ตอบโดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย
ถาม
อัสสลามมุอาลัยกุม รบกวนถามอาจารย์หน่อยค่ะ คำว่า ตะเก็ม กับวะลีย์ ต่างกันอย่างไรคะ พอดีมีมุสลิมใหม่กำลังจะแต่งงานกับมุสลิมเดิม มุสลิมใหม่เป็นผู้หญิง อยากทราบเป็นความรู้เฉยๆ ค่ะ
ตอบ
วะอลัยกุมุสสลาม ...
ปกติ "วะลีย์" จะหมายถึงญาติใกล้ชิดทางสายเลือดหรืออีกนัยหนึ่ง ผู้ปกครองของผู้หญิงที่สามารถทำหน้าที่นิกาห์นางกับคู่หมั้นของนางได้ ซึ่งวะลีย์ดังกล่าว อาจจะเป็นบิดา, ปู่, พี่ชายน้องชายของผู้หญิง ฯลฯ ตามความขัดแย้งของนักวิชาการครับ
ส่วนคำว่า "ตะห์เก็ม" หมายถึง กระบวนการที่ผู้ชายและผู้หญิงบางคู่แต่งตั้งผู้ชายที่มีคุณธรรมคนใดคนหนึ่งให้เป็น "วะลีย์เฉพาะกิจ" เพื่อทำการนิกาห์ให้แก่ตนในกรณีฝ่ายหญิงไม่มีวะลีย์ทางสายเลือด, ไม่มีวะลีย์ที่เป็นผู้นำ (หากิม) หรือมีวะลีย์ที่เป็นผู้นำแต่เรียกร้องเงินทองหรือค่าตอบแทนในการทำการนิกาห์ให้ กรณีอย่างนี้ นักวิชาการมัษฮับชาฟิอีย์อนุญาตให้ชายหญิงคู่นั้นนิกาห์แบบตะห์เก็มดังที่กล่าวมาแล้วได้ครับ
วัลลอฮุ อะอฺลัม
ถาม
การตะกีมตามมัซฮับชาฟีอีนั้นในรัศมีแปดสิบกิโลเมตรต้องไม่มีหะกิม
หรือมีแต่หะกิมเรียกร้องเกินรับได้แต่จะถามต่อว่ากรรมการอิสลามที
อยู่ตามหมุ่บ้านเข้าในบทบัญญัตของหากิมหรือไม่
ตอบ
เงื่อนไข 2 มัรฺฮาละฮ์หรือ 80 กิโลเมตรกว่าๆ จะใช้ในกรณีมีวะลีย์ทางสายเลือดอยู่ และผู้หญิงอยู่ห่างไกลจากวะลีย์ทางสายเลือดของตนเกินกว่า 2 มัรฺฮาละฮ์ นักวิชาการมัษฮับชาฟิอีย์ก็อนุญาตให้ผู้หญิงนั้นมีสิทธิ์นิกาห์ตะห์เก็มได้ แต่ในกรณีวะลีย์หากิม ไม่มีเงื่อนไขกำหนดระยะทางดังกล่าวครับ .. อนึ่ง ในประเทศไทยสมัยปัจจุบัน หากิมก็คือท่านจุฬาราชมนตรี เพราะฉะนั้น ถ้าอิหม่ามท่านใดได้รับการมอบหมายจากท่านจุฬาราชมนตรีให้ทำหน้าที่แทนท่าน ก็ให้ถือว่าเขาเป็นวะเกลของหากิมและสามารถนิกาห์ให้คู่สมรสได้ในนามของหากิมครับ .. วัลลอฮุ อะอฺลัม ..
เพิ่มเติมจากคุณ Faisal Ālhadi
ท่านอิมามอัช-ชาฟิอีย์กล่าวว่า:
وان غاب غيبة غير منقطعة بأن يعلم أنه حى نظرت فان كان على مسافة تقصر فيها الصلاة جاز للسلطان تزويجها، لان في استئذانه مشقة فصار كالمفقود
“และหากเขา (พ่อของผู้หญิง) ไม่อยู่ โดยเป็นการไม่อยู่ที่ไม่ได้ตัดขาด กล่าวคือรู้ว่าเขายังมีชีวิตอยู่
เช่นนี้แล้วให้พิจารณาดู หากว่าอยู่ห่างกันในระยะทางที่สามารถทำการละหมาดย่อได้
อนุญาตให้ผู้ปกครอง(วะลีย์สุลฏอน)ทำการแต่งงานให้แก่นางได้
เพราะการขออนุญาตเขา (พ่อของผู้หญิง) ถือว่าลำบาก ดังนั้นเขาจึงเสมือนกับผู้ที่สูญหาย”(อัล-มัจญ์มูอฺ 16/163)
จากคำพูดของอิมามอัช-ชาฟิอีย์ข้างต้น จะเห็นได้ว่าท่านได้อ้างเหตุผลของระยะทางที่สามารถ
ทำการละหมาดย่อได้ เพราะระยะทางดังกล่าวการจะขออนุญาตพ่อของฝ่ายหญิงผู้ซึ่งเป็นวะลีย์เดิมนั้นลำบาก
แต่....เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ในยุคนั้นการเดินทางหรือส่งข่าวคราวในระยะทางที่สามารถทำการละหมาดย่อได้ หรือระยะเวลาการเดินทางสามวันสามคืนอาจจะมีความยากลำบาก ดังนั้นจึงอนุญาตให้วะลีย์สุลฏอน ทำการแต่งงานให้ได้ แต่สมัยนี้การสื่อสารรวดเร็ว การติดต่อกันใช้เวลาแค่เสี้ยววินาที ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก
ดังนั้นการทำการแต่งงานโดยวะลีย์สุลฏอนโดยไม่แจ้งข่าวคราวให้วะลีย์เดิมทราบ
(ทั้ง ๆ ที่สามารถแจ้งให้ทราบได้) กลัวเหลือเกินว่าการแต่งงานนั้นจะเป็นโมฆะ
Areefeen Yacharat ถาม
ถ้าติดต่อได้ก็ให้รอใช่ใหมครับ
Faisal Ālhadi ตอบ
แต่บ้านเรา มักใช้โอกาสนี้ เพื่อพาหญิงสาวหนีไปแต่งงานนอกพื้นที่
อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย ตอบ
ใช่ครับ ในทางปฏิบัติส่วนตัวปัจจุบันนี้เวลามีผู้มาขอให้ผมนิกาห์ให้โดยที่วะลีย์ของเขาอยู่ห่างไกล ผมก็จะให้เขาโทรศัพท์ติดต่อกับวะลีย์ของเขา เพื่อให้วะลีย์ขออนุญาตเขาก่อน ต่อจากนั้นจึงให้วะลีย์มอบหมายให้ผมนิกาห์แทนเขา ที่เขียนไปข้างต้นเป็นการเขียนตามทฤษฎีเท่านั้นครับ ...