายโดยเฉพาะ ...

(4). อนึ่ง สำหรับสตรี นักวิชาการเห็นพ้องกันว่า ไม่อนุญาตให้นางเข้าห้องอาบน้ำสาธารณะโดยไม่มีข้อแม้ .. คือ ไม่ว่าจะมีผ้าปกปิดหรือไม่ก็ตาม, ไม่ว่าจะปลอดจากสายตาผู้ใดมองเห็นเอาเราะฮ์ของนาง หรือปลอดจากการที่นางจะมองเห็นเอาเราะฮ์ของผู้ใดก็ตาม ...
ท่านอัช-เชากานีย์ ได้กล่าวอธิบายในหนังสือ "นัยลุลเอาฎอร์" ว่า ..
"หะดีษบทนี้ (หมายถึงหะดีษที่ผมกล่าวถึงหลังจากนี้) คือหลักฐานว่า อนุญาตให้ผู้ชายเข้า(ห้องอาบน้ำสาธารณะ)ได้ ภายใต้เงื่อนไขว่า จะต้องนุ่งผ้าขาวม้า และห้ามเข้าไปถ้าไม่มีผ้าขาวม้า, และ(หะดีษนี้ยังเป็นหลักฐาน) ห้ามสตรี (ใช้บริการห้องอาบน้ำสาธารณะ)โดยปราศจากเงื่อนไข, ส่วนการยกเว้นให้(สตรี)เข้าไปได้หากมีความจำเป็น ก็ไม่มีความชัดเจนจากกระแสรายงานใดที่พอจะอ้างเป็นหลักฐานได้ ดังนั้น ตามรูปการณ์แล้ว พวกนางจึงถูกห้าม(จากการใช้บริการห้องอาบน้ำสาธารณะ)โดยปราศจากเงื่อนไข" ...

ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ ได้บันทึกรายงานมาจากท่านญาบิรฺ ร.ฎ. .. จากท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมว่า
...
وَمَنْ كَانَ يُؤْمِنُ بِاللهِ وَالْيَوْمِ اْلآخِرِ فَلاَ يُدْخِلْ حَلِيْلَتَهُ الْحَمَّامَ

"และผู้ใดที่มีศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์ ก็จงอย่ายอมให้หะลีละฮ์ของเขา (หมายถึงภรรยาของเขา) เข้าห้องน้ำนั้น" ....

ความหมายของ "ห้องอาบน้ำ" ตามข้อห้ามในหะดีษบทนี้ บ่งบอกความหมายชัดเจนว่า หมายถึงห้องอาบน้ำสาธารณะ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ท่านศาสดาจะห้ามสามีไม่ยินยอมให้ภรรยาเข้าห้องอาบน้ำส่วนตัวที่บ้าน ...

ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. ได้กล่าวว่า ...
سَمِعْتُ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَقُوْلُ : مَا مِنِ امْرَأَةٍ تَضَعُ ثِيَابَهَا فِىْ غَيْرِ بَيْتِ زَوْجِهَا إِلاَّ هَتَكَتِ السِّتْرَ بَيْنَهَا وَبَيْنَ رَبِّهَا

"ฉันได้ยินท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะอลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า .. ไม่มีสตรีใดที่เปลื้องเครื่องแต่งกายของนางออกในที่อื่นที่มิใช่บ้านสามีของนาง เว้นแต่นางได้ทำลายสิ่งปกปิดความอายระหว่างตัวนางกับพระผู้อภิบาลของนางแล้ว" ...

(บันทึกโดย ท่านอบูดาวูด, ท่านอัตติรฺมีซีย์ ท่านอิบนุมาญะฮ์ ท่านอัด-ดาริมีย์ ท่านอะห์มัด และผู้บันทึกท่านอื่นๆ) ..

สรุปแล้ว สตรีจึงถูกห้ามจากการเข้าไปอาบน้ำในห้องน้ำสาธารณะ หรือเปลื้องเสื้อผ้าที่บ้านผู้อื่นจากบ้านของนางหรือบ้านสามีของนางเองอย่างเด็ดขาด ...
หรือแม้กระทั่งการอาบน้ำในห้องน้ำส่วนตัวที่บ้าน นักวิชาการก็ยังห้ามสตรีเปลือยกายอาบน้ำด้วย ...

ท่านมุบาร็อกปูรีย์ ได้กล่าวในหนังสือ "ตุห์ฟะตุ้ลอะห์วะซีย์" เล่มที่ 8 หน้า 87 ว่า ...
"ไม่สมควรสำหรับสตรีที่จะเปิดเผยเอาเราะฮ์ของนาง แม้นางจะอยู่ตามลำพัง .. เว้นแต่นางอยู่ใกล้ (คือ เพื่อ) สามีของนางเท่านั้น ดังนั้น เมื่อสตรีได้เปิดเผยอวัยวะต่างๆของนางภายในห้องน้ำโดยไม่จำเป็น ก็หมายถึงนางได้ทำลายสิ่งปกปิดความอายที่พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงใช้นางกระทำเสีย" ...
วัลลอฮุ อะอฺลัมครับ ...

หมายเหตุ
แม้จะไม่มีหะดีษบทใด ถูกต้องเพียงพอจะมายกเว้นสตรีจากการห้ามเข้าห้องอาบน้ำสาธารณะในขณะจำเป็นก็จริง แต่กฎทุกกฎย่อมมีข้อยกเว้น ...
ผมจึงเห็นว่า ในภาวะฉุกเฉินจริงๆก็คงอนุโลมให้สตรีเข้าไปใช้บริการในห้องน้ำดังกล่าวเป็นกรณีพิเศษ หรือเปลือยกายในห้องน้ำส่วนตัวที่บ้านได้ ภายใต้กฎเกณฑ์ของวิชาอุศู้ลุลฟิกฮ์ที่ว่า ...

اَلضَّرُوْرَةُ تُبِيْحُ الْمَحْظُوْرَاتِ

"ความฉุกเฉิน จะทำให้อนุโลมสิ่งต้องห้ามได้" ...

วัลลอฮุ อะอฺลัม ...


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น