อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ดุอาอ์รับอิกอมะฮ์




ตอบโดย อ.ปราโมทย์  ศรีอุทัย

ถาม
อัสลามูอาลัยกุม อาจารย์ค่ะ ดุอาอ์หลังอิกอมะฮ์มีหรือไม่ค่ะ ดุอาอ์เหมือนกับบทหลังอาซานไหมค่ะ

ตอบ
วะอลัยกุมุสสลาม ... หลักฐานเท่าที่พอจะรับฟังได้ก็คือ ให้กล่าวเหมือนผู้ที่อิกอมะฮ์กล่าวครับ ส่วนเมื่อเขาอิกอมะฮ์เสร็จแล้ว ผมไม่เคยเจอหลักฐานให้อ่านดุอารับอิกอมะฮ์เหมือนดุอารับอะซานเลยครับ วัลลอฮุ อะอฺลัม ...




วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เรื่องเล่าจากอดีต ตอน เมื่อผมได้จูบดาราโรงเรียนเป็นคนแรก


โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

เขียนเรื่องวิชาการมามากแล้ว ขอเปลี่ยนมาเขียนเรื่องเบาสมองมั่ง คงไม่ว่ากันนะครับ...
ตั้งหัวข้อเรื่องอย่างนี้ คนมองโลกในแง่สวยบางคนคงอิจฉาผมว่า ทำไมเราไม่โชคดีอย่างนี้บ้างวะ ? .....
ส่วนคนที่มองโลกในแง่ไม่สวยก็อย่าเพิ่งด่วนตำหนิว่า เป็นครูสอนศาสนาภาษาอะไร .. เอาเรื่องอย่างนี้มาเขียนออกอากาศ .. เอ๊ย เขียนลงในเฟส เหมือนประจานตัวเอง ...
ก็เรื่องที่ผมเขียน มันเป็นอดีตผ่านมาหลายสิบปีแล้วนี่ครับ จะให้ผมย้อนกลับไปแก้ไขเหตุการณ์ครั้งนั้นอีก ก็คงไม่ได้ ...
และสมมุติ .. ถ้าผมย้อนอดีตกลับได้ ผมก็คงไม่อยากให้อดีตเรื่องนี้เกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่สองแน่นอน ...
เพราะอะไร อ่านต่อไปแล้วจะรู้เองครับ ...
เมื่อผมบอกว่า "ดาราโรงเรียน" .. ก็แสดงว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นขณะผมยังเป็นนักเรียน, ยังนุ่งกางเกงขาสั้นอยู่ และที่สำคัญ ...
ไม่รู้เรื่องศาสนาเลย ...
บอกกล่าวกันก่อน ชื่อเดิมของผมตามทะเบียนสำมะโนครัว มิใช่ชื่อปราโมทย์หรอกครับ แต่มีชื่อเพราะพริ้งเป็นภาษาอาหรับว่า นายหมะหมูด ...
นามสกุลก็ "ศรีอุทัย" นี่แหละ ...
วันเดือนปีเกิดผมตามการบันทึกนายทะเบียนสมัยโบราณ เขาเขียนเป็นเลขสามตัวครับ ..
เป็นเลข 5 ทั้งหมด .. อยู่ด้านล่างสองตัว ด้านบนหนึ่งตัว เหมือนรูปพีระมิด ...
เลข 5 ตัวแรกมิใช่เป็นวันที่ แต่เป็นวันเกิดคือวันพฤหัสบดี, เลข 5 ตัวบนคือขึ้น 5 ค่ำ, และเลข 5 ตัวหลัง ก็คือเดือน 5 ...
เพราะฉะนั้น วันเดือนปีเกิดผม ถ้าจะเขียนให้ตรงตามคำที่นิยมใช้แทนเสียงหัวเราะในเฟสปัจจุบันก็ต้องเขียนว่า ฮ่าฮ่าฮ่า ...
ชื่อเด็กชายหมะหมูดอยู่ดีๆ แต่พอไปเป็นนักเรียนประถม ครูที่รับสมัครก็เปลี่ยนชื่อผมเป็นชื่อใหม่ที่ไม่เคยได้ยินเฉยเลย ...
จำได้ว่า ตอนนั้น (พ.ศ. 2496) .. ผมซึ่งมีอายุเกือบ 8 ขวบแล้ว (ไม่เคยเรียนอนุบาล เพราะสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียนอนุบาล) ก็พาร่างดำๆผอมๆของตัวเองเดินตามหลังคุณพ่อไปสมัครเป็นนักเรียนโรงเรียนบ้านหน้าศาล ...
จำได้อีกว่า คุณพ่อแจ้งกับครูประจวบซึ่งเป็นครูประจำชั้นเตรียม ว่า ผมชื่อนายหมะหมูด นั่นแหละ ...
พอตอนเข้าเรียนวันแรกในชั้นเตรียมก็ได้เรื่อง เพราะผมแอบไปนั่งโต๊ะตัวหลังสุด เนื่องจากตื่นกลัวยังไงบอกไม่ถูกตามประสาเด็กใหม่ ...
แต่ครูประจวบไม่ยอม พอแกเห็นเข้าก็ไปดึงตัวผมมานั่งโต๊ะหน้าสุด เพราะผมตัวเล็กกว่าเพื่อนและเป็นน้องใหม่ในชั้นเรียนด้วย ..
ถึงตอนเรียกชื่อ .. ครูเรียกไปถึงชื่อใคร ถ้าเป็นผู้ชายก็ได้ยินเขาขานว่า "มาครับ" และถ้าเป็นผู้หญิงก็จะขานว่า "มาค่ะ" ..
และแล้วครูประจวบก็ไปเรียกซ้ำอยู่ที่ชื่อประหลาดชื่อหนึ่งตั้ง 2-3 ครั้ง ก็ไม่เห็นมีใครขานรับ ...
"เด็กชายหมัดโหมด, เด็กชายหมัดโหมด ...."
ผมเหลียวหน้าเหลียวหลัง อยากจะดูว่า ใครกันนะที่ชื่ออย่างนี้ .. ทำไมครูเรียกแล้วไม่ขาน
แต่ครูประจวบเงยหน้าขึ้นจากสมุดบัญชีเรียกชื่อ ชี้มือมาที่ผมแล้วบอกว่า ..
"เธอนั่นแหละชื่อหมัดโหมด ทำไมไม่ขานล่ะ .. ขาน "มาครับ" เหมือนเพื่อนๆนั่นแหละ" ...
ใครๆก็เลยรู้จักผมในนาม "นายหมัดโหมด ศรีอุทัย" ตั้งแต่วันนั้นจนจบ ม. 6 ...
เชย, มหาเชย, บรมเชยเลย .. ชื่อผม ...
ผมเพิ่งมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นคุณปราโมทย์ .. เอ๊ย นายปราโมทย์ .. เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 เอง (หลักฐานการเปลี่ยนชื่อผมยังเก็บไว้เรียบร้อย แต่จะกี่ปีมาแล้ว บวกลบคูณหารกันเอาเอง) ...
บทเรียนบางอย่างจากความประทับใจของผมจากการเรียนในชั้นเตรียมก็คือ คราวหนึ่ง ครูมณี พรหมเพ็ญ ซึ่งมาสอนแทนครูประจวบในวันนั้น ถามผมว่า ทำไมเด็กชายสะมะแอจึงไม่มาเรียน ...
ผมตอบว่า "ไม่รู้ครับ" ...
ครูมณีดุผมและสอนว่า คราวหลังเวลาพูดกับครูหรือผู้หลักผู้ใหญ่ อย่าใช้คำว่า "ไม่รู้" แต่ให้พูดว่า "ไม่ทราบ" ...
ผมเลยจำมารยาทข้อนี้ ติดตรึงหัวใจมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ...
เรียนอยู่ชั้นเตรียมประมาณ 3-4 เดือน ผมก็ได้เลื่อนชั้นมาเรียนชั้น ป. 1 ...
หนังสือเรียน ป. 1 สมัยก่อนน่าอ่านมาก เด็กนักเรียนทุกคนจึงสนใจและชอบอ่านกันนัก
เมื่อสนใจ จึงส่งผลให้ความรู้และการอ่านด้านภาษาไทยเด็กๆสมัยก่อนดีกว่าเด็กสมัยนี้ชนิดเทียบกันไม่ได้เลย ...
เพราะขณะนี้ผมเป็นครูอยู่ จึงกล้าพูดได้เต็มปากว่า ภาษาไทยเด็ก ป. 2 สมัยก่อน ดีกว่าเด็ก ม. 3 สมัยนี้หลายคนด้วยซ้ำไป ...
สาเหตุเพราะอะไร ผมไม่อยากเซด ...
ตัวอย่างเช่น หนังสือแบบหัดอ่าน ป. 1 ซึ่งมีอยู่หลายเรื่องในเล่มเดียวกัน เช่นเรื่องลูกแมวที่ชื่อสำลี, เรื่องวัวชื่ออ้ายแดง, เรื่องแม่แมวกับลูกกะรอก, ฯลฯ ล้วนชวนอ่านทั้งนั้นสำหรับเด็กๆ ..
แต่ที่ผมชอบมากก็ได้แก่เรื่อง "แมงดานากับลูกกบ" ซึ่งขึ้นต้นเรื่องว่า ...
"มีสระแห่งหนึ่ง ไม่สู้จะกว้างใหญ่นัก เวลาลมพัด น้ำในสระเป็นระลอกคลื่นน้อยๆ ทยอยเข้ากระทบฝั่ง ต้นหญ้าที่ขอบสระโอนเอนไปมาจนใบเสียดสีกัน ในสระนี้ มีไข่เม็ดเล็กๆสีดำๆลอยอยู่แพหนึ่ง คือไข่กบ มีลูกกบตัวเล็กๆอยู่ในไข่นั้น มันนอนอยู่เหมือนเด็กอ่อนๆนอนเปล แต่เปลของมันไม่เหมือนเปลเด็ก เป็นวุ้นกลมๆใสๆ ............................"
เป็นไงครับ ซื่อ, บริสุทธิ์ มองเห็นภาพของธรรมชาติสระน้ำและท้องทุ่งไหม ? ...
เด็กนักเรียน ป. 1 สมัยนั้นจึงสนใจและติดตามอ่านยิ่งกว่าหนังสือเรียนชั้นประถมสมัยนี้ที่เป็นวิชาการเสียจนเด็กไม่อยากแตะต้อง ...
หรืออย่างเรื่อง แม่ไก่ที่ชื่อนันทาก็ให้ความรู้สึกเศร้า .. โดยเฉพาะบทกลอนที่เจ้าของแม่ไก่ดื้อตัวนี้นำไปแขวนไว้ที่กรงว่างเปล่าของมันด้วยความอาลัยรักมันนั้น ชวนซาบซึ้งใจยิ่งนัก ...
เขาเขียนกลอนรำพันไว้ว่า ...
"แสนเสียดายนันทาที่น่ารัก ชะล่านักเลี่ยงออกนอกถนน
มัวแต่เพลินปลาบปลื้มจนลืมตน ถูกรถยนต์แล่นทับดับชีวา
นิจจาเอ๋ยเคยเห็นทุกเย็นเช้า กลับเหลือแต่กรงเปล่าไม่เห็นหน้า
เคยวิ่งเล่นด้วยกันทุกวันมา ช่างทิ้งข้าเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจเอย" ...
ฯลฯ
อ้อ ไหนๆก็เขียนเป็นกลอนแล้ว ก็ขอถือโอกาสเสนอกลอนสั้นๆจากหนังสือการ์ตูน "หนูจ๋า" ของจุ๋มจิ๋ม หรือคุณจำนูญ เล็กสมทิศ ที่ผมชอบอ่านมากๆสมัยเป็นเด็ก มาแถมให้อ่านกันนิดหนึ่ง ..
เป็นกลอนที่จุ๋มจิ๋มแกเขียนพรรณาความงามของนางเอกในการ์ตูนของแกที่มีชื่อว่า "พิมพ์ผกา" ดังนี้ ...
"พิมพ์เอ๋ยพิมพ์ผกาที่น่ารัก ผิวพักตร์เจ้าเหมือนดังเดือนหงาย " ..
ถ้าเขียนมาแค่นี้ แสดงว่า คุณพิมพ์ผกาต้องสวยแน่ๆ ...
แต่ตอนต่อไปซิครับ จุ๋มจิ๋มหักมุมได้เจ็บปวดน่าดูชม เพราะแกเขียนข้อความต่อมาว่า ...
"เนตรคมสมเหตุเหมือนเนตรควาย ยามกรายเยื้องย่างเหมือนช้างเดิน" ...
%%%%

