อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2560

การฝังศพผู้ตายมุสลิม ในพื้นที่น้ำท่วมขัง


ตอบโดย อ.ปราโมทย์  ศรีอุทัย

คำถาม

ช่วงนี้นำ้ท่วมมุสลิมถ้าตายแล้วเอาไปฝังที่ไหนค่ะมีที่ฝังหรือเพราะตายก้รีบฝังมิใช่หรืออยากรุ้ค่ะ

คำตอบ

ถามดีครับ .. ถูกต้องครับที่ว่ามุสลิมเมื่อตายก็ให้รีบฝัง ส่วนการฝังนั้น ก็ให้ทำ "เท่าที่สามารถ" จะทำได้ เพราะอิสลามไม่ได้บังคับให้มุสลิมต้องทำในสิ่งที่เกินความสามารถ เพราะฉะนั้น สมมุติว่าถ้ามุสลิมตายในเรือเดินทะเลลึก ก็ให้จัดการศพให้เรียบร้อยเหมือนตายบนฝั่งแล้วฝัง - คือโยน -ในทะเล เป็นต้น สำหรับกรณีที่มีอุทกภัยและในหมู่บ้านที่มีคนตายน้ำท่วมสุสาน (กุโบรฺ)จนฝังไม่ได้ ก็ให้ย้ายศพไปฝังที่หมู่บ้านใกล้เคียงซึ่งไม่มีน้ำท่วมขังครับ





การจับมือให้สลามภายหลังหลังละหมาดฟัรฎูเป็นบิดอะฮ์หรือไม่



ตอบโดย อ.ปราโมทย์  ศรีอุทัย

คำถาม

لسلام عليكم

อ.ครับ
 ไม่ทราบว่าการให้สลามกันหลังละหมาดฟัรดูเป็นบิดอะห์ป่าวครับเเบบทำเป็นอาจินอ่ะครับผมเคยได้ยินว่าการให้สลามกันให้ละหมาดฟัรดูเป็นประจำเป็นบิดอะฮ์?

คำตอบ

วะอลัยกุมุสสลาม .. ถ้ายังไม่ได้เจอและให้สล่ามกันก่อนละหมาด พอละหมาดเสร็จ .. มาเจอกันแล้วให้สล่ามและจับมือกัน ก็ไม่มีข้อขัดแย้งว่าเป็นที่อนุญาต แต่ถ้าเจอกันแล้วให้สล่ามและจับมือกันแล้วก่อนละหมาด พอละหมาดเสร็จก็ทำอีก ถ้าแค่ครั้งสองครั้งก็พอทำเนา แต่ถ้าทำเป็นประจำอย่างที่คุณถามมา อย่างนี้แหละที่นักวิชาการหลายท่านกล่าวว่าเป็นบิดอะฮ์ .. สำหรับผม ไม่ขอออกความเห็นในกรณีนี้ แต่อยากจะบอกเพียงว่า อย่าทำดีกว่าครับ ...





โต๊ะละไบ กินนูหรี

ตอบโดย อ.ปราโมทย์  ศรีอุทัย

คำถาม

อัสลามูอาลัยกุม อาจารย์ มีคำถามอีกแล้วค่ะ ดิฉันอยากรู้ทำความเข้าใจ กับคำศัพท์ นิยาม และหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติศาสนาว่าอย่างไร ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันตลอดมากับสังคมมุสลิมบ้านเรา แต่ดิฉันยังไม่ทราบความหมายที่แท้จริง
1) กินบุญ หรือนุหรี (ซึ่งมีความสำคัญกับสังคมมุสลิมบ้านเราเกือบทุกพิธี)
2) โต๊ะลาไบ หรือโต๊ะลาแบ (ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญมากในสังคมบ้านเราและเกี่ยวเนื่องกับกินนุหรี หากโต๊ะไบไม่มากินนุหรีไม่ได้)

