....
โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย
ประมาณหลังเที่ยงคืนวันนี้ (4 มิถุนายน 2562) จนเกือบเช้า มีคนจำนวนมากโทรถามมาว่า จะให้ออกอีดตามจุฬาฯหรือจะตามซาอุฯดี ? ...
ผมตอบว่า เป็นสิทธิ์ของท่านที่จะเลือกตามใคร ...
แต่สำหรับผม ขอเลือกออกอีดตามคำประกาศของท่านจุฬาราชมนตรีครับ ...
สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ ไม่ได้เขียนเพื่อหักล้างความเชื่อของใคร และไม่ได้คัดค้านสิทธิ์ในการออกอีดตามซาอุฯของใคร ...
แต่เป็นเหตุผลส่วนตัวของผมที่ขอเลือกออกอีดตามประกาศของท่านจุฬาฯ (ซึ่งอาจแตกต่างกับเหตุผลของผู้ที่ออกอีดตามซาอุฯ) ...
เหตุผลที่ผมเลือกออกอีดตามประกาศสำนักจุฬาฯ ในวันพรุ่งนี้ มีดังนี้ ...
1. เพราะไม่เชื่อ “ข่าว” การเห็นเดือนภายในประเทศไทย ...
2. เพราะการออกอีดตามประกาศผู้นำมุสลิมในประเทศ (คือท่านจุฬาราชมนตรี) สอดคล้องกับหลักฐานจากหะดีษในทุกมิติ ...
รายละเอียดของทั้ง 2 กรณี มีดังต่อไปนี้ ...
(1). ผมไม่เชื่อ “ข่าว” การเห็นเดือนภายในประเทศไทยเมื่อคืน .. เช่นมีข่าวเห็นเดือนที่ภูเก็ต, ที่เชียงใหม่ และที่อื่นอีกบางแห่ง ...
เหตุผลที่ผมไม่เชื่อข่าวการเห็นเดือนในประเทศ เพราะ ...
ก. การอ้างเห็นเดือนเสี้ยวเมื่อคืน ขัดแย้งกับคำนวณดาราศาสตร์ “ทุกสำนัก” ในประเทศไทยที่รายงานตรงกันว่า เมื่อคืนประเทศไทยไม่สามารถเห็นเดือนเสี้ยวได้ ...
ข. เพราะข่าวการเห็นเดือนนั้น ขาดความน่าเชื่อถือตามหลักการ ...
ขออธิบายเพิ่มเติมนิดหนึ่งว่า .. เชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงได้ยินคำว่า “วันชักก์” (يوم الشك หรือวันแห่งความสงสัย) อันเป็นวันที่ท่านศาสดาห้ามถือศีลอด ...
คำถามคือ “วันชักก์” คือวันอะไร ? ...
นักวิชาการได้ให้คำนิยามของคำว่าวันชักก์ (يوم الشك ) แตกต่างกัน แต่ที่ผมเห็นว่าน่าจะใกล้เคียงต่อความถูกต้องที่สุดก็คือ คำนิยามในหนังสือ “الباجورى” อันเป็นตำราฟิกฮ์มัษฮับชาฟิอีย์ มีข้อความว่า ...
“วันชักก์ (يوم الشك) ก็คือ วันที่ 30 เดือนชะอฺบาน .. เมื่อในคืนนั้นไม่มีการ(แจ้งข่าว)เห็นเดือนเสี้ยว ทั้งๆที่อากาศโปร่ง แต่ประชาชนมาวิพากษ์วิจารณ์กันว่า มีการเห็นเดือนเสี้ยว” ...
(ดูหนังสือ “อัล-บาญูรีย์” เล่มที่ 1 หน้า 295) ...
อย่างเมื่อคืนที่ผ่านมา ได้ข่าวว่ามีผู้เห็นเดือนเสี้ยวที่ภูเก็ตบ้าง, ที่เชียงใหม่บ้าง, ที่จังหวัดอื่นๆบ้าง ...
ปัญหาก็คือ ผู้ที่อ้างว่าเห็นเดือนเสี้ยวนั้นคือใคร ?, เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง, เป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิม, เป็นผู้มีคุณธรรมพอที่จะเชื่อถือคำพูดของเขาหรือไม่ ?, และเขาไปแจ้งยืนยันการเห็นเดือนของเขาต่อประธานกรรมการจังหวัดที่ตนเองอยู่หรือไม่ ? ...
