อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

หลักฐาน ต้องการทำเมาลิด (ตอนที่ 3)


โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ดังนั้น การ “กำหนด” เอาวันที่ตรงกับวันเกิดของท่านนบีย์ เพื่อเป็นวันแสดงออกถึงความรักและให้เกียรติท่านเป็นพิเศษเฉพาะวัน, ทั้งๆที่ศาสนามิได้กำหนดให้มีการแสดงความรักท่านนบีย์เป็นพิเศษ “เฉพาะ” ในวันนี้เอาไว้, .. ( และตามปกติ ในวันที่อื่นจากวันนี้ เราเคยรักและให้เกียรติท่านด้วยการปฏิบัติตามซุนนะฮ์ของท่านบ้างหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ?) .. จึงน่าจะจัดเป็นเรื่อง “ต้องห้าม” หรืออย่างน้อยก็ไม่ถูกต้องตามหลักการ ในลักษณะเดียวกันกับตัวอย่างข้างต้นเหล่านั้น ...
ก็มาถึงประเด็นที่สอง คือ การให้ความสำคัญกับ “วันเกิด” ของท่านศาสดา และ “วิธีการ” แสดงออกถึงความรักท่านในวันคล้ายวันเกิดของท่านด้วยการทำพิธีเมาลิดนั้น เป็นบทบัญญัติและมีหลักฐานหรือไม่อย่างไร ? ....
สมมุติว่า ถ้าการให้ความสำคัญกับวันเกิดของท่านเป็นบทบัญญัติและมีหลักฐาน ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่า แล้ว “วิธีการ” ให้ความสำคัญกับวันเกิดของท่านนบีย์นั้น เคยมี “แบบอย่าง” จากซุนนะฮ์มาหรือไม่ ? ...
นี่คือ สิ่งที่เราจะต้องพิจารณาและใคร่ครวญด้วยใจเป็นธรรม ...
ถ้าปรากฏว่า เคยมีหลักฐานและแบบอย่างจากท่านนบีย์มาว่า ท่านเคยปฏิบัติอย่างไรเป็นพิเศษในการให้ความสำคัญและให้เกียรติกับวันที่ตรงกับวันเกิดของท่าน ก็แสดงว่า “ซุนนะฮ์” ที่เรา -- มุสลิมที่มีอีหม่าน – ทุกคนสมควรจะยึดถือและนำมาปฏิบัติในวันตรงกับวันเกิดของท่านนบีย์ก็คือ แบบอย่างดังที่ปรากฏเป็น “ซุนนะฮ์” จากหลักฐานนั้น ...
นี่คือ การกลับไปหา “ซุนนะฮ์” เมื่อเกิดความขัดแย้ง .. ตามที่พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงบัญชาไว้ ...
สำหรับหนังสือ “حسن المقصد فى عمل المولد” ของท่านอัส-สะยูฏีย์ ที่ผมกล่าวถึงข้างต้นนั้น นอกเหนือไปจากการอ้างเหตุผลที่สนับสนุนให้มีการทำเมาลิดเหมือนกับหนังสืออื่นๆในแนวเดียวกันนี้แล้ว ท่านยังได้รวบรวมทัศนะที่ “อิง” หลักวิชาการของนักวิชาการบางท่าน อาทิเช่น ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์, ท่านอบูอับดุลลาฮ์ อิบนุล หาจญ์, รวมทั้งทัศนะส่วนตัวของท่านเอง เป็นต้น มาสนับสนุนเรื่องการทำเมาลิด ซึ่งจากการสรุปเนื้อหาเชิงวิชาการทั้งหมดจากหนังสือดังกล่าว ก็พอจะได้ข้อสรุปว่า ....
1. การทำเมาลิด เป็นบิดอะฮ์หะสะนะฮ์ (การอุตริที่ดี) ...
2. การทำเมาลิด มี أَصْلٌ คือ ที่มาอันเป็นพื้นฐานหรือหลักฐานที่อ้างอิงได้ตามหลักการศาสนา ...
ต่อไปนี้คือรายละเอียดเกี่ยวกับ 2 ประเด็นข้างต้น ...
(1). การทำเมาลิด เป็นบิดอะฮ์ หะสะนะฮ์
ท่านอัส-สะยูฏีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัล-หาวีย์ ลิ้ล ฟะตาวีย์” เล่มที่ 1 หน้า 292 ในการตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องการทำเมาลิดว่า ...
وَالْجَوَابُ عِنْدِىْ : أَنَّ أَصْلَ عَمَلِ الْمَوْلِدِ الَّذِىْ هُوَ اجْتِمَاعُ النَّاسِ وَقِرَاءَةُ مَاتَيَسَّرَمِنَ الْقُرْآنِ وَرِوَايَةُ اْلأَخْبَارِالْوَارِدَةِ فِىْ مَبْدَأِ أَمْرِ النَّبِىِّ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَمَا وَقَعَ فِىْ مَوْلِدِهِ مِنَ اْلآيَاتِ، ثُمَّ يُمَدُّ لَهُمْ سِمَاطٌ يَأْكُلُوْنَهُ وَيَنْصَرِفُوْنَ مِنْ غَيْرِ زِيَادَةٍ عَلَى ذَلِكَ هُوَ مِنَ الْبِدَعِ الْحَسَنَةِ الَّتِىْ يُثَابُ عَلَيْهَا صَاحِبُهَا، لِمَا فِيْهِ مِنْ تَعْظِيْمِ قَدْرِ النَّبِىِّ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، وَإِظْهَارِ الْفَرَحِ وَاْلإسْتِبْشَارِ بِمَوْلِدِهِ الشَّرِيْفِ ...
“คำตอบตามทัศนะของฉันก็คือ : พื้นฐานของงานเมาลิด อันได้แก่การที่ประชาชนมาชุมนุมกัน, มีการอ่านอัล-กุรฺอ่าน, มีการอ่านชีวประวัติที่รายงานมาของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมและเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในวันถือกำเนิดของท่าน หลังจากนั้น ก็มีการเลี้ยงอาหารกันแล้วแยกย้ายกันกลับ โดยไม่มีอะไรเกินเลยไปกว่านั้น ถือว่า เป็นหนึ่งจากบิดอะฮ์ที่ดี ซึ่งผู้กระทำจะได้รับผลบุญ ทั้งนี้เพราะงานเมาลิดเป็นการยกย่องให้เกียรติต่อสถานภาพของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม และเป็นการแสดงออกถึงความปลาบปลื้มยินดีต่อวันเกิดของท่าน” ...
ท่านอบู ชามะฮ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ (มีชีวิตระหว่างปี ฮ.ศ. 599-665) ก็ได้กล่าวไว้ในหนังสือ اَلْبَاعِثُ عَلَى إِنْكَارِالْبِدَعِ وَالْحَوَادِثِ .. หน้า 95 ว่า การทำเมาลิดเป็นบิดอะฮ์หะสะนะฮ์ คล้ายๆกับคำพูดของท่านอัส-สะยูฏีย์ข้างต้น ซึ่งผู้ที่ไม่มีหนังสือของท่านอบู ชามะฮ์ ก็สามารถจะหาดูคำกล่าวของท่านได้จากหนังสือ “อิอานะฮ์ อัฏ-ฏอลิบีน” เล่มที่ 3 หน้า 364 ในตอนที่กล่าวถึงงานวะลีมะฮ์ ...