พอจบ ป. 4 จากโรงเรียนบ้านหน้าศาล ผมก็สมัครสอบชิงทุน และได้ทุนเรียนต่อชั้นมัธยม .. จากมัธยม 1 จนจบ ม. 6 .. โดยรัฐให้ทุนเรียนผมปีละ 600 บาท ...
เงิน 600 บาทสมัยนั้นมิใช่เล็กน้อย เพราะขนาดผมไปโรงเรียน คุณแม่ยังให้เงินผมไปซื้ออาหารกลางวันกินที่โรงเรียน .. วันละ 2 บาทเท่านั้น ...
เงิน 2 บาทสมัยนั้นซื้อข้าวราดแกงได้หนึ่งจานใหญ่ๆครับ ...
ทว่า .. ผมไม่ได้นำเงิน 2 บาทที่คุณแม่ให้ ไปซื้ออาหารกินเท่าไหร่หรอก แต่เอาไปซื้อหนังสือประเภทหมัดมวยมาอ่านมากกว่า ...
สารภาพตามตรงว่า ผมเป็นโรคบ้ามวยขึ้นสมอง เพราะนอกจากจะฝึกหัดต่อยมวยแล้ว ขนาดหนังสือหมัดมวยรายสัปดาห์ตอนนั้นออกมา 4 เล่มคือ หนังสือบ็อกซิ่ง, เดอะริง, ยอดกีฬา และแชมเปี้ยน ราคาเล่มละ 1 บาท ผมต้องซื้อหมดทั้ง 4 เล่มทุกสัปดาห์เลย ...
นักมวยไทยในดวงใจของผมก็คือ "เทพบุตรมงกุฏเพชร" อดุลย์ ศรีโสธร .. และนักมวยสากลก็คือโผน กิ่งเพชร ...
ขอคุยซะหน่อย ตอนนั้น เพื่อนๆจะเรียกผมว่า "โผนน้อย" เพราะมีรูปร่างบอบบาง, แย้ปซ้ายเร็วและแม่น เหมือนโผน กิ่งเพชร ยังไงยังงั้น ...
ครั้งหนึ่ง ผมลงนวมซ้อมกับเพื่อนคนหนึ่ง .. ก่อนประหมัดกัน เพื่อนเอ่ยปากให้ได้ยินว่า กูกลัวหมัดแย้ปซ้ายมึงจริงๆ มึงอย่าเล่นแรงนักนะ ...
ก็ฮึกเหิมซิครับ หัวใจพองโตเลยเมื่อได้ยินคำชมซึ่งๆหน้า ...
และเมื่อลงมือประหมัดกัน ผมโชว์ศักยภาพหมัดแย้ปซ้ายเต็มที่ และเพื่อนก็หลบไม่ค่อยทันเสียด้วย เพราะเขาช้ากว่าผมเยอะ ...
แต่มีอยู่จังหวะหนึ่งที่ผมพุ่งเข้าแย้ปซ้าย แล้วเขาก็ดักฮุ้คซ้ายสวนออกมาเต็มเหนี่ยว เป็น 2 แรงบวก ...
ฮุ้คซ้ายหมัดนั้นจับเปาะเข้าตรงกะโดงคางของผมพอดี ..
จาก "โผน" ก็เลยกลายเป็น "ผล็อย" ... คือ กระเด็นลงไปนอนหงายผลึ่ง, มือกางตีนกางแอ้งแม้ง ชนิดนับ 20 ก็ลุกไม่ไหวนะซีครับ ...
เพิ่งจะรู้ซึ้งคราวนั้นแหละครับว่า นักมวยที่โดนต่อยเข้าจุดโฟกัส - คือปลายคาง - ลงไปน็อคดาวน์นั้น มันไม่ได้รู้สึกเจ็บปวดอะไรเลย ...
แต่มันวูบไปเฉยๆน่ะครับ ...
ก็ขอวกเข้าเรื่องที่ผมจั่วหัวข้อไว้ดีกว่า ...
โรงเรียนที่ผมเข้าเรียนเป็นโรงเรียนราษฎร์ .. อยู่ในตลาดหัวไทรห่างจากบ้านผมกิโลเมตรกว่าๆ ชื่อ "โรงเรียนราษฎร์นิยมวิทยา" ...
เหตุการณ์ดังจั่วหัวเรื่องข้างต้น เกิดขึ้นตอนผมเรียนชั้นมัธยม 6 ที่โรงเรียนนี้แหละครับ.
ตอนนั้นผมเป็นวัยรุ่นแล้ว, เริ่มรู้จักความสวยความงามของผู้หญิงแล้ว แหะ แหะ ...
ส่วน "ดาว" หรือ "ดารา" ของโรงเรียนคนนั้น เธออยู่ชั้นมัธยม 5, เป็นรุ่นน้องผม 1 ปี
สมมุติชื่อย่อของเธอ คือ "น้อง ส." ก็แล้วกัน ...
อย่าเดาให้เสียเวลาเลยครับว่า เธออาจจะชื่อสุพรรษา (ที่นามสกุลไม่ใช่เนื่องภิรมย์), หรือชื่อโสภา (ที่นามสกุลไม่น่าจะใช่สถาพร), หรือสุทธิดา (นุ้ก) เป็นต้น เพราะผิดทั้งนั้นครับ ...
น้อง ส. (ในสายตาผม และสายตานักเรียน ม. ปลายทุกคนขณะนั้น) สวยจริงๆครับ ...
ผิวขาวผ่อง, วงหน้าสวย, หน้าผากสวย, คิ้วสวย, ตาสวย, จมูกสวย, พวงแก้มสวย, ริมฝีปากสวย, รูปร่างสวย ...
เรียกว่า สวยไปหมดทั่วสารพางค์กาย ว่างั้นเถอะ ...
หากจะกล่าวว่า น้อง ส. คือ "ดาว" ของโรงเรียนชนิดนอนมาและไร้คู่แข่ง หรืออีกนัยหนึ่ง .. เป็นมติเอกฉันท์ (อิจญมาอฺ) ของนักเรียน ม. ปลายทุกคนว่าเธอคือ "ดาวจรัสแสง" ประจำโรงเรียน ก็คงไม่ผิดกติกาแต่ประการใด ...
นักเรียน ม.ปลาย .. ทั้ง ม. 5, ม. 6 - ทุกคน - แย่งกันจีบเธอทั้งนั้นแหละครับ ...
อย่าถามนะว่า แล้วผมล่ะ แอบชอบเธอด้วยหรือไม่ ? ...
ถึงถาม ผมก็คงไม่บอกให้ท่านผู้อ่านรู้หรอกว่า ผมก็เป็นคนหนึ่งที่แอบชอบเธอด้วยเหมือนกัน ...
ธ่อ .. ลงสวยขนาดนั้น ใครไม่ชอบก็บ้าแล้ว ...
แล้ววันที่ประวัติศาสตร์ส่วนตัวของผมต้องจารึกไว้ก็มาถึง ..
จำได้ว่า วันนั้นคือวันศุกร์ ครับ ...
ทุกเย็นวันศุกร์ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเรียนประจำสัปดาห์ นักเรียนไทยพุทธทุกคนจะต้องลงไปสวดมนต์พร้อมกันยังห้อมประชุมชั้นล่าง .. ส่วนนักเรียนที่เป็นมุสลิมก็จะอยู่ในชั้นเรียนของตัวเอง ไม่ต้องไปร่วมสวดมนต์กับเขาด้วย ...
ห้อง ม. 5 ของน้อง ส. และห้อง ม. 6 ของผมอยู่อาคารชั้นบน และอยู่ติดกัน ...
วันนั้น พอนักเรียนไทยพุทธทั้ง ม. 5 และ ม. 6 ลงไปข้างล่างหมดแล้ว ผมก็ถือโอกาสไปนั่งคุยกับเด็กมุสลิมอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนกันในห้อง ม. 5 ของน้อง ส. นั่นแหละ ...
คุยกันได้ครู่ใหญ่ ก็ได้ยินเสียงฝีเท้าหลายคู่วิ่งแข่งโครมๆกันขึ้นมาชั้นบน บ่งบอกให้รู้ว่า การสวดมนต์เสร็จสิ้นแล้ว ...
ผมจึงบอกเพื่อนว่า ไปละนะ .. แล้วก็รีบเดินจะออกจากห้อง ม. 5 กลับไปห้องเรียนของผม ...
อันเนื่องมาจากบันไดขึ้นอาคารชั้นบน ตรงกับประตูห้อง ม. 5 พอดี .. และนักเรียนคนแรกที่ถลาพรวดพราดเข้ามาในห้อง ม. 5 ก็คือ น้อง ส. .. และผมเองก็กำลังจะรีบเร่งออกไปจากห้องเรียนของเธอ ...
ผมกับน้อง ส. จึงจ๊ะเอ๋กันตรงประตูห้องพอดิบพอดี ...
เพราะส่วนสูงของเธอต่ำกว่าผมเล็กน้อย เมื่อมาจ๊ะเอ๋กันชนิดยั้งตัวไม่ทันทั้งคู่ หน้าผากงามของเธอจึง "จุมพิต" เต็มรักที่ปากครึ่ง, จมูกครึ่งของผม ...
เสียงน้อง ส. อุทานด้วยความตกใจว่า "อุ๊ย ! ขอโทษค่ะ พี่โหมด " ...
ผมเองก็ทั้งตกใจ, มึนงง, ระคนตื่นเต้นนิดๆ ...
ที่ตื่นเต้นนิดๆก็เพราะภูมิใจว่า ผมคงเป็นคนแรกที่ได้จุมพิตหน้าผากงามของเธอชนิดถึงเนื้อถึงตัวจริงๆ สมดังใฝ่ฝัน ...
แต่ที่มากกว่าตื่นเต้นหลายเท่าตัวก็คือ เจ็บ ! .. ครับ ...
เพราะ .. ผลจากการ "จุมพิต" คราวนั้น ทำเอาผมเลือดกำเดาทะลัก, ฟันหน้าด้านบนรวนไป 2 ซี่, แถมปากแตกเจ่อเป็นครุฑ อดกินของเผ็ดไปหลายวันจากพิษสงหน้าผากงามของเธอ ...
สรุปแล้ว .. มันเป็น "จูบ" ที่ไม่คุ้ม และไม่น่าชื่นใจเอาเสียเลย ...
ผมถึงได้บอกตั้งแต่แรกแล้วว่า สมมุติถ้าผมหมุนวันเวลากลับคืนไปได้ ก็ขออย่าให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นซ้ำอีกเป็นครั้งที่สอง ...
สวยยังไงก็ไม่เอาแล้วครับ เข็ดจนตายเลย ...
ก็ขอจบ "เรื่องจริง" ที่ค่อนข้างไร้สาระนี้ ชนิดดื้อๆแบบหน้าด้านๆแค่นี้แหละครับ ...


วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ไปร่วมกินเลี้ยงอาหารรายอแน


ตอบโดย อ.ปราโมทย์  ศรีอุทัย

ถาม
อัสสลามุอะลัยกุม อาจารย์ เพื่อนผมชาวสุนนะห์คนนึงฝากถามว่า เราไม่เลี้ยงอาหารรายอ 6 (พรุ่งนี้) แต่จะไปกินที่เพื่อนๆญาติๆเชิญ ถามว่าจะเข้าข่ายบิดอะห์ไหม (ปล. คือผมเข้าใจว่าไม่ได้ แต่เพื่อนผมแย้งว่า ก้อเหมือนการฉลองอะไรสักอย่าง ไม่ได้เจตนาว่าเป็นอิบาดัต ยะซากัลลอฮครับ

ตอบ
วะอลัยกุมุสสลาม .. ผมไม่ชอบใช้คำว่า "บิดอะฮ์" กับใคร แม้ในความรู้สึกส่วนตัวจะมองว่าใช่ก็ตาม .. เพราะฉะนั้น ที่คูณถามมาเรื่องเขาเชิญไปงานเลี้ยงที่มีผู้จัดขึ้นในวันดังกล่า่วนี้ ขอตอบสั้นๆว่า ถ้าเป็นผม ผมไม่ไปครับ ...

ศีลอด 6 วันเดือนเชาวาลควบชดใช้รอมะฎอน



โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ตอบคำถามคุณ Mareeyah Si ......

ถาม ...
อัสลามูอาลัยกุม อาจารย์ ค่ะ พอมีเวลา วิเคราะห์ พร้อมยกหลักฐาน กรณีที่มีการถือศิลอด วันหนึ่ง มีการเนียตถือศิลอด 2 ศิลอดพร้อมกัน คือศิลอดหกวันเดือนเชาวาล และศิลอดชดใช้ในเดือนรอมาฎอนพร้อมกัน ว่ามีน้ำหนักเพียงใด นักวิชาการที่ให้น้ำหนักในเรื่องนี้ว่าไงบ้าง เนื่องจากมุสลิมส่วนใหญ่เขาเลือกที่จะถือศิลอดรวมกันเช่นนี้ ดิฉันอยากทราบความชัดเจนในเรื่องนี้มากค่ะ