ข้อสงสัยดังกล่าวนี้ ไม่ปรากฏมีคำตอบหรือข้อยืนยันจากผู้ใดเลย ...
ปรากฏการณ์ “ข่าวลือ” ดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นในปลายเดือนรอมะฎอน จึงมีลักษณะคล้ายๆกับวันชักก์ของปลายเดือนชะอฺบานดังคำนิยามข้างต้น ..
คือไม่แน่นอน, ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือตามหลักการ ...
และนี่คือเหตุผลที่ผมไม่ยอมรับ “ข่าวลือ” เรื่องการเห็นเดือนเสี้ยวในประเทศเมื่อคืน ...
(2). เพราะผมถือว่า การออกอีดตามประกาศผู้นำมุสลิมในประเทศของเราเอง สอดคล้องกับหลักฐาน .. ทั้งจากหะดีษ, จากคำอธิบายของนักวิชาการหะดีษทั้งอดีตและปัจจุบันในทุกมิติ อาทิเช่น ...
1. ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองมดีนะฮ์ ปฏิเสธที่จะออกอีดตามการเห็นเดือนเสี้ยวของท่านมุอาวิยะฮ์ที่เมืองชาม ตามการเสนอแนะของท่านกุร็อยบ์ ...
นักวิชาการผู้บันทึกหะดีษกุร็อยบ์เกือบทั้งหมด ไม่ว่าท่านมุสลิม, ท่านอัน-นซาอีย์, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ เป็นต้น กล่าวสอดคล้องกันว่า หะดีษบทนี้คือหลักฐาน “อนุญาตให้แต่ละเมือง มีสิทธิ์ดูเดือนเสี้ยวของตนเองได้” ...
2. ท่านอัต-ติรฺมีซีย์กล่าวว่า .. มีการปฏิบัติกันตามหะดีษบทนี้(หะดีษกุร็อยบ์) สำหรับบรรดานักวิชาการ นั่นคือ สำหรับชาวเมืองใด ก็ให้พวกเขาดูเดือนของพวกเขาเอง (จบคำพูดของท่านอัต-ติรฺมีซีย์) ..
ท่านเจ้าของหนังสืออัล-มันฮัลฯ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า .. นี่คือ สิ่งที่เหมาะสมที่สุด เพราะประชาชนทุกๆกลุ่ม จะถูกสั่งให้เห็นเดือนเสี้ยวของพวกเขาเอง ดังนั้น ชาวอียิปต์ ก็ไม่จำเป็นต้องตามการเห็นเดือนของชาวมักกะฮ์, และชาวมอร็อคโค ก็ไม่จำเป็นต้องตามการเห็นเดือนของชาวอียิปต์ เป็นต้น” ..
3. ท่านมุสลิมกล่าวว่า .. “บทว่าด้วยการอธิบายว่า สำหรับแต่ละเมือง ก็ให้ชาวเมืองดูเดือน (เพื่อกำหนดวันถือศีลอดและวันออกอีด) ของตนเอง, .. และเมื่อพวกเขาเห็นเดือนเสี้ยว หุก่มการเห็นเดือนของพวกเขา (คือวาญิบถือศีลอดหรือวาญิบออกอีด) ก็จะเป็นที่กำหนดสำหรับเมืองอื่นที่อยู่ห่างไกลจากพวกเขาไม่ได้” ...
ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ (สิ้นชีวิตปีฮ.ศ. 676)ได้กล่าวในการอธิบายการตั้งชื่อบทหะดีษของท่านมุสลิมข้างต้นว่า ...
“ในบทนี้ มี (กล่าวถึง) หะดีษของท่านกุร็อยบ์, จากท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ..ซึ่งหะดีษบทนี้ ชัดเจนในการสื่อความหมายของการตั้งชื่อบท” ...
(จากหนังสือ “ชัรฺหุมุสลิม” ของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ เล่มที่ 7 หน้า 197)
4. ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “ฟัตหุ้ลบารีย์” เช่นกันว่า หะดีษกุร็อยบ์คือหลักฐานบ่งชี้เรื่องอนุญาตให้แต่ละเมือง มีสิทธิ์ดูเดือนเสี้ยวของตนเองได้ ...
5. ท่านอิบนุตัยมียะฮ์ ได้กล่าวในหนังสือ “มัจญมุอฺ อัล-ฟะตาวีย์” เล่มที่ 25 หน้า 114 ของท่าน มีความหมายว่า การถือศีลอดและการออกอีดตามผู้นำในประเทศของตนเอง เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับหลักฐานมากที่สุด ...