คำตอบ


วะอลัยกุมุสสลามครับ คุณมารียะฮ์ .. ..
คำถามของคุณคราวนี้มาแปลก เพราะเป็นเรื่องของคำศัพท์ และคำนิยามของคำบางคำซึ่งหลายคน - รวมทั้งผมด้วย - คุ้นหูกันดี แม้จะไม่ใช่คำที่เป็นบทบัญญัติของศาสนาโดยตรง เพราะเป็นคำศัพท์ภาษาไทยบ้าง คำศัพท์ภาษามลายูบ้าง ซึ่งผมเองก็ไม่ค่อยจะสันทัดกับคำศัพท์เหล่านี้สักเท่าไร จึงขอตอบจากประสบการณ์ของตัวเองที่พอจะมีบ้าง แต่ไม่ยืนยันว่า มันจะถูกต้องนะครับ ...

(1). คำว่า "กินบุญ" เป็นคำสัพท์ภาษาไทย พจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 อธิบายว่า (ภาษาถิ่นอีสาน) เป็นคำกริยา หมายถึง กินเลี้ยงในงานทำบุญ .. เพราะฉะนั้น ตามความหมายดังกล่าวย่อมแสดงว่า การกินบุญจึงหมายถึงการกินเลี้ยงในงานต่างๆที่ผู้จัด "จะได้รับผลบุญ" จากการจัดงานเลี้ยงนั้น ซึ่งสำหรับชาวพุทธหรือศาสนาอื่นคงไม่มีปัญหาในเรื่องความเชื่อดังกล่าว ตราบใดที่พวกเขาเชื่อว่า การกระทำทุกๆอย่างที่เรียกว่า "ดี" - ตามความเข้าใจมนุษย์ -- ย่อมได้รับผลบุญทั้งสิ้น แต่สำหรับมุสลิมแล้ว เรื่อง "ผลบุญ" เป็นสิทธิเฉพาะของพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.เพียงพระองค์เดียว ที่กำหนดว่างานเลี้ยงในวาระอะไรบ้างจะได้รับผลบุญ ดังนั้นเราจะมากะเกณฑ์เอาเองว่า งานเลี้ยงอย่างนั้นอย่างนี้ที่เราคิดจัดขึ้นเอง แล้วเรียกงานนั้นว่าเป็นการทำบุญ - จึงเป็นเพียงความเข้าใจส่วนตัวของผู้จัดที่ไม่มีหลักฐานรองรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานเลี้ยงที่บ้านผู้ตายเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเพื่อส่งผลบุญให้แก่ผู้ตายและเรียกกันติดปากว่า "ทำบุญบ้านคนตาย" จึงไม่น่าจะตรงกับข้อเท็จจริง .. ตรงกันข้าม หากเรียกการกระทำดังกล่าวว่าเป็นการ "ทำบาปบ้านคนตาย" น่าจะถูกต้องกว่า เพราะนักวิชาการระดับโลกของทั้ง 4 มัษฮับกล่าวตรงกันว่า การที่ครอบครัวผู้ตายเป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงอาหารแล้วเชิญแขกมากินเลี้ยงนั้น เป็นบิดอะฮ์ที่น่ารังเกียจหรือเป็นบิดอะฮ์ที่ถูกประณาม จึงย่อมไม่มี "ผลบุญ" ใดๆที่จะส่งหรืออุทิศให้แก่ผู้ตายจากการจัดเลี้ยงดังกล่าวตามความเชื่อในเรื่องนี้ .. วัลลอฮุ อะอฺลัม ..

ส่วนคำว่า "นูหรี" เป็นคำศัพท์ภาษามลายูที่ชาวบ้านพูดกันติดปาก เพี้ยนมาจากคำศัพท์เต็มว่า كندورى (อ่านว่า กันดูรีย์) ..มีความหมายภาษาไทยว่า "งานเลี้ยงอาหาร" นั่นเองครับ ...

(2). ส่วนคำว่า โต๊ะละไบ (่تؤ لبى ชาวบ้านเรียกเพี้ยนเป็น โต๊ะละแบ) น่าจะหมายถึง ผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนศาสนาจนมีความรู้ "พอประมาณ" หรืออยู่ในขั้นดี.. คือ สามารถ "เป็นผู้นำ" ชาวบ้านอ่านดุอาในพิธีกรรมและงานบุญต่างๆได้ .. ถ้่าหากมีความรู้ระดับสูงกว่าโต๊ะละไบ คือเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆของอิสลามจนถึงขั้นเปิดปอเนาะสอนเด็กนักเรียน ก็จะเรียกว่าโต๊ะครู ครับ ...








วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2560

ลูกหนี้จะใช้หนี้ ภายหลังเจ้าหนี้เสียชีวิต เป็นเงินมรดกหรือไม่


ตอบโดย อ.ปราโมทย์  ศรีอุทัย

ถาม

อัสลามูอาลัยกุม
ลูกหนี้จะใช้หนี้ แต่เจ้าหนี้เสียชีวิตแล้ว(ชาย) คำถาม
1. เงินนี้เป็นมรดกไหม หรือคืนให้ภรรยาผู้เสียชีวิตเลย
2. ถ้าเป็นมรดก ต้องแบ่งยังไงครับ ผู้เสียชีวิตมี
- ภรรยา
- ลูกชาย 1 ลูกสาว 3 คน
- พี่ชาย และน้องชายผู้ตาย
ญาซากัลลอฮฺครับ


ตอบ

วะอลัยกุมุสสลาม .. ถ้าหนี้สินที่กู้ยืมมาเป็นเงินของผู้ตายโดยเฉพาะ เงินหนี้สินส่วนนี้ - ทั้งหมด - ก็เป็นมรดกที่จะต้องแบ่งกันระหว่างทายาทของผู้ตายครับ . แต่ถ้าเงินหนี้สินนี้เป็นเงินที่ผู้ตายและภรรยาทำงานร่วมกัน แล้วเราไปกู้ยืมมา ก็จะเป็นมรดกที่จะต้องแบ่งระหว่างทายาทเพียวครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของภรรยาเพราะเธอยังไม่ตายครับ หวังว่าคงเข้าใจ.
ส่วนมรดกของผู้ตายทั้งหมด ก็ให้แบ่งเป็น 8 ส่วน ภรรยารับไป 1 ส่วน .. อีก 7 ส่วนที่เหลือ ก็ให้แบ่งใหม่เป็น 5 ส่วน ลูกชายคนเดียวได้ไป 2 ส่วน ลูกสาวรับไปคนละ 1 ส่วน พี่ชายและน้องชายผู้ตายในกรณีนี้ไม่มีสิทธิ์รับมรดก เพราะถูกลูกชายผู้ตายกันสิทธิ์ครับ .. วัลลอฮุ อะอฺลัม ..


ถาม

อาจารย์ เรื่องนี้เผื่อเกิดกับครอบครัวของดิฉัน หากผู้ตายทำพินัยกรรมให้บุคคลอื่นหมดแล้ว ทายาทคนอื่นสามารถขอแบ่งมรดกที่ทำพินัยกรรมนั้นอีกได้หรือไม่ ในอิสลาม เจ้ามรดกจะเขียนพินัยกรรมห้ามทายาทคนใดรับมรดกได้หรือไม่ หากลูกเจ้ามรดกตายก่อน ลูกของลูกที่ตายจะรับมรดกแทนที่ได้ไหม และหากตามคำถามข้างต้นมีปู่ มีลุงด้วย ทั้งสองจะถูกกันสิทธิ์ด้วยหรือไม่ค่ะ

ตอบ

(1). พินัยกรรมจะมีผลไม่เกิน 1 ใน 3 ของมรดกผู้ตาย หลังจากจ่ายหนี้สินของผู้ตาย (ถ้ามี) เรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้น ทายาทผู้ตายยังมีส่วนแบ่งเหลืออยู่ อย่างน้อยก็ 2 ใน 3 ส่วนของมรดกครับ ใครก็ตาม จะทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ผู้อื่นทั้งหมดโดยไม่มีอะไรเหลือไว้ให้ทายาทเลยไม่ได้หรอกครับ .. ..

(2). เจ้ามรดกจะเขียนพินัยกรรมในลักษณะเป็นคุณหรือเป็นโทษกับทายาทคนใดไม่ได้ครับ และสมมุติถ้ามีเขียนสิ่งดังกล่าวลงไป ข้อความดังกล่าวนั้นถือเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับหรอกครับ ...

(3). หากลูก (หมายถึงลูกชาย ลูกสาวไม่เกี่ยว)ของ เจ้าของมรดกตายก่อน และเขาก็ไม่มีลูกชายอื่นๆเหลืออยู่ ลูกที่เกิดจากลูกชายของเขา(หรืออีกนัยหนึ่ง หลานของผู้ตายที่เกิดจากลูกชายของผู้ตาย) -ไม่ว่าหลานนั้นผู้ชายหรือผู้หญิง - ก็มีสิทธิ์ได้รับมรดก แทนที่และอัตราส่วนเหมือนกับลูกของผู้ตายทุกประการครับ (แต่เรื่องนี้ยังมีรายละเอียดอีกมากที่ผมไม่มีเวลาเขียนลง ณ ที่นี้ครับ) ...

(4). บุคคลเดียวที่จะกันสิทธิ์ปู่จากการรับมรดกก็คือ พ่อของผู้ตายเท่านั้น คนอื่นไม่ว่าใคร - แม้กระทั่งลูกชายผู้ตาย - ก็กันสิทธิ์ปู่ไม่ได้ อนึ่ง ลุงของผู้ตาย โอกาสรับมรดกมีน้อยครับ แม้จะไม่ถึงกับสิ้นหวังเสียทีเดียว เพราะในทางปฏิบัติจากประสบการณ์ที่ผ่านมา มีคนที่ "ใกล้ชิดทางสายเลือดกับผู้ตายกว่าเขา" คอยกันสิทธิ์เขาอยู่เยอะแยะครับ ...




การปฏิบัติตนหลังคลอดบุตร


ตอบโดย อาจารย์ปราโมทย์  ศรีอุทัย

ถาม

อัสลามูอาลัยกุม ค่ะ อาจารย์ ดิฉันขอถามเรื่อง การปฏิบัติตนหลังคลอดบุตร ในระหว่างนั้นจนถึงวันหมดเลือดหลังคลอดบุตร มีข้อห้ามและสิ่งที่ให้กระทำมีอะไรบ้าง เช่น มีการห้ามออกนอกบ้านหรือไม่ อ่านอัลกุรอานได้หรือไม่ เป็นต้น นอกจากนี้ดิฉันขอถามเรื่องการกำจัดหรือทำลายรกหลังคลอดและสายสะดื้อที่หลุดจากสะดือเด็กด้วยค่ะ

ตอบ

วะอลัยกุมุสสลาม ...
เรื่องการปฏิบัติตัวของสตรีหลังคลอดบุตร ส่วนใหญ่จะเน้นเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพของสตรีผู้นั้นเป็นหลักซึ่งเป็นเรื่องทางแพทย์ เรื่องนี้จึงควรจะถามแพทย์เป็นดีที่สุดครับ ส่วนในเรื่องของศาสนา หลักฐานเท่าที่ผมอ่านเจอก็คือ ในระหว่างสตรีมีประจำเดือนหรือมีนิฟาสอยู่นั้น ก็ห้ามนางนมาซ, ห้ามฎอว้าฟบัยตุ้ลลอฮ์, ห้ามถือศีลอด, ห้ามมีเพศสัมพันธ์หรือเล้าโลมกับสามี แต่ไม่ควร (ไม่ใช่ห้าม) อ่านอัล-กุรฺอ่าน ครับ ..
ส่วนเรื่องรกหรือสายสะดือที่หลุดจากตัวเด็ก ผมยังไม่เคยเจอหลักฐานที่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะเลยครับ เพราะฉะนั้น ที่เหมาะสมในกรณีนี้ก็คือ ควรนำไปฝังน่าจะดีที่สุดครับ วัลลอฮุ อะอฺลัม ...