ตอบ ...
หลักฐานเรื่องการถือศีลอด 6 วันเดือนเชาวาล ก็คือหะดีษซึ่งรายงานโดยท่านอบูอัยยูบ ร.ฎ. .. ซึ่งรายงานจากท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมที่กล่าวว่า ...
مَنْ صَامَ رَمَضَانَ، ثُمَّ أَتْبَعَهُ سِتًّا مِنْ شَوَّالٍ كَانَ كَصِيَامِ الدَّهْرِ
"ผู้ใดถือศีลอดรอมะฏอนแล้ว หลังจากนั้น เขาติดตาม (คือถือศีลอดต่อจาก)มันอีก 6 วัน ก็ประหนึ่งเขาถือศีลอดทั้งปี" ...
(บันทึกโดยท่านมุสลิม, ท่านอบูดาวูด, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์, ท่านอิบนุมาญะฮ์ และท่านอื่นๆ) ...
จากข้อความของหะดีษข้างต้นนี้ ทำให้คนจำนวนมากเข้าใจผิดว่า การถือศีลอด 6 วันเดือนเชาวาล มีความยิ่งใหญ่และมีผลบุญมากกว่าศีลอดเดือนรอมะฎอน ถึงกับเรียกศีลอด 6 วันเดือนเชาวาลนี้ว่า "ถือบวชใหญ่" .. ขณะที่ศีลอดเดือนรอมะฎอนกลายเป็น "บวชเล็ก" ไป ..
ทั้งนี้เพราะพวกเขามองว่า ท่านรอซู้ลฯ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มิได้กล่าวถึง "ปริมาณผลบุญ" ของการถือศีลอดเดือนรอมะฎอนว่าจะได้รับกี่มากน้อย ..
.
แต่ท่านกล่าวว่า พอถือศีลอดเดือนรอมะฎอนแล้ว และถือศีลอดเดือนเชาวาลเพิ่มแค่ 6 วัน ผลบุญที่ได้รับ ก็จะเท่ากับถือศีลอดตลอดทั้งปี .
..
ผลบุญศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาลในมุมมองของบางคน จึงมากมายมหาศาลกว่าผลบุญศีลอดรอมะฎอนด้วยประการฉะนี้ ..
.
ผมสันนิษฐานว่า จากความเข้าใจดังกล่าวนี้ จึงทำให้บางท้องที่ใน 3 จังหวัดภาคใต้ มีการเฉลิมฉลองวัน "ออกอีดใหญ่" (???) - ซึ่งเรียกเป็นภาษามลายูพื้นบ้านว่า รายอแน - หลังจากศีลอด 6 วันเดือนเชาวาลแล้ว ยิ่งใหญ่กว่าการออกอีดเดือนรอมะฎอนเสียอีก ...
ความเข้าใจดังกล่าวนี้ ผิดต่อเจตนารมณ์ของการถือศีลอด 6 วันเดือนเชาวาลอย่างชัดแจ้ง
เพราะหะดีษบทเดียวกันนี้จากการรายงานของท่านเษาบาน ร.ฎ. มีข้อความเพิ่มเติมอีกว่า
مَنْ جَاءَ بِالْحَسَنَةِ فَلَهُ عَشْرُ أَمْثَالِهَا

"ผู้ใดนำมาหนึ่งความดี สำหรับเขาก็คือ สิบเท่าของความดีนั้น"
...
(บันทึกโดย ท่านอิบนุมาญะฮ์, ท่านอัด-ดาริมีย์, ท่านอัล-บัยฮะกีย์, ท่านอะห์มัด และท่านอื่นๆ) ..
พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวต่อไปว่า ผู้ใดทำความดีอย่างหนึ่ง เขาก็จะได้รับผลบุญเป็น "10 เท่า" ของความดีนั้น หรือเอาสิบคูณนั่นเอง ...
ขอย้ำว่า ผู้อ่านทุกท่านโปรดจำจุดนี้ให้ดี เพราะสาระสำคัญของหะดีษข้างต้น ผูกพันกับตัวเลข "สิบเท่า" ตัวนี้ ...
และข้อความข้างต้นนี้ นอกจากจะเป็นข้อความของหะดีษแล้ว ก็ยังเป็นอายะฮ์ที่ 160 ของซูเราะฮ์อัล-อันอาม  "مَنْ جَاءَ بِالْحَسَنَةِ فَلَهُ عَشْرُ أَمْثَالِهَا" (ผู้ใดที่นำความดีมา เขาก็จะได้รับสิบเท่าของความดีนั้น)   ที่มุสลิมผู้มีศรัทธาคนใดจะบิดเบือนความหมายเป็นอย่างอื่นตามอำเภอใจไม่ได้
ดังนั้น จากข้อความที่มีเพิ่มเติมมาในตอนท้ายของหะดีษข้างต้นจึงให้ความกระจ่างว่า คำกล่าวของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า .. "ผู้ใดถือศีลอดรอมะฏอนแล้ว หลังจากนั้น เขาติดตาม (คือถือศีลอดต่อจาก)มันอีก 6 วัน ก็ประหนึ่งเขาถือศีลอดทั้งปี" ... จึงเป็นเรื่องของคณิตศาสตร์พื้นฐานดีๆนี่เอง ...
ข้อเท็จจริงของความหมายของหะดีษบทนี้ จึงเป็นดังนี้ ...
ถือศีลอดเดือนรอมะฎอน 1 เดือน จะได้รับผลบุญ 10 เท่า หรือเท่ากับถือศีลอด 10 เดือน ...
ถือศีลอดเดือนเชาวาลอีก 6 วัน จะได้รับผลบุญ 10 เท่า หรือเท่ากับถือศีลอด 60 วัน .. หรือ 2 เดือน
เพราะฉะนั้น รวม "ผลบุญ" ของศีลอดรอมะฎอน 1 เดือน กับศีลอดเชาวาลอีก 6 วัน จึงมีค่าเท่ากับ 10 เดือนบวก 2 เดือน .. หรือเท่ากับ 12 เดือนหรือหนึ่งปีดังที่มีกล่าวไว้ในหะดีษ
นี่คือเป้าหมายของหะดีษในการกำหนดให้ถือศีลอดเดือนเชาวาล 6 วัน ..
.
ดังนั้น คำกล่าวของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า "ผู้ใดถือศีลอดเดือนรอมะฎอน ....." จึงหมายถึง "ถือศีลอดเดือนรอมะฎอนครบสมบูรณ์" ทั้งเดือน รวมกับการถือศีลอด 6 วันเดือนเชาวาลจึงจะมีผลเท่ากับถือศีลอดทั้งปีได้ ...
การ "ควบรวม" ระหว่างชดใช้ศีลอดรอมะฎอนที่ขาดกับศีลอดเดือนเชาวาล 6 วันเข้าด้วยกันตามนัยของหะดีษบทนี้จึงกระทำมิได้ เพราะเท่ากับเป็นการบิดเบือนความหมาย "สิบเท่า" ของหะดีษและอัล-กุรฺอานข้างต้นให้เปลี่ยนแปลงไปเป็น "ยี่สิบเท่า" ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามที่ใครๆก็ปฏิเสธไม่ได้ ...
ตัวอย่าง ...
สตรีผู้หนึ่ง ถือศีลอดเดือนรอมะฎอนเพียง 24 วัน นางก็จะได้รับผลบุญเท่ากับถือศีลอด 240 วัน หรือ 8 เดือน ..
.
อีก 6 วันที่ขาดไป หากนางเจตนาว่า จะชดใช้ศีลอดชดใช้เดือนรอมะฎอนควบรวมกับถือศีลอดสุนัต 6 วันเดือนเชาวาลด้วย...
การก็จะกลายเป็นว่า การถือศีลอด 6 วันในลักษณะ ทูอินวันตามการเนียตของนางนั้น นางจะต้องได้รับผลตอบแทนถึงวันละ "20 เท่า" เพื่อให้ได้รับผลบุญเท่ากับ 120 วันหรือ 4 เดือน แล้วนำไปรวมกับผลบุญรอมะฎอนอีก 8 เดือนที่นางถือไปแล้ว จึงจะได้รับผลบุญเท่ากับ 1 ปี ตามข้อคามในหะดีษบทข้างต้น ...
นี่คือการบิดเบือนความหมาย "สิบเท่า" ของหะดีษและอัล-กุรฺอานให้เป็น "ยี่สิบเท่า" ดังที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งไม่อนุญาตให้มุสลิมที่มีอีหม่านคนใดกระทำ ...
สรุปแล้ว หากผู้ใดประสงค์จะให้ได้รับผลบุญการถือศีลอดเท่ากับ 1 ปีดังคำกล่าวของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เขาก็ต้องถือศีลอดเดือนรอมะฎอน - หรือชดใช้ศีลอดเดือนรอมะฎอน - ให้ครบถ้วนเสียก่อน แล้วจึงจะถือศีลอด 6 วันเดือนเชาวาลทีหลัง ...
จะมาเนียต "ควบรวม" ทั้งชดใช้ศีลอดรอมะฎอนและศีลอดสุนัต 6 วันเดือนเชาวาลเข้าด้วยกันไม่ได้ ...
ผู้ที่กระทำดังนี้ หรือแนะนำให้ผู้อื่นกระทำดังนี้ ไม่กลัวข้อหา "บิดเบือนความหมายอัล-กุรฺอาน" และ "เอาเปรียบ" พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ชนิด "ได้คืบแล้วจะเอาศอก" บ้างหรือครับ ?? ...

วัลลอฮุ อะอฺลัม ...


ขอดุอาอ์เป็นภาษาไทยได้หรือไม่


ตอบโดย อ.ปราโมทย์  ศรีอุทัย

ถาม
อัสลามมูอาลัยกุ้มค่ะอาจารย์
หนูอยากถามว่าการดุอาร์หลังละหมาด ไม่ว่าจะเป็น ซุพฮี่ ดุฮรี่ อัสรี่ มัฆริบ อีซา หนูขอดุอาร์โดยการใช้ภาษาไทยได้หรือไม่ เพราะไม่สันทัดภาษาอาหรับ เกรงว่าออกเสียงไปความหมายจะเพี้ยนค่ะ แนะนำหน่อยนะคะ

ตอบ
วะอลัยกุมุสสลาม .. ดุอาที่จะขอต่อพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ไม่ว่าในวาระใด, หลังละหมาดใด แม้ว่าโดยหลักการ หากเป็นดุอาที่มีรายงานมาจากท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม (เรียกว่าดุอามะษูรอต) จะถือว่าดีที่สุด แต่ในทางปฏิบัติ ผู้ขอสามารถขอได้โดยใช้ภาษาไทยหรือภาษาอะไรก็ได้ที่เราใช้สนทนากันอยู่ แถมบางครั้ง ผมมองว่า เราคนไทย, พูดภาษาไทย การขอดุอาด้วยภาษาไทยจะตรงต่อจุดประสงค์และตรงเป้าที่เราต้องการที่สุด ดีกว่าขอด้วยภาษาอาหรับซึ่งอาจไม่ตรงต่อจุดประสงค์ที่เราต้องการขอก็ได้ .. วัลลอฮุ อะอฺลัมครับ .