ข้อโต้แย้ง
คำกล่าวของท่านอัส-สะยูฏีย์และท่านอบู ชามะฮ์ที่ว่า “การทำเมาลิด เป็นบิดอะฮ์หะสะนะฮ์” ... ถ้าหากหมายถึงความหมายบิดอะฮ์ ตามหลักภาษา (بِدْعَةٌ لُغَوْيَّةٌ) ประเด็นนี้ คงไม่มีความขัดแย้งใดๆ เพราะเป็นความหมายที่ตรงต่อความเป็นจริงตามหลักภาษาที่ว่า การทำเมาลิดเป็น บิดอะฮ์ เนื่องจากมันเป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่งจะบังเกิดขึ้นหลังจากปี ฮ.ศ. 362 มาแล้ว, .. และที่เรียกว่า หะสะนะฮ์ (ดี) ก็เพราะมันเป็นเรื่องดีในความรู้สึกของผู้กระทำและบุคคลทั่วๆไป (แม้กระทั่งผมเอง) เนื่องจากเป็นการแสดงออกถึงความรักและให้เกียรติท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม , .. ซึ่งเมื่อรวมความแล้วจึงเรียกการทำเมาลิด ตามหลักภาษา ว่า เป็น “บิดอะฮ์หะสะนะฮ์” หรือ การริเริ่มกระทำสิ่งใหม่ที่ดี (ตามความรู้สึกของผู้กระทำและประชาชนทั่วๆไป) ...
แต่ถ้าความหมายของคำว่า “บิดอะฮ์ หะสะนะฮ์” ของท่านในที่นี้ หมายถึง “บิดอะฮ์ตามบทบัญญัติ” (بِدْعَةٌ شَرْعِيَّةٌ .. ซึ่งดูแนวโน้มก็น่าจะเป็นอย่างนี้ เพราะท่านกล่าวว่า ผู้ที่กระทำเมาลิดจะได้รับผลบุญตอบแทน) ... ประเด็นนี้ มิใช่เพียงผมเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย แต่นักวิชาการจำนวนมาก ก็ไม่เห็นด้วยเช่นเดียวกัน ...
ทั้งนี้ เพราะความเชื่อที่ว่า “มี บิดอะฮ์ หะสะนะฮ์ ในบทบัญญัติ” จะไปค้านและขัดแย้งกับหลายๆอย่างดังต่อไปนี้ ...
1. ค้านกับความหมายของ “บิดอะฮ์ ชัรฺอียะฮ์” หรือบิดอะฮ์ตามบทบัญญัติ ตามคำนิยามของนักวิชาการอุศูลุลฟิกฮ์ (ซึ่งผมยังไม่เคยเจอนักวิชาการท่านใดคัดค้านคำนิยามของบิดอะฮ์ที่จะถึงต่อไปว่า ไม่ถูกต้อง) ...
2. ค้านกับคำอธิบายความหมายบิดอะฮ์ของท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ และท่านอิบนุ หะญัรฺ อัล-ฮัยตะมีย์ สองนักวิชาการหะดีษและฟิกฮ์ซึ่งได้รับการยอมรับที่สุดแห่งมัษฮับชาฟิอีย์ ...
3. ค้านกับคำกล่าวของท่านอับดุลลอฮ์ บิน อุมัรฺ ร.ฎ.
4. ค้านกับหะดีษที่ถูกต้องของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ...
รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราวข้างต้น มีคำอธิบายดังต่อไปนี้ ...
(1). ความเชื่อที่ว่า “มีบิดอะฮ์หะสะนะฮ์หรือบิดอะฮ์ดีในบทบัญญัติ” ค้านกับคำนิยามและความหมายของ “บิดอะฮ์ตามบทบัญญัติ หรืออุตริกรรมอันเป็นเรื่องต้องห้าม” ที่นักวิชาการอุศูลุลฟิกฮ์ ได้กำหนดเอาไว้ว่า หมายถึง ...
مَاتَرَكَهُ رَسُوْلُ اللَّـهِ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ مَعَ قِيَامِ الْمُقْتَضِىْ وَانْتِفَاءِ الْمَانِعِ فَفِعْلُهُ بَعْدَهُ هُوَ الْبِدْعَةُ وَتَرْكُهُ هٌوَ السُّنَّةُ ...
“สิ่งใดก็ตามที่ท่านศาสดาไม่ได้กระทำ ทั้งๆที่ .. 1. มีประเด็นส่งเสริมแล้วว่าควรทำ (ตั้งแต่ในสมัยของท่านมาแล้ว), และ .. 2. ไม่มีอุปสรรคใดๆจะมาขัดขวางท่านจากการกระทำสิ่งนั้น ...
ดังนั้น การกระทำสิ่งนั้นในภายหลังถือว่า เป็นบิดอะฮ์, และการไม่กระทำสิ่งนั้น ก็คือซุนนะฮ์” ...
คำนิยามดังกล่าวนี้ ไม่ใช่นักวิชาการอุศูลุลฟิกฮ์นั่งเทียนเขียน ! แต่เป็นคำนิยามที่ได้ผ่านการกลั่นกรองและวิเคราะห์มาอย่างละเอียดในทุกแง่ทุกมุมจาก “เหตุการณ์จริง” ที่เคยเกิดขึ้นในสมัยของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม และสมัยเศาะหาบะฮ์ของท่าน ... ซึ่งถือว่าเป็นคำนิยามของคำว่า “บิดอะฮ์ ชัรฺอียะฮ์” หรือบิดอะฮ์ตามบทบัญญัติ ที่ตรงประเด็นที่สุด และได้รับการยอมรับมากที่สุด ...
ซึ่งเมื่อเราพิจารณาดูที่มาที่ไปของพิธีกรรมเมาลิดแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า จัดอยู่ในความหมายของ “บิดอะฮ์ตามบทบัญญัติ” ตามคำนิยามข้างต้นทุกประการ คือ เป็นสิ่งที่ท่านศาสดาหรือบรรดาเศาะหาบะฮ์ของท่าน --- หรือแม้แต่ตาบิอีน หรืออิหม่ามทั้งสี่ หรือประชาชนในยุคที่ท่านศาสดารับรองว่า เป็นยุคที่ดีเลิศที่สุด --- ไม่เคยกระทำ .. ทั้งๆที่มีประเด็นส่งเสริมเต็มเปี่ยม คือเป็นการแสดงออกถึงความรักและการให้เกียรติต่อท่านศาสดาซึ่งตรงกับความรู้สึกของมุสลิมที่มีอีหม่านทุกคน ... และก็ไม่มีอุปสรรคใดๆจะมาขัดขวางพวกท่านเหล่านั้นจากการจัดงานเฉลิมฉลองวันเกิดให้ท่านศาสดาด้วยในยุคนั้น ...
โดยนัยนี้ การไม่อุตริจัดงานเมาลิดขึ้นมา จึงถือว่า เป็นการปฏิบัติตามซุนนะฮ์, ส่วนผู้ที่อุตริจัดงานเมาลิด จึงเป็นผู้ทำบิดอะฮ์ เพราะไม่รักษากติกาของรัฐธรรมนูญ เอ๊ย, กติกาของความหมายบิดอะฮ์ตามบทบัญญัติ ที่นักวิชาการได้ร่างคำนิยามของมันขึ้นมาเอง .. (แหม ! พูดเหมือนท่านนายกทักษิณเปี๊ยบเลย) ...
เอาเถิด, ท่านศาสดาไม่ส่งเสริมหรือชี้แนะให้มีการจัดงานเมาลิดเฉลิมฉลองวันเกิดของท่าน เหตุผลข้อนี้ เราพอจะมองออก, แต่ หลังจากท่านสิ้นชีพไปแล้วและสมมุติว่า หากว่าการทำเมาลิด คือสิ่งดีที่ถูกท่านศาสดาปล่อยวางไว้เพราะมีอุปสรรค (คือความถ่อมตัวจึงไม่ส่งเสริมให้ใครจัดงานวันเกิดเพื่อท่าน)) .. เสมือนการที่ท่านต้องปล่อยวางการรวบรวมอัล-กุรฺอ่านเป็นเล่มเพราะมีอุปสรรค (คือ การประทานวะห์ยุยังไม่สิ้นสุดจนกว่าท่านจะสิ้นชีวิต) .. และท่านอบูบักรฺ ร.ฎ. ก็มาจัดการรวบรวมขึ้นหลังจากท่านตายไปแล้ว, .. หรือการที่ท่านต้องปล่อยวางการนมาซตะรอเวี๊ยะห์ในลักษณะญะมาอะฮ์ไว้ เพราะมีอุปสรรค (คือกลัวมันจะกลายเป็นฟัรฺฎู) .. จนท่านอุมัรฺ ร.ฎ. ต้องมารวมประชาชนให้นมาซญะมาอะฮ์ตะรอเวี๊ยะห์หลังจากการสิ้นชีวิตของท่าน เป็นต้น ..
ในเรื่องของการจัดงานเมาลิดเพื่อเฉลิมฉลองวันเกิดให้ท่านก็เช่นเดียวกัน ..
เมื่อท่านศาสดาตายไปแล้ว อุปสรรคขัดขวางการจัดงานเมาลิด (คือเกรงว่าความถ่อมตัวจะทำให้ท่านศาสดาขัดขวางมัน) ก็ย่อมหมดสิ้นตามไปด้วย ...
แล้วทำไม บรรดาเศาะหาบะฮ์ของท่าน, บรรดาตาบิอีน, หรือแม้กระทั่งบรรดาอิหม่ามทั้งสี่ท่านในยุคหลังๆ จึงไม่มีผู้ใดคิด “ริเริ่ม” การจัดงานเฉลิมฉลองวันเกิดให้ท่านศาสดา ... เหมือนดังที่ท่านอบู บัก ร.ฎ. ได้ริเริ่มรวบรวมอัล-กุรฺอ่านให้เป็นรูปเล่มที่สมบูรณ์ขึ้นมา, หรือดังที่ท่านอุมัรฺ อิบนุล ค็อฏฏอบ ร.ฎ. ได้รื้อฟื้นให้ประชาชนกลับมาทำนมาซตะรอเวี๊ยะฮ์ร่วมกันอีก หลังจากการสิ้นชีวิตของท่านศาสดา ? ...
นี่คือ ปริศนาที่เราจะต้องตีให้แตก ....
 ประชาชนในยุคที่ดีเลิศเหล่านั้น รักและให้เกียรติท่านศาสดาน้อยกว่าพวกเราอย่างนั้นหรือ ?
 พวกเขาจำวันเกิดท่านศาสดาไม่ได้ หรือไม่อยากจะให้เกียรติต่อวันเกิดของท่านเลยหรือ ?
 พวกเขามีภารกิจมากเกินไปจนไม่มีเวลา “แม้เพียงแค่วันเดียว” ที่จะสละมันเพื่อจะให้เกียรติท่านศาสดาในวันนั้นเชียวหรือ ?
 พวกเขาขี้เกียจที่จะจัดงานฉลองวันเกิดให้ท่านหรือ ?
 พวกเขายากจนและไม่มีทุนทรัพย์มากพอที่จัดงานฉลองวันเกิดของท่านอย่างพวกเราหรือ ?
.....ฯลฯ .....
(18)



หลักฐาน ต้องการทำเมาลิด (ตอนที่ 2)


โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย
สำหรับ “วิธีการ” แสดงความรักและให้เกียรติ “ตัว” ท่านศาสดาดังหลักฐานข้างต้นนั้น ตัวอย่างที่ดีที่สุดของสิ่งที่กล่าวมานี้ทั้งหมด ก็คือพฤติการณ์ของบรรดาเศาะหาบะฮ์ของท่านศาสดาเองในอดีต ...
การแสดงออกถึงความรักที่มีต่อ “ตัว” ท่านศาสดาตามแบบฉบับของบรรดาเศาะหาบะฮ์ก็คือ การปฏิบัติตามท่าน, เชื่อฟังท่าน, กระทำตามคำสั่งของท่าน, ละเว้นข้อห้ามของท่าน, ฟื้นฟูซุนนะฮ์ของท่านทั้งที่ลับและที่แจ้ง, เผยแผ่สารของท่าน, เสียสละเพื่อท่านและเพื่อสิ่งเหล่านี้ทั้งกาย วาจา และใจ, และหันกลับไปหา “ซุนนะฮ์” ของท่านเมื่อยามเกิดความขัดแย้งในระหว่างพวกเขา และต้องการจะยุติมัน... ซึ่งการกระทำสิ่งต่างๆดังกล่าวข้างต้นนี้ได้ พวกท่านจะปฏิบัติมัน เท่าที่พวกท่านสามารถและโอกาสอำนวยให้ โดยไม่ได้จำกัดเวลา, ไม่จำกัดสถานที่, และไม่ได้กำหนดรูปแบบใดๆขึ้นมาเองโดยพลการ ...
ส่วนวิธีการแสดงความรักหรือให้เกียรติท่านด้วยรูปแบบ “ประจบสอพลอ” ดังที่นิยมปฏิบัติกันในปัจจุบัน .. อย่างเช่น การยืนขึ้นเพื่อเป็นการให้เกียรติเมื่อเห็นท่าน ... ปรากฏว่า ในกรณีนี้ เป็นสิ่งที่ท่านศาสดารังเกียจจนบรรดาเศาะหาบะฮ์ “แหยง” และไม่กล้าปฏิบัติต่อท่าน ดังรายละเอียดที่ผมจะเขียนชี้แจงในตอนหลัง อินชาอัลลอฮ์
ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ว่าพวกเขาจะมีความรักในตัวท่านศาสดามากมายสักเพียงใดก็ตาม แต่ก็ไม่เคยปรากฏว่า จะมีเศาะหาบะฮ์ท่านใดแสดงออกถึงความรักและให้เกียรติท่าน ด้วยการจัดงานเฉลิมฉลองวันเกิดให้แก่ท่านเสียใหญ่โตอย่างที่เรียกกันว่า “การทำเมาลิด” เหมือนพวกเราบางคนในปัจจุบัน ...
ส่วนการให้ความสำคัญต่อ “วันเกิด” ของท่านศาสดา ด้วยการจัดงานเมาลิดหรือพิธีกรรมเฉลิมฉลองวันเกิดของท่าน, เมื่อพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า ทั้ง “เป้าหมาย” และ “วิธีการ” ของมัน แตกต่างกับ “เป้าหมาย” และ “วิธีการ” แสดงความรักใน “ตัว” ท่านดังที่กล่าวมาแล้ว ...
ทั้งนี้ เพราะการจัดงานเมาลิด ถือเป็นพิธีกรรม “ใหม่” ที่ถูกริเริ่มขึ้นมาหลังจากปี ฮ.ศ. 362, โดยมี “เป้าหมาย” เพื่อให้ความสำคัญและให้เกียรติกับ “วันเกิด” ของท่านนบีย์, .. แถมยังมี “วิธีการ” และ “รูปแบบ” การให้เกียรติเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะตัว ซึ่งเท่าที่เห็นทำกันมาก็คือหากมีการจัดกันที่บ้าน ก็จะมีการร่วมกันอ่านหนังสือ “บัรฺซันญีย์” หรือ “บุรฺดะฮ์” .. อันเป็นบทร้อยกรองบรรยายถึงชีวประวัติของท่าน .. และเมื่อถึงตอนที่กล่าวถึงการกำเนิดของท่านนบีย์ ทุกคนก็จะลุกขึ้นยืนพร้อมๆกัน นัยว่าเพื่อให้เกียรติท่าน (แถมบางคนยังเชื่อว่า ท่านนบีย์จะมาร่วมปรากฏตัวและสัมผัสมือกับพวกเขาในขณะนั้นด้วย หลายคนจึงยืนในลักษณะแบมือออกเพื่อรับการ “สัมผัสมือ” กับท่านนบีย์) ... และหลังจากการอ่านดุอาที่ถูกรัอยกรองขึ้นอย่างไพเราะเพราะพริ้งและยืดยาวจบลง ก็จะมีการร่วมรับประทานอาหารกันเป็นการส่งท้าย, ... แถมในบางท้องที่เมื่อเสร็จพิธีเมาลิดแล้ว ยังมีการแจก “จาด” คือของชำร่วยอันเป็นขนมต่างๆที่ถูกใส่ในหม้อหรือถังน้ำใบเล็กๆหุ้มด้วยกระดาษแก้วสวยงาม ให้ผู้มาร่วมงานเมาลิดได้ถือติดไม้ติดมือกลับไปฝากลูกหลานที่บ้านอีกต่างหาก ..
ต่อมา การทำเมาลิดด้วยวิธีการดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็ได้ขยายตัวออกไปในบางท้องที่ด้วยการจัดให้มีพิธีกรรมเมาลิดและอ่านหนังสือบัรฺซันญีย์ใน “ทุกๆงานเลี้ยง” ที่จัดขึ้น .. ไม่ใช่เฉพาะในวันเกิดท่านนบีย์เพียงอย่างเดียว แต่ยังแพร่ระบาดและครอบคลุมไปถึงงานแต่งงาน, การทำอะกีเกาะฮ์, การขึ้นบ้านใหม่ และไม่เว้นแม้แต่ในการทำบุญ (??) บ้านคนตาย โดยที่นอกจากจะไม่มีเสียงคัดค้านใดๆแล้ว ยังได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ท่านผู้รู้” ในท้องที่เป็นอย่างดีอีกด้วย ...
ที่กล่าวมานี้ คือรูปแบบการทำเมาลิด ที่จัดขึ้นในประเทศไทย, --- โดยเฉพาะในภาคใต้ --- เข้าใจว่า ในต่างประเทศ แม้แต่ประเทศอียิปต์อันเป็นต้นกำเนิดของงานเมาลิดเอง ก็คงจะไม่มีการอ่านหนังสือบัรฺซันญีย์, หรือการแจกจาด, หรือการเดิน “กิน” งานเมาลิดวันละ 4-5 บ้านหรือมากกว่านั้น .. อย่างในประเทศไทยแน่ๆ ...
การให้เกียรติและให้ความสำคัญกับ “วันเกิด” ของท่านนบีย์ด้วยวิธีการ ดังกล่าว ถือเป็นรูปแบบที่มุสลิมยุคแรกอันถือว่าเป็นยุคที่เลอเลิศที่สุด คือ ยุคของท่านศาสดาเอง, ยุคของเศาะหาบะฮ์, ยุคของตาบิอีน, ยุคของตาบิอิตตาบิอีน หรือยุคหลังจากนั้นมาอีกร่วมร้อยกว่าปี ไม่เคยมีใครรู้จัก “วิธีการ” แสดงความรักต่อตัวท่านนบีย์หรือต่อวันเกิดของท่านนบีย์ ในรูปแบบนี้มาก่อนเลย .. ด้วยมติเอกฉันท์ของนักวิชาการ ...
ด้วยเหตุนี้ จึงมิใช่เรื่องแปลกที่มีนักวิชาการจำนวนมากคัดค้านพิธีกรรมเมาลิดและมองว่า การทำเมาลิด ถือว่าเป็น “อุตริกรรม” หรือเป็น “บิดอะฮ์ที่ต้องห้าม” ..
การคัดค้านดังกล่าว มิใช่เพิ่งจะมีขึ้นในยุคหลังๆนี้เท่านั้น แต่ปรากฏว่ามีขึ้นตั้งแต่มีการริเริ่มพิธีกรรมเมาลิดในประเทศอียิปต์ยุคแรกด้วยซ้ำไป ... ดังที่ผู้เขียนประวัติงานเมาลิดแทบทุกท่าน ต่างก็ได้บันทึกเอาไว้ว่า พิธีกรรมเมาลิดในประเทศอียิปต์อันเป็นแหล่งกำเนิด ต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่หลายครั้ง กว่าผู้ที่นิยมในพิธีกรรมดังกล่าวนี้ จะพยายามอนุรักษ์มันไว้อย่างสุดความสามารถ แล้วสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันในที่สุด ...
หากจะมีการอ้างว่า ... งานเมาลิดที่จัดขึ้นมิใช่มีเป้าหมายเพื่อให้เกียรติวันเกิดของท่านศาสดาเป็นการเฉพาะหรอก แต่เป้าหมายจริงๆก็เพื่อเป็นการแสดงความรักและให้เกียรติตัวท่านศาสดานั่นแหละ .. เพียงแต่มา “กำหนด” จัดงานแสดงความรักขึ้นในวันที่ตรงกับวันเกิดของท่านเท่านั้น เพราะถือว่า วันเกิดของท่านเป็นวันที่มุสลิมทุกคนควรจะปลาบปลื้มยินดีในความโปรดปรานที่พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงให้ท่านศาสดาถือกำเนิดมาในวันนั้น .. และสิ่งที่มีการปฏิบัติกันในงานเมาลิด ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ศาสนาส่งเสริมทั้งสิ้น อาทิเช่น การเลี้ยงอาหาร, การอ่านหนังสือชีวประวัติของท่าน, การอ่านอัล-กุรฺอ่าน, การซิกรุ้ลลอฮ์ เป็นต้น ...
ก็ขอเรียนว่า ข้ออ้างดังกล่าวนี้แหละ จะยิ่ง “ตอกย้ำ” ความเป็น “บิดอะฮ์ตามบทบัญญัติ” อันเป็นเรื่องต้องห้ามของงานเมาลิดให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ...
จริงอยู่, ความรักและการให้เกียรติท่านนบีย์ เป็นสิ่งที่ดี และสิ่งที่มีการปฏิบัติกันในงานเมาลิดดังที่กล่าวมานั้นโดยหลักการทั่วไป ก็เป็นสิ่งที่ดีและเป็นเรื่องที่ศาสนาส่งเสริม แต่เราต้องไม่ลืมว่า สิ่ง “ดี” ใดๆที่จะถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ก็ต่อเมื่อเราปฏิบัติให้ถูกต้องตามกาลเทศะของมันด้วย ...
หากปฏิบัติให้ผิดกาลเทศะเมื่อไร สิ่ง “ดีๆ” ก็อาจจะกลายเป็น “สิ่งไม่ดี” ได้เช่นเดียวกัน ...
และดังได้กล่าวมาแล้วในหน้าที่ 6 ว่า การแสดงออกถึงความรักและการให้เกียรติท่านศาสดาตามแบบฉบับที่ถูกต้องของบรรดาเศาะหาบะฮ์นั้น หลักใหญ่ของมันก็คือ การ “ปฏิบัติตามและฟื้นฟูซุนนะฮ์ของท่าน” อย่างเคร่งครัดเท่าที่สามารถและโอกาสอำนวยให้ โดยพวกท่านจะไม่เคยไปกำหนดเวลา, กำหนดสถานที่, หรือกำหนดรูปแบบใดๆเพื่อแสดงความรักท่านศาสดาขึ้นมาเองโดยพลการอย่างพวกเราเลย ...
ท่านเช็คอะลีย์ มะห์ฟูศ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัล-อิบดาอฺ ฟี มะฎอรฺ อัล-อิบติดาอฺ” ของท่าน หน้าที่ 281 ว่า ...
فَإِنَّ السَّلَفَ الصَّالِحَ لَمْ يَكُنْ لَهُمْ عَادَةٌ بِتَخْصِيْصِ يَوْمٍ أَوْ لَيْلَةٍ بِالْعِبَادَاتِ إِلاَّ إِذَا ثَبَتَ ذَلِكَ عَنِ النَّبِىِّ عَلَيْهِ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمَ وَصَحَابَتِهِ الْكِرَامِ فَجَاءَ بَعْدَهُمْ هَؤُلاَءِ وَعَكَسُواالْحَالَ ....
“บรรดาบรรพชนผู้ทรงคุณธรรมยุคแรกๆนั้น ปกติแล้วพวกเขาจะไม่เคยไป “กำหนด” วันไหนหรือคืนไหนเพื่อทำอิบาดะฮ์ใดๆเป็นพิเศษเลย นอกจากจะมีหลักฐาน “กำหนด” ชัดเจนมาจากท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมหรือจากเศาะหาบะฮ์ผู้ทรงเกียรติของท่านเท่านั้น .. แล้วต่อมา ชนยุคหลังจากพวกท่านก็ได้มาเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ดังกล่าว (โดยการกำหนดวันเวลา, สถานที่ หรือรูปแบบในการทำอิบาดะฮ์หรือทำความดีใดๆกันเองโดยพลการ) ...
สรุปแล้ว การทำ “สิ่งดี” ตามหลักการศาสนา จึงตั้งอยู่บนพื้นฐาน 2 ประการคือ ...
1. ทำสิ่งดีนั้นให้ถูกกาลเทศะของมัน ...
2. อย่าไปกำหนดเวลา, สถานที่, หรือรูปแบบการทำความดีใดๆเอาเองโดยพลการ หากศาสนามิได้กำหนดสิ่งดังกล่าวเอาไว้ในการทำความดีนั้นๆ ...
หากขาดพื้นฐานประการใดประการหนึ่งจาก 2 ประการนี้ การกระทำสิ่งดีนั้นก็อาจจะส่ง “ผลลัพธ์” ในด้านตรงข้ามไปก็ได้ ....
ความจริง “ตัวอย่างเปรียบเทียบ” เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็เคยมีให้เห็นมากมาย ... แม้กระทั่งหลักฐานที่มาจากตัวท่านศาสดาเอง ...
ตัวอย่างเช่น ...
1. วันศุกร์ คือวันที่ประเสริฐที่สุดในรอบสัปดาห์, การถือศีลอด ก็เป็นอิบาดะฮ์ที่สำคัญและเป็นหนึ่งจากรุก่นอิสลามทั้งห้า ...
แต่ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม กลับ “ห้าม” จากการ “กำหนด” เอาวันศุกร์ โดยเฉพาะ เป็นวันถือศีลอด ? ...
การทำสิ่งดี .. ในเวลาที่ดี .. ทำไมจึงเป็นเรื่องต้องห้ามด้วย ? ...
2. การอ่านอัล-กุรฺอ่าน เป็นงานที่ดีที่สุด, การรุกั๊วะอฺและการสุญูดในการนมาซ ก็เป็นอิริยาบถที่ดีที่สุดในขณะนมาซ ...
แต่ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม กลับ “ห้าม” จากการอ่านอัล-กุรฺอ่าน ไม่ว่าซูเราะฮ์ใด .. ในขณะรุกั๊วะอฺและขณะสุญูด ? ...
การทำสิ่งดี .. ในเวลาที่ดี .. ในอิริยาบถที่ดี ทำไมจึงเป็นเรื่องต้องห้ามด้วย ? ...
3. มัสญิดทุกๆมัสญิดในโลกนี้ เป็นสถานที่ดีเลิศที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำอิบาดะฮ์ต่อพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. และการทำอิบาดะฮ์ก็เป็นเรื่องดีที่ไม่มีข้อขัดแย้ง ...
แต่ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม กลับ “ห้าม” เดินทางโดยมี “เป้าหมาย” เพื่อไปทำอิบาดะฮ์ในมัสญิดใดๆเป็นการเฉพาะ .. ยกเว้น 3 มัสญิด คือมัสญิดหะรอมที่มักกะฮ์, มัสญิดนะบะวีย์ที่มะดีนะฮ์, และมัสญิดอัล-อักซอที่เยรูซาเล็ม ? ...
การทำสิ่งดี คือไปนมาซในมัสญิด ทำไมจึงเป็นเรื่องต้องห้ามด้วย ? ...
4. การกล่าวสล่ามให้แก่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม เป็นบทบัญญัติที่มุสลิมทุกคนพึงปฏิบัติเสมอเท่าที่โอกาสจะอำนวยให้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ ..
แล้วเหตุใด ท่านอิบนุ อุมัรฺ ร.ฎ. จึงกล่าวห้ามปรามชายผู้หนึ่งที่กล่าวสล่ามให้แก่ท่านนบีย์ เพียงเพราะเขาไป “กำหนด” การให้สล่ามดังกล่าวร่วมกับการกล่าวสรรเสริญพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. หลังจากการจาม ...
ชายผู้นั้น มิได้ละทิ้งการกล่าว اَلْحَمْدُ لِلَّـهِ หลังจากการจามแต่อย่างใด เขาเพียงแต่เพิ่ม “สิ่งดี” คือ การกล่าวสล่ามให้แก่ท่านนบีย์เข้าไปด้วยเท่านั้น ...
การกล่าวสล่ามแก่ท่านนบีย์ เป็นสิ่งต้องห้ามด้วยหรือ ? ...
5. การร่วมกันกล่าว “ซิกรุ้ลลอฮ์” ในมัสญิดหรือในสถานที่เหมาะสมใดๆ เป็นสิ่งดีที่ท่านศาสดากล่าวสนับสนุน และท่านกล่าวรับรองว่า ผู้ที่ร่วมกันซิกรุ้ลลอฮ์ดังกล่าวจะได้รับความเมตตาจากพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ...
แต่ทำไม ท่านอิบนุ มัสอูด ร.ฎ. จึงได้กล่าว “ตำหนิ” และประณามกลุ่มชนที่ “ร่วมกัน” กล่าวซิกรุ้ลลอฮ์ในมัสญิดแห่งหนึ่ง ว่า เป็นพวกที่ทำอุตริกรรมของศาสนา ดังการบันทึกของท่าน อัด-ดาริมีย์ในหนังสือ “อัส-สุนัน” ของท่าน เล่มที่ 1 หน้า 79 หรือหะดีษที่ 204, ...
กลุ่มชนเหล่านั้น ทำผิดอะไรหรือในเมื่อสิ่งที่พวกเขากระทำก็เป็นสิ่งดี คือ การร่วมกันซิกรุลลอฮ์ในมัสญิด .. ตามที่ท่านนบีย์ส่งเสริมให้ทำ, เพียงแต่พวกเขาได้ “กำหนด” รูปแบบการซิกรุ้ลลอฮ์ของพวกเขาให้แตกต่างจากผู้อื่นไปบ้างเท่านั้น ? ...
ตัวอย่างต่างๆที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นว่า การทำ “สิ่งดี” ที่ศาสนาอนุญาตให้เราทำได้โดยทั่วๆไปนั้น ถ้าเรามา “กำหนด” เวลา, สถานที่, หรือรูปแบบการทำสิ่งดีเหล่านั้นเอาเองโดยพลการก็ดี, .. หรือทำสิ่งดีผิดกาลเทศะก็ดี ถือว่า เป็นเรื่องต้องห้ามหรืออย่างน้อยก็เป็นเรื่อง “ไม่สมควร” ในมุมมองของเศาะหาบะฮ์และบรรพชนยุคแรกของอิสลาม ...
(13)

หลักฐาน ต้องการทำเมาลิด (ตอนที่ 1)


โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย
นี่คือ ชื่อหนังสือที่ท่านอัส-สะยูฏีย์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 911) นักวิชาการผู้ได้ชื่อว่าเป็น “มุจญตะฮิด” ท่านสุดท้ายได้เขียนขึ้น เพื่อสนับสนุนแนวคิดการทำเมาลิดหรือพิธีกรรมเฉลิมฉลองวันคล้ายวันเกิดท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ว่าเป็นเรื่องดีงามควรปฏิบัติหรืออีกนัยหนึ่ง เป็น “บิดอะฮ์ หะสะนะฮ์” ...
หนังสือนี้ ถูกบรรจุอยู่ในเล่มที่ 1 หน้า 292-305 ของหนังสือชุดรวมเล่มการตอบปัญหาของท่านอัส-สะยูฏีย์ที่มีชื่อว่า “อัล-หาวีย์ ลิ้ล ฟะตาวีย์” ...
เช่นเดียวกันกับท่านเช็คมุหัมมัด บิน อะละวีย์ อัล-มักกีย์ นักวิชาการชาวอฺรับยุคหลังท่านหนึ่งที่ได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง มีความหนาประมาณ 40 หน้า, ในหนังสือเล่มนี้ ท่านเช็คมุหัมมัด บิน อะละวีย์ ได้อ้าง “เหตุผล” รวม 21 ประการเพื่อยืนยันว่า การจัดงานฉลองวันเกิดของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม เป็นสิ่งที่ชอบและควรปฏิบัติ ...
เช่นเดียวกับท่านหัจญีซิรอญุดดีน อับบาส แห่งอินโดนีเซีย ที่ได้เขียนหนังสือรวมเล่มชื่อ “มัสอะละฮ์ อูกามา” ซึ่งในหนังสือดังกล่าว ท่านหัจญีซิรอญุดดีน ก็ได้อ้าง “เหตุผล” มากมายหลายประการมาสนับสนุนการทำเมาลิด ซึ่งเราจะหาอ่านได้จากฉบับคำแปลที่ชื่อว่า “ข้อโต้แย้งปัญหาศาสนา” ของท่านอาจารย์อับดุลการีม วันแอเลาะ .. เล่มที่ 1 หน้า 98-125 ...
.....ฯลฯ .....
แต่, จากหนังสือที่ได้เอ่ยชื่อมาเหล่านี้ ที่ผมเห็นว่า “เข้าท่า” ที่สุด และเป็น “วิชาการ” ที่สุดก็คือ หนังสือ “حسن المقصد فى عمل المولد” ของท่านอัส-สะยูฏีย์ที่ผมระบุชื่อมาข้างต้น ...
ส่วนหนังสืออีก 2 เล่มที่เหลือ หรือหนังสืออื่นๆที่เขียนขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการทำเมาลิด ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องของการอ้าง “เหตุผล” (มิใช่หลักฐาน) มาสนับสนุนเรื่องนี้ .. ซึ่งแน่ละ, จะไปค้นหา “หลักฐาน” เรื่องการทำเมาลิดที่ไหนมาอ้างอิงได้ ?, .. ในเมื่อพิธีกรรมเมาลิดนี้ ถูกก่อกำเนิดขึ้นมาในประเทศอียิปต์ประมาณปี ฮ.ศ. 362 .. (คือหลังจากท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ตายไปแล้วตั้ง 352 ปี) .. โดยสุลฏอนอัล-มุอิซ ลิดีนิลลาฮ์ แห่งวงศ์ฟาฏิมียะฮ์ ซึ่งเป็น “กษัตริย์ชีอะฮ์” ที่ปกครองประเทศอียิปต์ในยุคนั้นเป็นผู้ริเริ่มขึ้นมา ด้วยเหตุผลที่นักประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า เพื่อ “หวังผลแห่งการปกครอง” .. อันเป็นเรื่องของการเมือง ...
สำหรับผู้ที่ประสงค์จะศึกษาหาความเข้าใจ --- ด้วยใจเป็นธรรม --- เกี่ยวกับเรื่องพิธีกรรมเมาลิดว่า เป็นเรื่องที่ควรปฏิบัติหรือไม่อย่างไร ? นั้น .. ก่อนอื่น ก็ให้ท่านลองถามตัวเองดูก่อนว่า เรื่องการจัดงานเมาลิดเพื่อเฉลิมฉลองวันเกิดของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ที่นิยมจัดกันเป็นพิเศษในประเทศไทยนั้น เป็นปัญหาขัดแย้ง ใช่หรือไม่ ? ...
ถ้าท่านตอบว่าใช่, ผมก็มองไม่เห็นประโยชน์ใดๆเลยที่ท่านจะไปยึดติดกับ “เหตุผล” อันมากมายที่ผู้เขียนหนังสือส่งเสริมให้ทำเมาลิดบางคน (หรือแทบจะทุกคน) อ้างขึ้นมา เพื่อสนับสนุนเรื่องการทำเมาลิด .. ตราบใดก็ตามที่ท่านผู้เขียนหนังสือเหล่านั้น ยังไม่สามารถหาสิ่งที่เรียกกันว่า “หลักฐาน”มายืนยันแนวคิดของตนได้ ...
ทั้งนี้ ก็เพราะในมุมตรงข้ามกับผู้ส่งเสริมการทำเมาลิด เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีนักวิชาการ --- ทั้งในอดีตและปัจจุบัน --- จำนวนมากที่คัดค้านเรื่องการทำเมาลิด ! และพวกเขาก็มี “เหตุผล” ของพวกเขา มาหักล้างเหตุผลของฝ่ายสนับสนุนได้เช่นเดียวกัน ...
การ “หักล้าง” กันด้วยเหตุและผล มิใช่เป็น “ทางออกที่ถูกต้อง” ของการแก้ไขปัญหาขัดแย้งตามหลักการและบทบัญญัติศาสนา ..ไม่ว่าในเรื่องการทำเมาลิดหรือเรื่องอะไรก็ตาม ...
ถ้าอย่างนั้น อะไรเล่าคือ “ทางออกที่ถูกต้องในเรื่องนี้ ? ...
แน่นอน, คำตอบก็คือ การกลับไปหากิตาบุลลอฮ์ และซุนนะฮ์ของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม --- ดังคำบัญชาของพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. --- คือสิ่งเดียวที่จะแก้ปัญหาขัดแย้งของศาสนาได้ สำหรับผู้ที่ “มีอีหม่านต่ออัลลออ์ และวันอาคิเราะฮ์” .. ดังคำกล่าวของพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. อีกเช่นกัน ...
ประวัติศาสตร์อิสลามเคยบันทึกไว้ (แม้จะด้วยสายรายงานที่ค่อนข้างอ่อน) ว่า เมื่อตอนที่ท่านศาสดาสิ้นชีพนั้น บรรดาเศาะหาบะฮ์ต่างก็ขัดแย้งกันในเรื่องสถานที่ฝังศพของท่าน, บางคนบอกว่า ให้นำท่านไปฝังที่นครมักกะฮ์, บางคนบอกว่า ให้ฝังท่านที่กุบูรฺบะเกี๊ยะอฺในนครมะดีนะฮ์ร่วมกับบรรดาเศาะหาบะฮ์ของท่าน, บางคนบอกว่า ให้นำท่านไปฝังที่บัยตุ้ลมักดิซที่นครเยรูซาเล็ม -- (จากหนังสือ “ตั๊วะห์ฟะตุ้ล อะห์วะซีย์” เล่มที่ 4 หน้า 98) -- โดยแต่ละฝ่ายต่างก็อ้าง “เหตุผล” ที่น่าเชื่อถือ มาสนับสนุนทัศนะของตนด้วยกันทั้งสิ้น ...
แน่ละ หากจะตัดสินข้อขัดแย้งในครั้งนั้นตาม “เหตุผล” ของแต่ละฝ่าย ก็ยากที่จะหาข้อยุติให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้ ...
จนกระทั่งเมื่อท่านอบูบักรฺ ร.ฎ. ได้อ้าง “ซุนนะฮ์” ในเรื่องนี้ .. อันได้แก่คำสั่งของท่านศาสดาเองที่ว่า ... مَاقُبِضَ نَبِىٌّ إِلاَّ دُفِنَ حَيْثُ يُقْبَضُ ... “ผู้เป็นนบีย์นั้น ตายที่ไหนให้ฝังที่นั่น” .. (ดังการบันทึกของท่านอัต-ติรฺมีซีย์ จากท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. หะดีษที่ 1018, และท่านอิบนุมาญะฮ์ จากท่านอิบนุ อับบาส ร.ฎ. หะดีษที่ 1628 ซึ่งสำนวนข้างต้นเป็นสำนวนจากการบันทึกของท่านอิบนุ มาญะฮ์) ข้อขัดแย้งต่างๆในเรื่องนี้จึงยุติลงด้วยดี เพราะ “ซุนนะฮ์” ของท่านนบีย์ ที่พวกเขา – บรรดาเศาะหาบะฮ์ – ต่างก็เคารพเทิดทูนและพร้อมที่จะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดตลอดเวลา ...
แล้วพวกเราล่ะ ! พร้อมที่จะปฏิบัติตามและยอมรับซุนนะฮ์เป็นตัวตัดสินปัญหาขัดแย้ง .. เหมือนบรรดาเศาะหาบะฮ์เหล่านั้นแล้วหรือยัง ? ...
ถ้าเราจะพิจารณาพฤติการณ์ของมุสลิมเราในส่วนที่เกี่ยวข้องกับท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม --- ในแง่ของการให้ความสำคัญ, ให้ความรัก, ให้เกียรติต่อท่าน --- ในทางปฏิบัติเท่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ก็จะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ ...
(1). การให้ให้ความสำคัญ, ความรัก, และให้เกียรติใน “ตัว” ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม, และ “วิธีการ” แสดงความรักและการให้เกียรติใน ตัวท่าน ...
(2). การให้ความสำคัญกับ “วันเกิด” .. และ “วิธีการ” แสดงการให้เกียรติวันเกิดของท่าน ...
ทั้ง 2 ประการนี้ ตามหลักการแล้วไม่เหมือนกัน, แต่คนส่วนใหญ่กลับมองเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” ...
สำหรับข้อแรก คือความรักใน “ตัว” ท่านนบีย์นั้น ข้อนี้ไม่มีความขัดแย้งใดๆไม่ว่าจากมุสลิมกลุ่มซุนหนี่, ชีอะฮ์, หรือกลุ่มไหนว่า เป็นเป็นบทบัญญัติที่จำเป็นสำหรับมุสลิมผู้มีอีหม่านทุกคน จะต้องรักและให้เกียรติในตัวท่าน, ใช่เพียงแต่แค่นั้น แต่จะต้องรักท่านให้มากกว่ารักตัวเอง, มากกว่ารักพ่อแม่หรือลูกๆของตัวเอง, และมากกว่ารักมนุษย์ทุกคนในโลกด้วยซ้ำไป ...
ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า ...
لاَيُؤْمِنُ أَحَدُكُمْ حَتَّى أَكُوْنَ أَحَبَّ إِلَيْهِ مِنْ وَالِدِهِ وَوَلَدِهِ وَالنَّاسِ أَجْمَعِيْنَ
“คนใดจากพวกท่านจะยังไม่ศรัทธา จนกว่าฉัน (หมายถึงท่านนบีย์) จะเป็นที่รักของเขายิ่งกว่าพ่อแม่ของเขา, ลูกๆของเขา, และยิ่งกว่ามนุษย์ทั้งมวล” ..
(บันทึกโดยท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 15, และท่านมุสลิม หะดีษที่ 70/44)
ประเด็นต่อมาก็คือ เมื่อเรารักท่านนบีย์แล้ว “วิธีการ” ที่จะแสดงออกถึงความรักและให้เกียรติในตัวท่านตามบทบัญญัติล่ะ เราจะต้องปฏิบัติอย่างไร ? ...
เรื่องนี้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงกำชับไว้ในอัล-กุรฺอ่านหลายต่อหลายโองการ อาทิเช่น ...
مَنْ يُّطِعِ الرَّسُوْلَ فَقَدْ أَطَاعَ اللَّـهَ
“ผู้ใดที่เคารพเชื่อฟังรอซู้ล แน่นอน เขาเคารพเชื่อฟังอัลลอฮ์ด้วย”
(จากซูเราะฮ์ อัน-นิซาอ์ อายะฮ์ที่ 80)
หรือจากโองการที่ว่า ...
وَمآ أَتَاكُمُ الرَّسُوْلُ فَخُذُوْهُ وَمَا نَهَاكُمْ عَنْهُ فَانْتَهُوْا
“และสิ่งใดที่รอซู้ลนำมาให้พวกสูเจ้า ก็จงรับไปปฏิบัติ, และสิ่งใดที่รอซู้ลห้ามพวกสูเจ้า ก็จงยุติ” ..
(จากซูเราะฮ์ อัล-หัชร์ โองการที่ 7)
หรือจากโองการที่ว่า ...
قُلْ إِنْ كُنْتُمْ تُحِبُّوْنَ اللَّـهَ فَاتَّبِعُوْنِىْ يُحْبِبْكُمُ اللَّـهُ وَيَغْفِرْلَكُمْ ذُنُوْبَكُمْ
“จงบอกเถิด (โอ้ มุหัมมัด) ว่า หากพวกสูเจ้ารักอัลลอฮ์ ก็จงปฏิบัติตามฉัน แล้วอัลลอฮ์ก็จะรักพวกสูเจ้า และพระองค์จะอภัยโทษแก่พวกสูเจ้า” ..
(จากซูเราะฮ์ อาลิ อิมรอน โองการที่ 30)
หรือจากโองการที่ว่า ...
فَلْيَحْذَرِالَّذِيْنَ يُخَالِفُوْنَ عَنْ أَمْرِهِ أَنْ تُصِيْبَهُمْ فِتْنَةٌ أَوْ يُصِيْبَهُمْ عَذَابٌ أَلِيْمٌ
“ดังนั้น บรรดาผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเขา (มุหัมมัด) พึงระวังเคราะห์ร้ายจะบังเกิดกับพวกเขา, หรือการลงโทษทัณฑ์อันเจ็บปวดจะประสบต่อพวกเขา” ...
(จากซูเราะฮ์ อัน-นูรฺ โองการที่ 63)
หรือจากโองการที่ว่า ...
فَإِنْ تَنَازَعْتُمْ فِىْ شَيْءٍ فَرُدُّوْهُ إِلَى اللَّـهِ وَالرَّسُوْلِ إِنْ كُنْتُمْ تُؤْمِنُوْنَ بِاللَّـهِ وَالْيَوْمِ اْلآخِرِ ذَلِكَ خَيْرٌ وَأَحْسَنُ تَأْوِيْلاً
“แล้วเมื่อพวกสูเจ้าขัดแย้งกันในสิ่งใด ดังนั้น จงนำมันกลับไปหาอัลลอฮ์ (คือคัมภีร์อัล-กุรฺอ่าน) และรอซู้ล (คือ ตัวท่านศาสดาเองหรือซุนนะฮ์ของท่าน) หากพวกสูเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์จริง, นั่นคือ สิ่งที่ดีที่สุด และเป็นการกลับ (คือทางออก)ที่ดีที่สุดด้วย” ...
(จากซูเราะฮ์ อัน-นิซาอ์ โองการที่ 59) ...
หรือจากหะดีษของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมเองที่กล่าวว่า ..
مَنْ يَعِشْ مِنْكُمْ فَسَيَرَى اخْتِلاَفاً كَثِيْرًا فعَلَيْكُمْ بِسُنَّتِىْ وَسُنَّةِ الْخُلَفَاءِ الرَّاشِدِيْنَ الْمَهْدِيِّيْنَ مِنْ بَعْدِىْ عَضُّوْا عَلَيْهَا بِالنَّوَاجِذِ ....
“พวกท่านคนใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ต่อไปเขาก็จะได้เห็นความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างมากมาย ดังนั้น หน้าที่ของพวกท่านก็คือ การปฏิบัติตามซุนนะฮ์ของฉัน, และซุนนะฮ์ของคอลีฟะฮ์ผู้ปราดเปรื่องและทรงคุณธรรมหลังจากฉัน, จงกัดมัน (ซุนนะฮ์ของฉันและซุนนะฮ์ของคอลีฟะฮ์ของฉัน) ให้แน่นด้วยฟันกราม ..... ”
มีไหม .. หลักฐานที่ว่า ให้เราปฏิบัติตามทัศนะของใครก็ได้เมื่อเกิดขัดแย้ง ? .. หลักฐานต่างๆเหล่านี้ ไม่ใช่หลักฐานเรื่องความรักและให้เกียรติ “วันเกิด” ท่านศาสดา แต่เป็นหลักฐานเรื่องความรักและการให้เกียรติ “ตัว” ท่านศาสดาเองโดยปราศจากข้อขัดแย้งจากนักวิชาการท่านใดทั้งสิ้น ...
..(8)