อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2559

บรรทัดฐานระหว่างบิดอะฮ์กับมะศอลิห์ มุรฺสะละฮ์ (ตอนที่ 2)


โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย ...

เมื่อมะศอลิห์มุรฺสะละฮ์ คือสิ่งดีที่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมไม่ทำเพราะมีอุปสรรค ...
การที่คนยุคถัดมาเช่น - เศาะหาบะฮ์ - ได้ทำ .. หรือรื้อฟื้นสิ่งนั้นขึ้นมาทำหลังจากอุปสรรคหายไปแล้ว จึงเป็นที่อนุญาต .. ดังตัวอย่างที่จะถึงต่อไป ..
ข้อนี้ต่างกับเรื่องบิดอะฮ์ชัรฺอียะฮ์ - ที่ท่านรอซู้ลฯไม่ทำทั้งๆที่ไม่มีอุปสรรค - การมาทำสิ่งนี้ทีหลังถือว่าเป็นความหลงผิดและเป็นเรื่องต้องห้าม, ...
เพราะการที่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม "เจตนา" ไม่ทำสิ่งใดที่เคยมีสาเหตุประเด็นส่งเสริมเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยของท่านทั้งๆที่ไม่มีอุปสรรค ย่อมบ่งบอกความหมายชัดเจนอยู่แล้วว่า สิ่งนั้น "มิใช่เป็นเรื่องของศาสนา และมิใช่เป็นบทบัญญัติของศาสนา " !!! ...
มิฉะนั้น ก็เท่ากับว่าท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ละเลย, เพิกเฉย และบกพร่องต่อการทำหน้าที่รอซู้ลของท่าน ฐานเจตนาละทิ้งสิ่งดีที่มีประโยชน์ต่ออุมมะฮ์ของท่าน ซึ่งความบกพร้องดังกล่าวถือเป็นคุณลักษณะต้องห้ามสำหรับรอซู้ลทุกท่าน ....
ท่านอิหม่ามมาลิก บินอนัส เคยกล่าวเอาไว้ว่า ...
مَنِ ابْتَدَعَ فِى اْلإِسْلاَمِ بِدْعَةً يَرَآهَا حَسَنَةً فَقَدْ زَعَمَ أَنَّ مُحَمَّدًا خَانَ الرِّسَالَةَ ! .. فَقَدْ قَالَ اللهُ تَعَالَى : اَلْيَوْمَ أَكْمَلْتُ لَكُمْ دِيْنَكُمْ .. فَمَالَمْ يَكُنْ يَوْمَئِذٍ دِيْنًا لَمْ يَكُنِ الْيَوْمَ دِيْنًا