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เมื่อละหมาดวิเตรแล้ว จะละหมาดตะฮัจญุดหลังจากนั้นได้อีกหรือไม่


ตอบโดย อ.ปราโมทย์  ศรีอุทัย

ถาม
อัสลามูอาลัยกุม ขอรบกวนอาจารย์อีกคำถามหนึ่งค่ะ
คือดิฉันอยากทราบว่า ละหมาดวิเตร เป็นละหมาดปิดท้ายละหมาดอื่นๆใช่หรือไม่ค่ะ ปกติดิฉันจะหมาดวิเตรหลังละหมาดสุนัตหลังละหมาดอีชา เพราะรู้ตัวเองไม่ตื่นตอนดึกมาละหมาดตะฮัจญุดอีก อยากทราบว่าหากคืนใดดิฉันตื่นขึ้นมา จะละหมาดตะฮัจญุดได้อึกหรือไม่ สำหรับเดือนรอมาฎอนจะละหมาดวิเตรหลังละหมาดตะรอเวียะ ภายหลังจากนั้นจะลุกขึ้นมาละหมาดตะฮัจญุดได้อีกหรือไม่ ญาซ่ากัลลอฮุฆัยร็อน..

ตอบ
วะอลัยกุมุสสลาม .. ใช่ครับ ท่านนบีย์มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมสั่งว่า .. จงให้ละหมาด "สุดท้าย" ของพวกท่านในกลางคืนเป็นละหมาดวิตรี่" .. แต่คำสั่งนี้มิใช่เป็นข้อบังคับ เพราะท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมทั้งเคยสั่งให้ทำละหมาดได้ 2 ร็อกอะฮ์ (ย้ำว่าแค่ 2 ร็อกอะฮ์) - และบางครั้ง - เคยปฏิบัติละหมาด 2 ร็อกอะฮ์ - แบบรวบรัด - หลังละหมาดวิตรี่แล้ว และผมก็ไม่เคยเจอหลักฐานว่าท่านนบีย์หรือเศาะหาบะฮ์ของท่านคนใดจะลุกขึ้นทำละหมาดตะฮัจญุดหลังละหมาดวิตรี่หรือหลังละหมาด 2 ร็อกอะฮ์นี้อีก เพราะฉะนั้น หากคุณจะปฏิบัติตามแบบอย่างหรือซุนนะฮ์ของท่านนบีย์ คุณก็สามารถทำได้แค่นี้ .. คือละหมาดได้อีก 2 ร็อกอะฮ์หลังละหมาดวิตรี่แล้ว ถ้าหากคุณจะทำละหมาดตะฮัจญุดหรือละหมาดอื่นใดอีกก็ต้องทำมากกว่าที่ท่านนบีย์สั่งอนุญาตไว้และคงต้องทำหลายร็อกอะฮ์ คุณก็ต้องละหมาดวิตรี่อีกครั้งเพื่อให้ละหมาดสุดท้ายเป็นละหมาดวิตรี่จริงๆ ก็จะกลายเป็นว่า คุณกระทำสิ่งที่ท่านนบีย์เคยห้ามไว้ คือ "ไม่มีละหมาดวิตรี 2 ครั้งในคืนเดียวกัน" วัลลอฮุอะอฺลัมครับ ..






ละหมาดสุนัตลัยละตุลก็อตมีแบบอย่างจากท่านนบีหรือไม่


ตอบ โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ถาม
อัสลามูอาลัยกุม อาจารย์ ขอรบกวนอาจารย์ตอบคำถามที่ดิฉันสงสัยต่อไปนี้ด้วยค่ะ 
คือคืนนี้ไปละหมาดตะรอเวียะที่มัสยิด ก่อนละหมาด มีโต๊ะครูขึ้นมาพูดคุยให้ผู้ที่จะทำการละหมาดฟัง ว่า
- หากรอมาฎอนใด มีการถือศิลอดวันแรกตรงกับวันอังคาร คืนลัยละตุลก็อต จะตรงกับคืนที่ 27 ของเดือนรอมฎอน จริงไหมค่ะ มีหลักฐานไหม
-ให้ละหมาดสุนัตลัยละตุลก็อต นับแต่คืนนี้ หลังละหมาดตะรอเวียะ โดยละหมาดลัยละตุลก็อต มี 4 ร็อกอะฮ์ โดยทั้ง 4 ร็อกอะฮ์ ให้อ่านกุลฮูวัลลอฮ์ ร็อกอะฮฺละสามรอบ โดยมีคำเนียต ว่า อุศอลลีซุนนะตันลัยละตุลก็อต ละหมาดนี้เป็นละหมาดตามซุนนะฮฺนบีหรือไม่ค่ะ และยังมีละหมาดเฉพาะคืนที่ 27 มี 10 ร็อกอะฮ์ แต่ละร็อกอะฮ์มีการอ่านกุลฮูวัลลอฮ์หลายรอบ ค่ะ

ตอบ
วะอลัยกุมุสสลาม .. ขอตอบแบบสั้นๆว่า ผม (และมั่นใจว่านักวิชาการคนอื่นๆด้วยทั้งอดีตและปัจจุบัน, ทั้งนักวิชาการสลัฟและนักวิชาการคอลัฟ) คงไม่เคยมีผู้ใดเจอ "หลักฐาน" จากหะดีษ ไม่ว่าหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์หรือหะดีษเฎาะอีฟของทั้งหมดที่คุณถามมาเลยครับ .. โดยเฉพาะข้อ 2 และข้อ 3 ผมมั่นใจว่า เป็นอุตริกรรมหรือบิดอะฮ์ในศาสนาแน่นอน (ปกติผมจะหลีกเลี่ยงจากการใช้คำว่าบิดอะฮ์ต่อการกระทำผู้ใดเท่าที่ผมสามารถจะหลีกเลี่ยงได้ แต่ในกรณีนี้ ผมมั่นใจครับว่าผมไม่พูดเกินเลยจากข้อเท็จจริงเลย) วัลลอฮุ อะอฺลัม



วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

นมาซอีดที่มุศ็อลลาดีหรือที่มัสยิดดี ? (ตอนที่ 1)


โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ความจริงปัญหานี้ไม่น่าจะเป็นปัญหาขัดแย้งเหมือนปัญหาอื่นๆ เพราะข้อเท็จจริงที่นักวิชาการแทบทั้งหมดยอมรับกันก็คือ การนมาซอีดในมุศ็อลลาเป็น "ซุนนะฮ์" หรือแบบอย่างที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมปฏิบัติเป็นประจำในทุกๆวันอีด ...
การปฏิบัติสิ่งใด "เป็นประจำ" ของท่าน - ในบางกรณี - นักวิชาบางท่านมองไกลถึงกับถือว่า เป็นเงื่อนไข "เศาะห์" อิบาดะฮ์นั้นไปก็มี ...
อย่างเช่นท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ (ขออัลลอฮ์โปรดเมตตาต่อท่านด้วย) มองว่า เงื่อนไขหนึ่งของการเศาะห์นมาซวันศุกร์ก็คือ ในท้องที่หนึ่งหรือเมืองหนึ่ง อนุญาตให้ทำนมาซวันศุกร์ในมัสยิดเดียวเท่านั้น .. ห้ามท้องที่นั้นทำนมาซวันศุกร์ในหลายๆมัสยิด ...
เหตุผลของท่านในเรื่องนี้ก็คือ เพราะในสมัยท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตัวท่านนบีย์เองและเศาะหาบะฮ์ของท่านจะทำนมาซวันศุกร์กัน "เป็นประจำ" ที่มัสยิดของท่านนบีย์แห่งเดียวเท่านั้น ..
ไม่เคยปรากฏแม้แต่ครั้งเดียวว่าท่านนบีย์และเศาะหาบะฮ์ของท่านจะทำนมาซวันศุกร์ในมัสยิดอื่นใดอีก ทั้งๆที่นครมะดีนะฮ์ขณะนั้นก็มีมัสยิดอยู่เป็นจำนวนมาก ...
ก็เหมือนกับการนมาซวันอีด ที่ไม่เคยปรากฏเช่นเดียวกันว่า ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และเศาะหาบะฮ์ของท่านจะทำนมาซอีดในมัสยิดใดๆแม้แต่ครั้งเดียว นอกจากจะกระทำกันในมุศ้อลลาเท่านั้น ..
อนึ่ง การที่มีรายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮ์ ร.ฎ. (บันทึกโดยท่านอัล-หากิม, ท่านอบูดาวูด, ท่านอิบนุมาญะฮ์ และท่านอัล-บัยฮะกีย์) กล่าวว่า .. ครั้งหนึ่งมีฝนตกในวันอีด ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงนำพวกเขา( เศาะหาบะฮ์)นมาซอีดกันในมัสยิด .. ข้อเท็จจริงก็คือ รายงานข้างต้นเป็นรายงานที่เฎาะอีฟ .. เพราะผู้บันทึกทั้งหมดข้างต้นได้รายงานหะดีษนี้มาจากท่านอีซา บินอับดุลอะอฺลา, จากท่านอุบัยดิลลาฮ์ อัต-ตัยมีย์ ซึ่งทั้งสองท่านนี้เป็นบุคคลมัจฮูล (ไม่เป็นที่รู้จัก) ...
หมายเหตุ
ท่านอิบนุหะญัรฺ ได้กล่าวในหนังสือ "ฟัตหุ้ลบารีย์" ว่า มุศ็อลลาในสมัยท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นลานโล่ง, อยู่ทางทิศตะวันออกห่างจากมัสยิดท่านนบีย์ประมาณ 1000 ศอกหรือ 250 วา (ใกล้กับกุบูรฺบะเกียะอฺในปัจจุบัน) ...
หลักฐานเรื่องการนมาซอีดเป็นประจำในมุศ็อลลาของท่านนบีย์ มีรายงานมามากมายทั้งในบุคอรีย์และมุสลิม, ทั้งในตำราหะดีษประเภทสุนัน และตำราหะดีษประเภทมุสนัด ด้วยสายรายงานจำนวนมาก ซึ่งในที่นี้ ผมจะนำเสนอตัวอย่างจากหลักฐานเหล่านั้นเพียง 2 หะดีษเพื่อกระชับเนื้อหาข้อเขียนนี้ คือ . ...
(1) ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. กล่าวว่า ...
كَانَ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَغْدُوْ اِلَى الْمُصَلَّى فِىْ يَوْمِ الْعِيْدَ، وَالْعَنَزَةُ تُحْمَلُ بَيْنَ يَدَيْهِ، فَإِذَا بَلَغَ الْمُصَلَّى نُصِبَتْ بَيْنَ يَدَيْهِ، فَيُصَلِّى إِلَيْهَا، وَذَلِكَ اَنَّ الْمُصَلَّى كَانَ فَضَاءً لَيْسَ فِيْهِ شَيْئٌ يُسْتَتَرُ بِهِ
"ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจะออกไปมุศ็อลลาตั้งแต่เช้าในวันอีด โดยมีผู้แบกหอกสั้นนำไปข้างหน้าท่าน เมื่อถึงมุศ็อลลาแล้ว มัน (หอกสั้น) ก็ถูกปักมันไว้ด้านหน้าของท่าน แล้วท่านก็จะนมาซโดยหันไปหามัน ทั้งนี้เนื่องจากมุศ็อลลาเป็นที่โล่ง ไม่มีสิ่งใดที่จะใช้กั้นเขต(ด้านหน้า .. คือใช้เป็นซุตเราะฮ์) ได้เลย" ...
(บันทึกโดยท่านบุคอรีย์, ท่านมุสลิม, ท่านอบูดาวูด, ท่านอัน-นซาอีย์, ท่านอิบนุมาญะฮ์ และท่านอื่นๆ .. สำนวนในที่นี้เป็นสำนวนของท่านอิบนุมาญะฮ์) ...
(2) ท่านอบูสะอีด อัล-คุดรีย์ ร.ฎ. กล่าวว่า ...
كَانَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَخْرُجُ يَوْمَ الْفِطْرِ وَاْلأَضْحَى اِلَى الْمُصَلَّى، فَأَوَّلُ شَيْئٍ يَبْدَأُ بِهِ الصَّلاَةُ، ثُمَّ يَنْصَرِفُ فَيَقُوْمُ مُقَابِلاً النَّاسَ، وَالنَّاسُ جُلُوْسٌ عَلَى صُفُوْفِهِمْ، فَيَعِظُهُمْ وَيُوْصِيْهِمْ .....
"ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจะออกไปมุศ็อลลาในวันอีดิ้ลฟิฏรี่และวันอีดิ้ลอัฎหาอ์เป็นประจำ ซึ่งสิ่งแรกสุดที่ท่านกระทำก็คือ การนมาซ(อีด) หลังจากนมาซเสร็จแล้ว ท่านก็ยืนขึ้นโดยหันมาเผชิญหน้ากับประชาชน ในขณะที่ประชาชนก็กำลังนั่งอยู่ในแถวของพวกเขา แล้วท่านก็จะ(อ่านคุฏบะฮ์ โดย)ตักเตือนและสั่งเสียพวกเขา ............................."
(บันทึกโดย ท่านบุคอรีย์, ท่านมุสลิม, ท่านอัน-นซาอีย์, ท่านอัล-บัยฮะกีย์ และท่านอื่นๆ) ...
สรุปแล้ว รายงานที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานที่นมาซอีดที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทำเป็นประจำก็คือ ที่มุศ็อลลาเท่านั้น ...
ไม่ปรากฏหลักฐานที่ถูกต้องแม้แต่บทเดียวว่า ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะเคยนมาซอีดในมัสยิดใด แม้กระทั่งในมัสยิดของท่านเอง ...
ที่กล่าวมานี้ มิได้หมายความว่า การนมาซอีดในมัสยิดจะใช้ไม่ได้ ...
แต่สงสัยว่า ผู้ที่ถือว่า นมาซอีดในมัสยิด "ดีกว่า" นมาซอีดในมุศ็อลลา เขามีมุมมองอย่างไรเท่านั้น ...
สิ่งที่ท่านนบีย์ "ไม่เคยทำ" เลย (คือนมาซอีดในมัสยิด ) จะดีกว่าสิ่งที่ท่านนบีย์ "ทำเป็นประจำ" (คือ นมาซอีดในมุศ็อลลา) ได้อย่างไร ???
ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์เองไม่เคยมองว่า นมาซอีดในมัสยิด จะดีกว่านมาซอีดในมุศ็อลลา
ท่านเพียงแต่ "อนุญาต" ให้นมาซอีดในมัสยิดได้ถ้าตรงกับ "เงื่อนไข" ของท่าน ดังจะได้กล่าวต่อไป ...


นมาซอีดที่มุศ็อลลาดีหรือที่มัสยิดดี ? (ตอนที่ 2)






โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

บรรดานักวิชาการต่างเห็นพ้องกันว่า หะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์จำนวนมากที่รายงานมาเกี่ยวกับการนมาซอีดในมุศ็อลลาของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นหลักฐานที่แสดงว่า การนมาซอีดในมุศ็อลลา เป็นสิ่งที่ชอบหรือเป็นซุนนะฮ์ ...

ตัวอย่างต่อไปนี้ ผมจะนำเสนอเฉพาะคำแปลและที่มาของข้อมูลอ้างอิงเท่านั้น แต่จะไม่เขียนตัวบทภาษาอาหรับลงไปด้วย เพื่อความกระชับเนื้อที่ของเฟสไม่ให้ยืดยาวเกินไป ดังนี้ ...

(1). ท่านอิบนุซิยาด ได้รายงานจากท่านอิหม่ามมาลิก บินอนัสซึ่งกล่าวว่า ...
"ซุนนะฮ์ (ในการนมาซอีด)ก็คือ การออกไปยังทุ่งโล่ง ยกเว้นชาวมักกะฮ์ที่นมาซอีดกันในมัสยิด (คือมัสยิดหะรอม)" ...
(จากชัรฺหุ้ลบุคอรีย์ ของท่านอัล-อัยนีย์ เล่มที่ 2 หน้า 281) ..
ยังมีรายงานมาอีกว่า ...
"การนมาซอีดทั้งสองในมัสยิด ตามมัษฮับอิหม่ามมาลิก ถือเป็นบิดอะฮ์, .. ยกเว้นถ้าฉุกเฉิน (เช่นฝนตก) ก็ไม่ถือว่าเป็นบิดอะฮ์" ...
(จากหนังสืออัล-มัดค็อล ของท่านอิบนุลหาจญ์ เล่มที่ 2 หน้า 283) ...

(2) ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ กล่าวว่า ...
"มีรายงานถึงมายังเราว่า แท้จริงท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะออกไปนมาซอีดที่มุศ็อลลาแห่งนครมะดีนะฮ์ และเช่นเดียวกัน ประชาชนหลังจากท่าน .. ยกเว้นมีอุปสรรคเช่นฝนตกและอื่นๆ, และในทำนองเดียวกัน ประชาชนแห่งเมืองทั้งหลายทั่วไปยกเว้นชาวมักกะฮ์ (ก็จะออกไปนมาซอีดกันที่ทุ่งโล่งหรือมุศ็อลลาของพวกเขาทั้งนั้น) ... "
(จากหนังสืออัล-อุมม์ ของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ เล่มที่ 1 หน้า 207) ...

(3) ท่านอัล-บัฆวีย์ กล่าวว่า ...
"ซุนนะฮ์ (ในนมาซอีด) ก็คือให้อิหม่ามออกไปนมาซอีดทั้งสอง(ที่มุศ็อลลาหรือที่โล่ง) ยกเว้นมีอุปสรรค (เช่นฝนตก) ...."
(จากหนังสือ ชัรฺหุซซุนนะฮ์ ของท่านอัล-บัฆวีย์ เล่มที่ 2 หน้า 599) ...