6. นักวิชาการระดับโลกในกลุ่มประเทศอาหรับยุคปัจจุบันทั้งหมด เช่นท่านเช็คบินบาส, ท่านเช็คอุษัยมีน, ท่านเช็คเฟาซาน, ท่านเช็คอัล-อัลบานีย์, ท่านเช็คมุนัจญิด เป็นต้น ให้คำฟัตวา “ตรงกัน” ว่า มุสลิมที่อยู่ในประเทศใด ให้ถือบวชและออกอีดตามผู้นำและพร้อมกับประชาชนในประเทศของตนเอง .. ไม่จำเป็นต้องไปตามการดูเดือนเสี้ยวของประเทศซาอุฯหรือประเทศอื่นใดทั้งสิ้น ...
7. พระดำรัสของพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ในเรื่องการถือศีลอดที่มีความหมายว่า .. “พระองค์อัลลอฮ์ทรงประสงค์จะให้เกิดความสะดวกแก่พวกเจ้า และพระองค์ไม่พึงประสงค์จะให้เกิดความยากลำบากแก่พวกเจ้า” ...
ผมมองว่า การที่เราได้รับข่าวการดูจันทร์เสี้ยว (ไม่ว่าจะเห็นหรือไม่เห็น) หลังจากพระอาทิตย์ตกดินไม่นาน นั่นคือ “ความสะดวก” ที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงมอบให้มุสลิมในการดูเดือน ...
ส่วนการนั่งถ่างตา คอยติดตามข่าวการดูเดือนจากประเทศนั้นประเทศนี้จากวิทยุหรืออินเตอร์เน็ตจนเลยเที่ยงคืนหรือเกือบรุ่ง - แถมสุดท้าย บางครั้งก็ไม่มีข่าวเห็นเดือนอีก - ผมว่า นั่นคือส่วนหนึ่งของ “ความยากลำบาก” ที่พระองค์อัลลอฮ์ไม่พึงประสงค์จะให้มีแก่พวกเราในการถือศีลอด .. ตามนัยยะของโองการข้างต้นนี้ ...
ส่วนกรณีของญุมฮูรฺหรือนักวิชาการส่วนใหญ่ทั้ง 3 มัษฮับ (ได้แก่มัษฮับหะนะฟีย์, มัษฮับมาลิกีย์ และมัษฮับหัมบะลีย์) นั้น ผมตรวจสอบดูแล้ว พบว่า สำหรับพวกท่านในเรื่องการดูเดือนเสี้ยว จะมี 2 ประเด็นด้วยกันคือ ...
1. ทัศนะ
2. เงื่อนไข
“ทัศนะ” ของญุมฮูรฺก็คือ ที่ใดในโลกนี้เห็นเดือนเสี้ยว ก็ให้ประเทศอื่นๆ – ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกล - จำเป็นจะต้องถือบวชออกบวชตามประเทศที่เห็นนั้น ...
ส่วน “เงื่อนไข” ของญุมฮูรฺเกี่ยวกับการตามการเห็นเดือนเสี้ยวของต่างประเทศก็คือ .. ต้องมีการแจ้งข่าวอย่าง “เป็นทางการ” (หมายถึงมีพยานที่มีคุณธรรม) จากประเทศที่เห็น มายังผู้นำประเทศที่ไม่เห็น และผู้นำอิสลามในประเทศที่ไม่เห็นยอมรับ แล้วประกาศให้ประชาชนในประเทศของตนปฏิบัติตาม ...
(ดูข้อมูลจากหนังสือ “ฟิกฮ์ 4 มัษฮับ” เล่มที่ 1 หน้า 500, หนังสือ “อัล-มันฮัลฯ” เล่มที่ 10 หน้า 51, และหนังสือ “อัล-ฟิกฮุ้ลอิสลามีย์” เล่มที่ 2 หนน้า 606) ...
แต่หากมีเพียงรับฟังการแจ้ง “ข่าว” (ไม่ว่าจากทางวิทยุ, อินเตอร์เน็ต หรือทางไหนก็ตาม) ว่า ประเทศนั้นประเทศนี้มีการเห็นเดือน ถือว่านั่นเป็นเพียง “ข่าว” ที่ไม่วายิบต้องปฏิบัติตาม ...
(ดูข้อมูลจากหนังสือ “อัล-ฟิกฮุ้ลอิสลามีย์” เล่มที่ 2 หนน้า 606) ...
สรุปว่า เรื่อง “ตามการเห็นเดือนต่างประเทศ” ตามทัศนะญุมฮูรฺนั้นไม่ใช่ปัญหา เพราะไม่มีนักวิชาการแม้แต่ท่านเดียวกล่าวว่าห้ามตามการเห็นเดือนต่างประเทศ ...
แต่ปัญหาก็คือ “วิธีการ” ตามการเห็นเดือนต่างประเทศนั้น ญุมฮูรฺกำหนดให้ตามการเห็นเดือนต่างประเทศอย่างไร ? ...
ตามได้ “โดยอิสระ” อย่างที่มีการปฏิบัติกันในประเทศไทย ? ..
หรือตามได้โดย “ต้องผ่านการยอมรับขององค์กรผู้นำอิสลามในประเทศของตนเอง” ? ...
คำตอบที่ถูกต้องก็คือ “ข้อหลัง” .. ดังข้อมูลที่ผ่านมาแล้ว ....
เพราะฉะนั้น การที่ผมไม่ตามการเห็นเดือนเสี้ยวจากต่างประเทศ ผมถือว่าผมทำถูกต้องตามเงื่อนไขของญุมฮูรฺแล้ว ...
เพราะที่ผ่านมาทุกครั้งและทุกปี เรื่องการเห็นเดือนจากต่างประเทศล้วนเป็นเพียง “ข่าว” จากอินเตอร์เน็ตเท่านั้น ...
ไม่เคยปรากฏมีผู้น่าเชื่อถือคนใดจากประเทศที่เห็นเดือนมาแจ้งข่าวการเห็นเดือนแก่ผู้นำมุสลิมของเราในประเทศไทย – ตามเงื่อนไขของญุมฮูรฺ - แม้แต่ครั้งเดียว ...
การที่ผมไม่ปฏิบัติตามการเห็นเดือนทางอินเตอร์เน็ต ไม่ใช่ผมไม่เชื่อข่าวการเห็นเดือนจากอินเตอร์เน็ต ..
เหมือนอย่างที่ท่านอิบนุอับบาสปฏิเสธข้อเสนอของท่านกุร็อยบ์ ก็มิใช่เพราะท่านไม่เชื่อคำบอกเล่าของท่านกุร็อยบ์เรื่องการเห็นเดือนของท่านมุอาวิยะฮ์ที่เมืองชาม ...
ท่านอิบนุอับบาส เชื่อคำบอกเล่าของท่านกุร็อยบ์สนิทใจครับ ..
แต่ท่านอิบนุอับบาสกล่าวว่า การที่ท่านไม่ทำตามข้อเสนอแนะของท่านกุร็อยบ์ เพราะ “ท่านปฏิบัติตามคำสั่งของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม” ...
และนี่จึงเป็นที่มาของวาทกรรมที่ว่า .. เรื่องการดูเดือน เป็นเรื่องประเทศใครประเทศมัน
ผมก็เห็นจะต้องกล่าวเช่นเดียวกันว่า ที่ผมไม่ตามข่าวการเห็นเดือนจากต่างประเทศทางอินเตอร์เน็ต เพราะผมปฏิบัติตามคำสั่งของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ได้สั่งท่านอิบนุอับบาสไว้ ......
สรุปแล้ว ไม่ว่าจะพิจารณาจากแง่มุมไหน ผมถือว่า การเริ่มถือบวชรอมะฎอนและออกอีดฟิฏรี่ตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี เป็นสิ่งที่มีน้ำหนักแห่งความถูกต้องและสอดคล้องกับหะดีษทุกบทที่มีรายงานมาเกี่ยวกับเรื่องนี้มากที่สุดครับ ...
ขอเรียนอีกครั้งว่า ข้อมูลทั้งหมดข้างต้นผมไม่ได้นั่งเทียนเขียน แต่ล้วนเอามาจากอูละมาอฺทั้งสิ้น และข้อเขียนข้างต้นก็เป็นเหตุผลส่วนตัวของผม .. ไม่ได้พาดพิงถึงใครและไม่ได้หักล้างทัศนะหรือความเชื่อของใครทั้งสิ้น โปรดเข้าใจตามนี้ด้วย ...
วัลลอฮุ อะอฺลัม …
ปราโมทย์ ศรีอุทัย
4/6/62