"ผู้ใดได้อุตริสิ่งใดขึ้นมาใหม่ในอิสลามและมองว่ามัน(การอุตรินั้นของเขา)เป็นเรื่องดี แน่นอน เขาเข้าใจว่าท่านรอซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทุจริต(หรือบกพร่อง) ในการทำหน้าที่รอซู้ลของท่านแล้ว เพราะพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงดำรัสว่า .. "วันนี้ เราได้ทำให้ศาสนาของเจ้าสมบูรณ์แล้ว" .. เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่ในวันนั้นมิใช่ (เป็นเรื่องของ) ศาสนา ในวันนี้ มันก็มิใช่เป็น(เรื่องของ) ศาสนา" ...
ตัวอย่างของมะศอลิห์มุรฺสะละฮ์ และคำอธิบายเทียบกฎเกณฑ์ข้างต้น ...
(1) การที่ท่านอบูบักรฺ ร.ฎ. สั่งให้มีการรวบรวมอัล-กุรฺอานทั้งหมดเข้าด้วยกันดังที่ปรากฏในปัจจุบัน หลังจากที่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมสิ้นชีพ และท่านอบูบักรฺ ร.ฎ. ได้รับตำแหน่งเป็นคอลีฟะฮ์..
อธิบาย
ที่กล่าวว่าการรวบรวมอัล-กุรฺอานเข้าด้วยกัน เป็นมะศอลิห์มุรฺสะละฮ์ ก็เพราะ ....
ก. สาเหตุที่ต้องรวบรวมอัลกุรฺอานเข้าด้วยกันมีมาแล้วตั้งแต่สมัยท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมยังมีชีวิตอยู่ นั่นคือ เพื่อป้องกันการสูญหายของอัล-กุรอานทั้งหมดหรือบางส่วน .. เพราะข้อเท็จจริงในขณะนั้น อัล-กุรฺอานยังกระจัดกระจายอยู่ในบันทึกและการท่องจำของเศาะหาบะฮ์จำนวนมาก จึงเสี่ยงต่อการสูญหายหรือเลือนหาย - ทั้งหมดหรือบางส่วน - ได้ การรวบรวมอัล-กุรฺอานเข้าไว้ทั้งหมดจึงเป็นการป้องกันความสูญเสียเหล่านั้น ......
ข. การรวบรวมอัล-กุรฺอานทั้งหมดเข้าด้วยกัน เป็น "สิ่งดี" ของอิสลาม เพราะจะทำให้อัล-กุรฺอานยังมีอยู่ครบถ้วนไม่สูญหาย และอุมมะฮ์ของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมในยุคถัดๆมาจนถึงวันกิยามะฮ์จะได้รับ, ได้อ่าน และได้เข้าใจอัล-กุรฺอานทั้งหมดอย่างถูกต้อง, ครบถ้วน .. ตรงตามที่ถูกประทานลงมา ...
ค. แต่การที่ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไม่อาจรวบรวมอัล-กุรฺทั้งหมดเข้าด้วยกันได้ในสมัยของท่าน ก็เพราะ "มีอุปสรรค" .. นั่นคือ ตราบใดที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ วะห์ยุเรื่องอัล-กุรฺอานย่อมมีสิทธิ์ถูกประทานลงมาเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา การรวมเป็นเล่มเข้าด้วยกันทั้งหมดในขณะนั้นจึงไม่อาจทำได้ ...
แต่หลังจากท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สิ้นชีพไปแล้ว "อุปสรรค" เรื่องความหวั่นเกรงว่าจะมีวะห์ยุเรื่องอัล-กุรฺอานลงมาเพิ่มเติมอีก - จึงหมดสิ้นไปด้วย ..
ดังนั้น การรวบรวมอัล-กุรฺอานทั้งหมดเข้าด้วยกันจึงเป็น "มะศอลิห์มุรฺสะละฮ์" .. คือ "สิ่งดีที่ท่านศาสดาปล่อยวางไว้" .. ให้เศาะหาบะฮ์ของท่านกระทำแทนในภายหลัง ...
(2). การที่ท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฎฎอบ ร.ฎ. มีคำสั่งให้ท่านอุบัยย์ อิบนุกะอฺบ์ ร.ฎ. และท่านตะมีม อัด-ดารีย์ ร.ฎ. นำประชาชน "ละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ในลักษณะญะมาอะฮ์" อีก .. หลังจากที่เรื่องนี้ ถูกว่างเว้นมานานตั้งแต่ตอนปลายสมัยท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม, และตลอด 3 ปีแห่งการเป็นคอลีฟะฮ์ของท่านอบูบักรฺ ร.ฎ. ...
อธิบาย
ก. สาเหตุของกรณีนี้ - คือการละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ในเดือนรอมะฎอน - มีมาแล้วตั้งแต่สมัยท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม .. ตัวท่านรอซู้ลุลลอฮ์เองก็เคยนำเศาะหาบะฮ์ของท่านปฏิบัติละหมาดนี้มาก่อนแล้ว .. ดังหลักฐานถูกต้องมากมายซึ่งรายงานมาในเรื่องนี้ ...
ข. ประเด็นส่งเสริมให้มีการทำญะมาอะฮ์ในละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ก็คือ เป็นสิ่งดี, ทำให้การละหมาดดูเป็นระเบียบเรียบร้อย, ผู้ละหมาดก็จะได้รับผลบุญมากกว่า, มีความมุ่งมั่นและมีสมาธิมากกว่าการละหมาดตามลำพัง ..
ค. แต่การละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ในลักษณะญะมาอะฮ์ ต้องถูกระงับเพราะมี "อุปสรรค" คือ ท่านศาสดาเกรงว่า มันจะกลายเป็นฟัรฎู !! .. แล้วจะเป็นภาระหนักแก่อุมมะฮ์ของท่านเกินไป .. ดังมีรายงานจากหะดีษที่ถูกต้องซึ่งเป็นที่ทราบกันดี ..
เมื่อท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สิ้นชีพ ท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฎฎอบ ร.ฎ. จึงได้ "รื้อฟื้น" เรื่องนี้ขึ้นมาใหม่ เพราะอุปสรรคเรื่อง "หวั่นเกรงว่ามันจะกลายเป็นฟัรฺฎู" ได้หมดสิ้นไปพร้อมกับการสิ้นชีพของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ...
ดังนั้น การละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ในลักษณะญะมาอะฮ์ จึงเป็น "มะศอลิห์มุรฺสะละฮ์" .. คือ "สิ่งดีที่ท่านศาสดาปล่อยวางไว้" .. ให้เศาะหาบะฮ์ของท่านดำเนินการต่อไปแทนท่าน ดังที่ปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน ...
มิใช่เป็น "บิดอะฮ์หะสะนะฮ์" ในเรื่องอิบาดะฮ์ ดังความเข้าใจของบางคน ...
ส่วนการที่ท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ. สั่งให้ท่านอุบัยย์ บินกะอฺบ์ ร.ฎ. และท่านตะมีม อัด-ดารีย์ ร.ฎ. นำประชาชนละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ญะมาอะฮ์ แล้วท่านก็กล่าวว่า ...
نِعْمَتِ الْبِدْعَةُ هَذِهِ