(4). ท่านอิบนุกุดามะฮ์ กล่าวว่า ...
"ตามซุนนะฮ์ก็คือ ให้นมาซอีดในมุศ็อลลา ........... และไม่มีรายงานมาเลยว่า ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจะเคยนมาซอีดในมัสยิดยกเว้นเมื่อมีอุปสรรคเท่านั้น" ...
(จากหนังสือ อัล-มุฆนีย์ของท่านอิบนุกุดามะฮ์ เล่มที่ 2 หน้า 229 - 230)

(5). ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ กล่าวว่า ...
"นี่ (หมายถึงหะดีษที่สองจากบทความเรื่องนี้ตอนแรกของผม) คือหลักฐานของผู้ที่กล่าวว่า ชอบให้ออกไปนมาซอีดที่มุศ็อลลา และการนมาซอีดที่มุศ็อลลาก็อัฟฎ็อล (คือประเสริฐ) กว่าการกระทำมันในมัสยิด และตามทัศนะนี้แหละ คือการปฏิบัติของประชาชนในส่วนใหญ่ของเมืองต่างๆ ......"
(จากหนังสือ ชัรฺหุมุสลิม ของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ เล่มที่ 3 ส่วนที่ 6 หน้า 177) ...

(6). ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์กล่าวว่า ...
"หะดีษบทนี้ (บทที่หนึ่งจากข้อเขียนตอนแรกของผม) ถูกอ้างเป็นหลักฐานว่า ชอบที่จะให้ออกไปนมาซอีดยังทะเลทราย (หมายถึงที่โล่ง) และแน่นอน การกระทำอย่างนี้จะประเสริฐกว่าการกระทำมันในมัสยิด เนื่องจากท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะปฏิบัติอย่างนี้ "เป็นประจำ" ทั้งๆที่มัสยิดของท่านก็(เป็นสถานที่)ประเสริฐอยู่แล้ว (แต่ท่านไม่เคยนมาซอีดในมัสยิดอันประเสริฐของท่านเลย)" ...
(จากหนังสือฟัตหุ้ลบารีย์ เล่มที่ 2 หน้า 450) ..
ฯลฯ ..

เหตุผล (มิใช่หลักฐาน) ของผู้ที่ส่งเสริมให้นมาซอีดที่มัสยิด
(1). ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ กล่าวว่า ...
"ไม่เคยมีรายงานมายังเราเลยว่า จะมีชาวสลัฟคนใด(แห่งนครมักกะฮ์)จะนมาซอีดนอกจากในมัสยิดของพวกเขา (คือมัสยิดหะรอม) เท่านั้น ฉันเข้าใจว่า - วัลลอฮุ อะอฺลัม - ที่เป็นดังนี้ก็เพราะ - (เหตุผลที่หนึ่ง) - มัสยิดหะรอมนั้น เป็นสถานที่ที่ประเสริฐที่สุดในดุนยานี้ พวกเขาจึงไม่ชอบที่จะทำนมาซใดๆยกเว้นในสถานที่แห่งนี้เท่าที่พวกเขาสามารถ ที่ฉัน(อิหม่ามชาฟิอีย์)กล่าวอย่างนี้มิใช่เพราะอื่นใดนอกจากเพราะ(ข้อเท็จจริง) มันเป็นอยู่อย่างนี้ .. และ - (เหตุผลที่สองก็คือ) - พวกเขา(ชาวมักกะฮ์) ก็ไม่มีที่โล่งใดๆกว้างขวางมากมายระหว่างตัวอาคารในนครมักกะฮ์ (นอกจากที่มัสยิดหะรอมแห่งเดียวเท่านั้น) ฉันจึงไม่เคยรับรู้ว่าพวกเขาจะทำนมาซอีดและนมาซขอฝนเลย นอกจากในมัสยิดหะรอมเท่านั้น " ....
(จากหนังสือ "อัล-อุมม์" เล่มที่ 1 หน้า 207) ....
ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์กล่าวต่อไปอีกว่า ...
"สมมุติถ้ามีการสร้างเมืองใด แล้วมัสยิดของชาวเมืองนั้น จุ (คือรองรับ) พวกเขาในวันอีดต่างๆ(ได้ทั้งหมด) ฉันก็เห็นว่า พวกเขาไม่(จำเป็น)ต้องออกไปจากมัสยิดนั้น(เพื่อไปนมาซอีดยังลานโล่ง) .. แต่หากมัน (มัสยิดของชาวเมืองนั้น) ไม่กว้างพอที่จะจุพวกเขา (ทั้งหมด) ฉันก็รังเกียจที่จะมีการทำนมาซ(อีด) กันในมัสยิดนั้น ......."
(จากหนังสือ "อัล-อุมม์" เล่มและหน้าเดียวกัน)

(2). ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ กล่าวว่า ...
"ทัศนะที่สอง ซึ่งเป็นทัศนะที่ถูกต้องที่สุดสำหรับพวกเขา (สานุศิษย์ของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์) ก็คือ (นมาซอีดใน)มัสยิดประเสริฐกว่า (นมาซอีดในที่โล่ง) ยกเว้นถ้ามัสยิดคับแคบ .. พวกเขากล่าวว่า สาเหตุที่ชาวมักกะฮ์นมาซอีดกันในมัสยิดหะรอม มิใช่อื่นใดนอกจากเพราะมันกว้าง .. และสาเหตุที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ออกไป(นมาซอีด)ที่มุศ็อลลา ก็มิใช่อื่นใดนอกจากเพราะมัสยิดของท่านคับแคบ ดังนั้น สิ่งนี้ย่อมแสดงว่า (การนมาซอีดใน)มัสยิด ย่อมประเสริฐกว่า(นมาซในที่โล่ง) ถ้ามัน(มัสยิด) กว้างขวางพอ" ...
(จากหนัง "ชัรฺหุมุสลิม" ของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ เล่มที่ 3 ส่วนที่ 6 หน้า 177)

สรุปแล้ว สาเหตุที่ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์อนุญาตให้นมาซอีดในมัสยิดได้ และท่านอิหม่ามนะวะวีย์มองว่า นมาซอีดในมัสยิด ดีกว่านมาซอีดในมุศ็อลลาหรือทุ่งโล่ง จึงขึ้นอยู่เหตุผล 2 ประการคือ ..

1. เพราะมัสยิด(หะรอม) เป็นสถานที่ที่ประเสริฐที่สุดในโลกนี้ ชาวมักกะฮ์จึงเลือกนมาซอีดกันในมัสยิดหะรอมเท่านั้น ...

2. เพราะความแคบของตัวมัสยิดท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ...

ข้อโต้แย้ง
1. ถ้าเหตุผลที่ชาวมักกะฮ์ เลือกนมาซอีดที่มัสยิดหะรอม เป็นเพราะมัสยิดหะรอมเป็นสถานที่ที่ประเสริฐที่สุดในโลก ก็เป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นเฉพาะชาวมักกะฮ์เท่านั้น ...
อนึ่ง มัสยิดแห่งอื่นทั้งโลก ย่อมไม่มีมัสยิดใดประเสริฐเท่ามัสยิดหะรอมอีก จึงนำมัสยิดเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกับมัสยิดหะรอมเพื่อจะทำนมาซอีดแทนมุศ็อลลาหรือลานโล่งไม่ได้ ...

2. เหตุผลเรื่องความกว้างหรือความแคบของมัสยิดคือตัวกำหนดสถานที่นมาซอีด .. ก็มีนักวิชาการหลายท่านกล่าวโต้แย้งไว้ดังนี้ ...

2/1. ท่านอัช-เชากานีย์ กล่าวว่า ...
"เหตุผลที่ว่า .. ความกว้างหรือความแคบของมัสยิดคือตัวกำหนดสถานที่นมาซอีด .. ถือเป็นมโนล้วนๆ ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะอ้างเป็นข้อผ่อนผันจากการปฏิบัติตามแบบอย่างท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมในการออกไปนมาซอีดยังทุ่งโล่งได้หลังจากที่ยอมรับความจริงกันแล้วว่า ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ปฏิบัติสิ่งนี้เป็นประจำ .. อนึ่งการอ้างหลักฐานเรื่องความกว้าง-ความแคบของมัสยิดมาเป็นเหตุผลการนมาซอีดในมัสยิด(หะรอมของชาวมักกะฮ์) ก็สามารถตอบได้ว่า .. อาจจะเป็นไปได้ว่า ที่(ชาวมักกะฮ์)ละทิ้งการออกไป(นมาซอีด)ยังทุ่งโล่ง ก็เพราะ "ความคับแคบ" ของที่ว่างในนครมักกะฮ์ (คือในนครมักกะฮ์ไม่มีทุ่งโล่งใดกว้างขวางพอสำหรับการนมาซอีดพวกเขา) มิใช่เพราะ "ความกว้าง" ของมัสยิด(หะรอม)ของพวกเขา" ...
(จากหนังสือ "นัยลุ้ลเอาฏอรฺ" ของท่านอัช-เชากานีย์ เล่มที่ 3 หน้า 248)

2/2. ท่านอิบนุนุกุดามะฮ์ กล่าวว่า ...
"(หลักฐานเรื่องซุนนะฮ์ให้นมาซอีดในมุศ็อลลา มิใช่ในมัสยิด ก็เพราะ) ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ออกไปนมาซอีดที่มุศ็อลลาโดยละทิ้งมัสยิดของท่าน และเช่นเดียวกัน บรรดาคอลีฟะฮ์ผู้ทรงคุณธรรมหลังจากท่าน (ก็ปฏิบัติอย่างนี้) .. ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะไม่ละทิ้งสิ่งที่ดีเลิศที่สุดที่อยู่ใกล้ตัว(หมายถึง "ถ้า" นมาซอีดในมัสยิดเป็นสิ่งดีเลิศ) ไปกระทำสิ่งที่ด้อยกว่าที่อยู่ไกลตัว (หมายถึงการออกไปนมาซอีดที่มุศ็อลลา) .. และท่านนบีย์ก็ไม่เคยกำหนดบทบัญญัติให้อุมมะฮ์ของท่านละทิ้งสิ่งที่ดีๆเลย .. และเนื่องจากพวกเราถูกสั่งให้ปฏิบัติตามท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และให้เลียนแบบฉบับของท่าน จึงเป็นไปไม่ได้ที่พวกเราจะถูกสั่งให้กระทำในสิ่งที่บกพร่อง (คือการนมาซอีดในมุศ็อลลา) ..........."

2/3. จากคำพูดของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ที่ว่า ...
"สมมุติถ้ามีการสร้างเมืองใด แล้วมัสยิดของชาวเมืองนั้น จุพวกเขาในวันอีดต่างๆ(ได้ทั้งหมด) ฉันก็เห็นว่า พวกเขาไม่(จำเป็น)ต้องออกไปจากมัสยิดนั้น(เพื่อไปนมาซอีดยังลานโล่ง) แต่หากมัน (มัสยิดของชาวเมืองนั้น) ไม่กว้างพอที่จะจุพวกเขา (ทั้งหมด) ฉันก็รังเกียจที่จะทำการนมาซ(อีด) กันในมัสยิดนั้น ......."
ท่านอะห์มัด มุหัมมัดชากิรฺ นักวิชาการหะดีษชาวอียิปต์ท่านหนึ่งจึงกล่าวว่า ...
"แท้จริง ท่าน(อิหม่ามชาฟิอีย์) ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า ท่านรังเกียจการนมาซอีดทั้งสองในมัสยิด หากมันไม่สามารถรองรับชาวเมือง(ทั้งหมด)ได้, บรรดาหะดีษที่ถูกต้องทั้งหมดเหล่านี้ และอื่นจากหะดีษเหล่านี้ และการกระทำอย่างต่อเนื่องมาในยุคแรก, ต่อมา ก็เป็นคำพูดของนักวิชาการต่างๆ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้แสดงว่า การนมาซอีดทั้งสองในปัจจุบันในมัสยิดต่างๆ เป็นบิดอะฮ์ !!! .. แม้กระทั่ง ตามคำพูดของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์เอง (ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้) เพราะแน่นอน ย่อมไม่มีมัสยิดใดในเมืองของพวกเรา ที่จะรองรับชาวเมืองทั้งหมดได้อยู่แล้ว " ...
(จากหนังสือ "อัศ - เศาะเหี๊ยะฮ์ อัล - ญาเมี๊ยะอฺ" ของท่านอะห์มัด มุหัมมัดชากิร เล่มที่ 2 หน้า 423) ...

2/4. ข้อนี้เป็นทัศนะส่วนตัวของผม คือ ..
ดังเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า บทบัญญัติเรื่องนมาซอีด มีขึ้นในปีที่ 2 แห่งฮิจญเราะฮ์ศักราช .. และอีดแรกที่ถูกบัญญัติก็คือ อีดิ้ลฟิฏรี่ ...
(จากหนังสือ "อิอานะฮ์ อัฏ-ฏอลิบีน" เล่มที่ 1 หน้า 261) ...
แสดงว่า ตั้งแต่เริ่มต้นมีบทบัญญัติเรื่องนี้จนสิ้นอายุขัยของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่านได้นมาซอีดทั้งหมด 9 ปีรวม 17 ครั้ง (ยกเว้นครั้งสุดท้ายที่ท่านไม่ได้นมาซอีด เพราะเดินทางไปทำหัจญ์) ...
และจากการสมมุติฐานตามความเข้าใจและการปฏิบัติในสมัยปัจจุบันที่ว่า นมาซอีดในมัสยิด - ไม่ว่ามัสยิดใด - ย่อมดีกว่าการนมาซอีดในมุศ็อลลาหรือลานโล่ง ...
ผมก็อยากจะขอถามว่า ...
มันจะกินกับปัญญาได้อย่างไรที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นำเศาะหาบะฮ์ของท่านกระทำสิ่งที่ "บกพร่องกว่า" อยู่ตั้ง 9 ปี ! .. ทั้งๆที่ท่านมีโอกาสจะแก้ไขความบกพร่องนี้ เพื่อไปกระทำสิ่งที่อัฟฎ็อลกว่าหรือประเสริฐกว่า ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งจาก 2 วิธีคือ ...

1. ขยายมัสยิดของท่านให้กว้างออกไปอีกเพื่อรองรับคนมานมาซอีดให้พอ หากมันคับแคบจริงอย่างที่อ้าง ...
เรื่องนี้ไม่เป็นเรื่องยากเลยสำหรับท่านหากจะกระทำ เพราะมัสยิดของท่าน, ในสมัยของท่าน ไม่มีการก่อสร้างที่ยุ่งยากซับซ้อนอะไรจนถึงกับเกิดความลำบากที่จะขยายออกไป ...
2. หากมัสยิดของท่านคับแคบ ไม่สามารถรองรับผู้มานมาซอีดทั้งหมดได้จริง ท่านก็สามารถกระจายพวกเขาให้ทำการนมาซอีดได้ในมัสยิดต่างๆซึ่งมีอยู่มากมายในนครมะดีนะฮ์ได้ .. ซึ่งมัสยิดต่างๆเหล่านั้น เช่นมัสยิดกุบาอ์ก็ดี, มัสยิดกิบละตัยน์ ก็ดี น่าจะมีความประเสริฐและสมควรทำนมาซอีดมากกว่ามัสยิดธรรมดาอื่นๆทั้งโลกด้วยซ้ำไป ...
การที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ปล่อยวาง ไม่เคยกระทำทั้ง 2 ประการนี้มาตลอดชีวิตของท่านทั้งๆที่ท่านสามารถทำได้ ย่อมแสดงว่า สถานที่นมาซอีดที่ดีที่สุดสำหรับมุสลิม ก็คือมุศ็อลลาหรือที่ลานโล่ง ไม่ใช่ในมัสยิดหลังใดทั้งสิ้น ...
และสุดท้ายนี้ ผมขอนำคำถามเดิมที่ผมกล่าวถามตั้งแต่ตอนต้น มาถามซ้ำอีกครั้ง คือ ...
การกระทำสิ่งที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม "ไม่เคยกระทำ" เลยตลอดชีวิต (คือนมาซอีดในมัสยิด ) จะดีกว่ากระทำเลียนแบบในสิ่งที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม "กระทำเป็นประจำ" (คือ นมาซอีดในมุศ็อลลา) ได้อย่างไร ??? ...

ใครก็ได้ กรุณาช่วยตอบคำถามข้อนี้ของผมด้วย ...
ขอบคุณครับ ..

......................

ถาม
อีหม่ามซาฟีอี ตั้งคำถามว่าทำไมนบีถึงไปละหมาดอีดที่มุสอลลา เพราะวันอีดนั้นบรรดาซอฮาบะทั้งหลายทั้งที่อยู่ต่างแดนและอยู่ตามหัวเมืองต่างๆจะกลับมาละหมาดกับนบี นบีถึงได้ออกไปที่มุศอลลา ไม่มีเหตุผลใดที่นบีละหมาดที่นั้น
อันนี้เป็นข้ออ้างตามที่นักวิชาการที่ละหมาดมัสยิดอ้างใว้ครับ. ช่วยอธิบายเพิ่มเติมด้วย

ตอบ โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย
ข้ออ้างนี้ ผมไม่เคยเจอว่าท่านอิหม่ามชาฟิอีย์เคยอ้างไว้ในหนังสืออะไรของท่าน หากผู้ใดที่อ้างข้อมูลนี้มาและไม่สามารถนำคำกล่าวของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ดังกล่าวนี้มาเสนอได้ ก็แสดงว่าเป็นการอ้างเอาเองโดยพลการของผู้ที่ชอบละหมาดอีดที่มัสยิดอันเป็นการป้ายเท็จให้ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ ส่วนเหตุผลจริงๆของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ที่อนุญาตให้นมาซอีดที่มัสยิดดังที่ท่านระบุไว้ในหนังสือ "อัล-อุมม์" ของท่าน ผมจะนำเสนอในตอนต่อไปครับ อินชาอัลลอฮ์ ...