อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ให้นั่งอิฟติรอชในละหมาดประเภท 2 ร็อกอะฮ์



ตอบโดย อ.ปราโมทย์  ศรีอุทัย

ถาม

อัสลามูอาลัยกุม เห็นหน้าเฟสอาจารย์เงียบๆเหงาๆ เลยมาทักทายอาจารย์คงยุ่งเรื่องการสอนแน่เลย ไงทักแล้ว ก็ขอรบกวนอาจารย์หาหลักฐานการนั้งตะชะฮฺฮุดครั้งสุดท้าย กรณีที่ละหมาดนั้นมี 2 ร็อกอะฮ์ ที่ว่าให้นั่งแบบอิฟติรอชฺ พอมีหลักฐานไหม ค่ะ ดิฉันไม่เคยเจอหลักฐานเรื่องนี้เลย ค่ะ

ตอบ ...

วะอลัยกุมุสสลาม ...
ขออภัยที่ตอบมาช้าเพราะเป็นจริงอย่างที่คุณเข้าใจ คือผมไม่ค่อยมีเวลาว่าง หน้าเฟสของผมจึงเงียบเหงาไปนิด แต่อินชาอัลลอฮ์ ต่อไปผมจะพยายามหาเวลามาตอบคำถามให้มากขึ้น เพราะมีปัญหาที่ถูกถามเข้ามาเยอะแยะ - โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากศูนย์สถานี 2 หาดใหญ่ที่ผมไปบรรยายและตอบคำถามเป็นประจำทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน ...

จากคำถามของคุณ Mareeyah Si ข้างต้น ..
 ก่อนอื่นผมขอเรียนให้ทราบว่า เรื่อง "ลักษณะการนั่ง" ในตะชะฮ์ฮุดทั้ง 2 ของการละหมาดนั้น นักวิชาการมีทัศนะขัดแย้งกันเป็น 4 ทัศนะคือ ...
(1). ให้นั่งแบบอิฟติรอชในทั้ง 2 ตะชะฮ์ฮุด .. นี่คือทัศนะของท่านอิหม่ามอบูหะนีฟะฮ์ และสานุศิษย์ของท่าน ..
(2). ให้นั่งแบบตะวัรฺรุกในทั้ง 2 ตะชะฮ์ฮุด .. นี่คือทัศนะของท่านอิหม่ามมาลิก และสานุศิษย์ของท่าน ...
(3). ให้นั่งแบบตะวัรฺรุกในตะชะฮฺฮุดที่ "มีการให้สล่าม" .. (ไม่ว่าจะเป็นละหมาดประเภท 1 หรือ 2 หรือ 3 หรือ 4 ร็อกอะฮ์) .. แต่ให้นั่งแบบอิฟติรอชในการนั่งที่อื่นจากนี้
นี่คือทัศนะของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์และสานุศิษย์ของท่าน ...
(4). ให้นั่งแบบตะวัรฺรุกในการ "นั่งครั้งสุดท้าย" ก่อนให้สล่ามของทุกๆละหมาดที่ "มี 2 ตะชะฮ์ฮุด" .. แต่ให้นั่งแบบอิฟติรอชในการนั่งก่อนให้สล่ามของละหมาดที่ "มีตะชะฮ์ฮุดเดียว" .. (เช่นละหมาดซุบฮี่, ละหมาดวันศุกร์ เป็นต้น) ...
นี่คือทัศนะของท่านอิหม่ามอะห์มัด และสานุศิษย์ของท่าน ...
ผมจะไม่ขอออกความเห็นหรืออธิบายหลักฐานของทุกๆทัศนะที่ขัดแย้งกันเหล่านี้ .. แต่จะอธิบายเฉพาะทัศนะที่ผมตรวจสอบหลักฐานแล้ว เห็นว่ามี "น้ำหนักมากที่สุด" ในมุมมองของผม .. ซึ่งตรงกับคำถามของคุณ Mareeyah Si ข้างต้น ....

นั่นคือทัศนะที่ 4 !.. อันเป็นทัศนะของท่านอิหม่ามอะห์มัด อิบนุหัมบัล ......

หลักฐานของทัศนะนี้ ได้แก่หะดีษซึ่งท่านอัน-นซาอีย์ได้บันทึกในหนังสือ "อัส-สุนัน" ของท่าน - อันเป็นหะดีษที่ 1158 - โดยรายงานมาจากท่านมุหัมมัด บินอับดุลลอฮ์ บินยะซีด อัล-มุกรีย์, จากท่านซุฟยาน อัษ-เษารีย์, จากท่านอาศิม บินกุลัยบ์, จากบิดาของท่าน คือท่านกุลัยบ์ บินชิฮาบ, จากท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ. ที่กล่าวว่า ..


أَتَيْتُ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَرَأَيْتُهُ يَرْفَعُ يَدَيْهِ إِذَاافْتَتَحَ الصَّلاَةَ حَتَّى يُحَاذِىَ مَنْكِبَيْهِ وَإِذَاأَرَادَ أَنْ يَرْكَعَ، وَإِذَا جَلَسَ فِى الرَّكْعَتَيْنِ أَضْجَعَ الْيُسْرَى وَنَصَبَ الْيُمْنَى، وَوَضَعَ يَدَهُ الْيُمْنَى عَلَى فَخِذِهِ الْيُمْنَى وَنَصَبَ أُصْبُعَهُ لِلدُّعَاءِ، وَوَضَعَ يَدَهُ الْيُسْرَى عَلَى فَخِذِهِ الْيُسْرَى .....
"ฉันไปหาท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แล้วฉันก็เห็นท่านยกมือทั้งสองของท่านเสมอไหล่ทั้งสองของท่านเมื่อตอนเริ่มต้นละหมาดและตอนจะก้มรุกูอฺ .. และเมื่อท่านนั่งลงในร็อกอะฮ์ที่สอง ท่านก็จะตะแคงเท้าซ้ายและชันเท้าขวาขึ้น.. (คือนั่งแบบอิฟติรอช .. ดังสำนวนชัดเจนในบันทึกของท่านอบูดาวูด) .. และท่านจะวางมือขวาบนขาขวา และยกนิ้ว(ชี้)ขึ้นเพื่อดุอา(คืออ่านตะชะฮ์ฮุด) และวางมือซ้ายบนขาซ้ายของท่าน" ....

สายรายงานของหะดีษบทนี้ ถูกต้อง ...
นอกจากนี้ ท่านบิชรฺ บินอัล-มุฟัฎฎ็อล ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถืออย่างสูงยิ่งท่านหนึ่ง ยังได้รายงานหะดีษบทนี้ในลักษณะสอดคล้อง (مُتَابَعَةٌ ) กับท่านซุฟยาน อัษ-เษารีย์ .. โดยรายงานมาจาก จากท่านอาศิม บินกุลัยบ์, จากท่านกุลัยบ์ บินชิฮาบ, จากท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ. เช่นเดียวกัน ...
(จากสุนันอบีย์ดาวูด หะดีษที่ 726) ...

หะดีษที่ถูกต้องบทนี้เป็นหลักฐานที่ค่อนข้างชัดเจนว่า ละหมาดที่ท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ. รายงานว่า เห็นท่านศาสดานั่งอ่านตะชะฮ์ฮุดในลักษณะอิฟติรอชนั้น เป็นละหมาดประเภท 2 ร็อกอะฮ์ !!! ...
หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นละหมาดที่มีการนั่งตะชะฮ์ฮุดเพียงครั้งเดียว ..

มิใช่ละหมาดประเภท 2 ตะชะฮ์ฮุดที่ให้นั่งตะวัรฺรุกในตะชะฮ์ฮุดครั้งที่สอง ซึ่งไม่มีการกล่าวถึงเลยในหะดีษบทนี้ ..

ท่านอับดุลลอฮ์ บุตรชายของท่านอิหม่ามอะห์มัด อิบนุหัมบัล ได้กล่าวถามท่านอิหม่ามอะห์มัดผู้เป็นบิดาว่า ...

سَأَلْتُ أَبِىْ عَنِ التَّوَرُّكِ فِى الصَّلاَةِ ؟
"ฉันได้ถามบิดาของฉันเรื่องนั่งตะวัรฺรุกในละหมาด" ...

فَقَالَ : حَدِيْثُ أَبِىْ حُمَيْدٍ عَنِ النَّبِىِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَنَّهُ كَانَ يَتَوَرَّكُ فِى الرَّابِعَةِ

ท่านตอบว่า "หะดีษของท่านอบีย์หุมัยด์ ร.ฎ. (เรื่องนั่งตะวัรฺรุกในละหมาด) ที่รายงานจากท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม หมายถึงท่านนั่งตะวัรฺรุกในร็อกอะฮ์ที่สี่" ...

قُلْتُ لِأَبِىْ : فَفِى الْفَجْرِ، وَفِىْ صَلاَةِ الْجُمْعَةِ يَتَوَرَّكُ ؟

ฉันถามบิดาต่อไปอีกว่า .. "แล้วในละหมาดซุบฮี่, ละหมาดวันศุกร์ล่ะ จะต้องนั่งตะวัรฺรุกไหม ?" ...

قَالَ : لاَ يَتَوَرَّكُ فِى الْفَجْرِ وَلاَ فِى الْجُمْعَةِ، إِنَّهَا جَلْسَةٌ وَاحِدَةٌ

ท่านตอบว่า .. "ไม่ต้องนั่งตะวัรฺรุกในละหมาดซุบฮี่ และละหมาดวันศุกร์ (เพราะ) มันมีการนั่ง(ตะชะฮ์ฮุด)แค่ครั้งเดียว" ...,

قُلْتُ لِأَبِىْ : فَإِنَّ الشَّافِعِىَّ يَقُوْلُ : يَتَوَرَّكُ، لِأَنَّ التَّوَرُّكَ إِنَّمَا جُعِلَ مِنْ طُوْلِ الْقُعُوْدِ

ฉันถามบิดาต่อไปว่า . "แล้วที่ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์กล่าวว่า .. ให้นั่งตะวัรฺรุก(ในละหมาดซุบฮี่และละหมาดวันศุกร์)ด้วย เพราะการนั่งตะวัรฺรุก ถูกกำหนดเนื่องจากการนั่งนานเท่านั้น"


قَالَ أَبِىْ : لَيْسَ هُوَ عِنْدِىْ كَذَا، لاَ يَتَوَرَّكُ الرَّجُلُ إِلاَّ فِى الصَّلاَةِ الَّتِىْ يَجْلِسُ فِيْهَا جَلْسَتَيْنِ، وَالْعِشَاءُ يَتَوَرَّكُ أَيْضًا فِيْهَا، لِأَنَّهُ يِجْلِسُ فِيْهَا جَلْسَتَيْنِ وَهُوَ الَّذِىْ أَخْتَارُ

ท่านตอบว่า .. "สำหรับฉันมิใช่เช่นนั้น คนใดอย่านั่งตะวัรฺรุก .. เว้นแต่ในละหมาดซึ่งมีการนั่ง(ตะชะฮ์ฮุด) 2 ครั้ง ละหมาดอิชาอ์ก็ให้เขานั่งตะวัรฺรุกได้ เพราะมันมีการนั่ง 2 ครั้ง นั่นคือสิ่งที่ฉันเลือก" ...
(จากหนังสือ "มะซาอิลุ้ลอิมาม อะห์มัด อิบนิหัมบัล" จากริวายะฮ์(การรายงาน)ของท่านอับดุลลอฮ์ บุตรชายของท่าน หน้า 80) ...

หมายเหตุ
หะดีษของท่านอบีย์หุมัยด์ อัซ-ซาอิดีย์ ร.ฎ. ที่ท่านอิหม่ามอะห์มัดกล่าวถึง เป็นข้อความบางตอนในหะดีษบทหนึ่งจากการบันทึกของท่านบุคอรีย์ในหนังสือ "ญุซอุ้ลกิรออะฮ์" และท่านอบูดาวูดที่ว่า ..

حَتَّى إِذَا كَانَتِ السَّجْدَةُ الَّتِىْ فِيْهَا التَّسْلِيْمُ أَخَّرَ رِجْلَهُ الْيُسْرَى وَقَعَدَ مُتَوَرِّكًا عَلَى شِقِّهِ الْأَيْسَرِ

"จนกระทั่งเมื่อถึงซัจญดะฮ์(คือการนั่งตะชะฮ์ฮุด)ที่มี "การให้สล่ามในการนั่งนั้น" ท่านนบีย์ก็สอดเท้าซ้ายรองใต้แข้งขวาของท่าน และนั่ง(วางสะโพกบนพื้น)ในลักษณะเอนไปทางซีกซ้ายของท่าน (คือ นั่งแบบตะวัรฺรุก)" ...

คำว่า "การนั่งตะชะฮ์ฮุดที่มีการให้สล่ามในการนั่งนั้น" .. นักวิชาการมัษฮับชาฟิอีย์อธิบายว่า หมายถึงการนั่งใน "ทุกๆตะชะฮ์ฮุดที่มีการให้สล่าม" .. ไม่ว่าจะเป็นการนั่งก่อนสล่ามในละหมาดประเภท 2 ร็อกอะฮ์, 3 ร็อกอะฮ์ หรือ 4 ร็อกอะฮ์ ก็ให้นั่งตะวัรฺรุกในการนั่งนั้นตามเนื้อหาตอนท้ายของหะดีษบทนี้ ...

แต่ท่านอิบนุ้ลก็อยยิม อัล-ญูซียะฮ์ ได้กล่าวอธิบายว่า ...

فَهَذَاالسِّيَاقُ ظَاهِرٌ فِى اخْتِصَاصِ هَذَاالْجُلُوْسِ بِالتَّشَهُّدِ الثَّانِىْ
"ถ้อยคำสำนวนนี้ ส่อว่า การนั่ง(ตะวัรฺรุก)นี้ เป็นเรื่องของ "การนั่งตะชะฮ์ฮุดที่สอง" โดยเฉพาะ" ..
(จากหนังสือ "ซาดุ้ลมะอาด" ของท่านอิบนุ้ลก็อยยิม เล่มที่ 1 หน้า 86) ..

คำกล่าวนี้ของท่านอิบนุ้ลก็อยยิมถือว่าถูกต้อง เพราะเมื่อไปตรวจสอบดูข้อความของหะดีษบทนี้ - ทั้งหมด - ปรากฏว่า การนั่งตะวัรฺรุกในหะดีษของท่านอบูหุมัยด์บทนี้ หมายถึง "การนั่งตะชะฮ์ฮุดครั้งที่ 2 ก่อนให้สล่าม" ของละหมาดประเภท 3 ร็อกอะฮ์หรือ 4 ร็อกอะฮ์ !!..

หลักฐานในเรื่องนี้ก็คือ ข้อความตอนกลางหะดีษนี้ มีกล่าวถึงการนั่งอิฟติรอชใน "การนั่งตะชะฮ์ฮุดครั้งแรก" ก่อนแล้ว - แล้วในหะดีษก็กล่าวต่อไปว่า ...

ثُمَّ إِذَا قَامَ مِنَ الرَّكْعَتَيْنِ كَبَّرَ وَرَفَعَ يَدَيْهِ حَتَّى يُحَاذِىَ بِهِمَا مَنْكِبَيْهِ، كَمَا كَبَّرَ عِنْدَ افْتِتَاحِ الصَّلاَةِ ثُمَّ يَصْنَعُ ذَلِكَ فِىْ بَقِيَّةِ صَلاَتِهِ حَتَّى إِذَا كَانَتِ السَّجْدَةُ الَّتِىْ فِيْهَا التَّسْلِيْمُ أَخَّرَ رِجْلَهُ الْيُسْرَى وَقَعَدَ مُتَوَرِّكًا عَلَى شِقِّهِ الْأَيْسَرِ

"ต่อจากนั้น ท่านก็ลุกขึ้นยืน "จากร็อกอะฮ์ที่สอง" (สู่ร็อกอะฮ์ต่อไป) .. โดยท่านกล่าวตักบีรฺ และยกมือทั้งสองของท่านจนเสมอกับบ่าทั้งสองของท่านเหมือนกับการตักบีรฺตอนเริ่มต้นละหมาด หลังจากนั้น ท่านก็กระทำอย่างนี้ในส่วนที่เหลือของการละหมาด จนกระทั่งเมื่อถึง "การนั่งตะชะฮ์ฮุดที่มีการให้สล่าม" ท่านก็สอดเท้าซ้ายรองใต้แข้งขวาของท่าน และนั่ง(วางสะโพกบนพื้น) ในลักษณะเอนไปทางซีกซ้ายของท่าน (คือ นั่งแบบตะวัรฺรุก) ...
(บันทึกโดยท่านบุคอรีย์ในหนังสือ "ญุซอุ้ลกิรออะฮ์" หน้า 5, และท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 730) ...

เพราะฉะนั้น สรุปแล้ว ในตะชะฮ์ฮุดของละหมาดประเภท 2 ร็อกอะฮ์ หรือละหมาดที่มีการนั่งตะชะฮ์ฮุดเพียงครั้งเดียว การนั่งแบบอิฟติรอชจึงมีน้ำหนัก - ด้านหลักฐาน - มากที่สุดในทัศนะของผม ...
วัลลอฮุ อะอฺลัม ...

อ. มะห์มูด (ปราโมทย์) ศรีอุทัย
3/2/2560



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น