... ซึ่งแปลว่า "บิดอะฮ์ที่ดี คือสิ่งนี้" ..
แล้วมีบางคนนำคำพูดนี้มาอ้างเป็นหลักฐานว่า "มีบิดอะฮ์หะสะนะฮ์ในเรื่องอิบาดะฮ์" .. น่าจะเป็นความเข้าใจผิด ...
ประเด็นคำว่า "หะสะนะฮ์" (เป็นสิ่งดี) ไม่มีใครติดใจ ...
ที่ติดใจก็คือความเข้าใจว่า .. การที่ท่านอุมัรฺสั่งให้ท่านอุบัยย์กับท่านตะมีม นำประชาชนละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ในลักษณะญะมาอะฮ์ เป็น "บิดอะฮ์" .. นี่แหละ ...
ทั้งนี้ เพราะความหมาย "บิดอะฮ์" ซึ่งเป็นที่รับรู้กันก็คือ "กระทำสิ่งใหม่(อิบาดะฮ์) ซึ่งไม่เคยมีแบบอย่างมาก่อน" ..
แต่การละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ในลักษณะญะมาอะฮ์ เป็นสิ่งที่มีแบบอย่างมาก่อนแล้ว, ทั้งจากการกระทำและจากคำสั่งของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ...
แล้วจะเรียกการละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ในลักษณะญะมาอะฮ์ ว่าเป็น "บิดอะฮ์" .. ตามความหมายที่เข้าใจกันได้อย่างไร ? ..
ถ้าอย่างนั้น เราจะเข้าใจคำพูดของท่านอุมัรฺ ที่ว่า نِعْمَتِ الْبِدْعَةُ هَذِهِ (บิดอะฮ์ที่ดี คือสิ่งนี้) ว่าอย่างไร ? ..
คำตอบก็คือ .. เจตนาจากคำพูดของท่านอุมัรฺเกี่ยวกับคำว่า "บิดอะฮ์ดี" ข้างต้นน่าจะหมายถึง "การรื้อฟื้นสิ่งซึ่งเคยมีแบบอย่างมาแล้ว (แต่ถูกสั่งระงับไปเพราะมีอุปสรรค) ขึ้นมาทำใหม่ เป็นสิ่งดี" ..
ไม่ใช่หมายถึง "การริเริ่มทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีแบบอย่างในศาสนามาก่อน เป็นสิ่งดี - " .. เพราะมันขัดแย้งกับข้อเท็จจริงและขัดแย้งกับความหมายของคำว่า "บิดอะฮ์" ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว ...
วัลลอฮุ อะอฺลัม ...
หรือผู้อ่านท่านใดเห็นว่า น่าจะมีคำอธิบายคำว่า "บิดอะฮ์" จากคำพูดท่านอุมัรฺ ได้กลมกลืนกว่านี้โดยไม่ขัดกับความหมาย "บิดอะฮ์" อย่างที่เข้าใจกัน ผมก็พร้อมที่จะรับฟังครับ ..




1 ความคิดเห็น: